Co-housing Space บ้านที่แชร์พื้นที่ร่วมกันกับธรรมชาติ
ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผา เรากำลังมุ่งหน้าไปทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย อุณหภูมิในรถเช่าไม่เย็นพอที่จะลดความอบอ้าวของสภาพอากาศด้านนอก หรืออาจเป็นใจของเราเองก็ได้ที่ร้อนขึ้นจากสภาพการจราจรเบื้องหน้า
หนึ่งชั่วโมงครึ่งผ่านไปกับระยะทางไม่ไกลนักจากย่านกลางเมือง เราเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ ผ่านประตูโครงการที่เหมือนประตูบ้านหลังใหญ่มากกว่าเป็นโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งเปิดให้เห็นต้นไม้ใหญ่ ดูคล้ายเป็นหมู่บ้านโมเดิร์นกลางป่า และช่วยเปลี่ยนความรู้สึกร้อนในใจให้เย็นลงได้แบบฉับพลัน
“Tanah Teduh” เป็นโครงการบ้านจัดสรรที่ทำให้เรานึกถึงบ้านแบบ Co-housing Space หรือกลุ่มสังคมขนาดเล็กที่ทุกบ้านรู้จักกัน มีพื้นที่หน้าบ้านหรือหลังบ้านร่วมกัน แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวไว้ได้ด้วยการออกแบบที่ดี บนพื้นที่กว่า 12 ไร่ซึ่งเดิมเป็นสวนผลไม้ เจ้าของโครงการพยายามเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ให้ได้มากที่สุด โดยใช้วิธีสร้างบ้านหลบต้นไม้ อาคารทุกหลังเน้นการออกแบบเปิดรับแสงธรรมชาติ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าและทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รู้สึกใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมสีเขียวให้มากที่สุด
แนวคิดดังกล่าวทำให้บ้าน 20 หลังในโครงการนี้มีพื้นที่ที่เปิดรับธรรมชาติและดูเป็นสัดส่วน แม้จะไม่มีรั้วกั้นบ้านแต่ละหลัง แต่ต้นไม้และการออกแบบสถาปัตยกรรมก็ช่วยให้เกิดความเป็นส่วนตัวได้ไม่ยาก โครงการนี้ออกแบบโดย 10 สถาปนิกระดับแนวหน้าของอินโดนีเซีย บ้านแต่ละหลังมีหน้าตาไม่เหมือนกัน ราวกับเป็นลายเซ็นที่สถาปนิกกำกับไว้ผ่านรายละเอียดงานออกแบบที่ปรากฏ
เราตั้งใจมาเยือนบ้านหลังหนึ่งที่ Mr. Andra Martin สถาปนิกผู้เป็นไดเร็กเตอร์ของโครงการนี้ออกแบบเอาไว้ แต่ต้องพบกับความผิดหวังเล็กน้อย เพราะเจ้าของยังไม่ได้มาอยู่บ้านหลังดังกล่าวจริงๆ ทว่า the show must go on เราเริ่มต้นถ่ายบ้าน แต่เหมือนฟ้าลิขิต น้องในทีมรีบวิ่งมาบอกเราอย่างตื่นเต้นว่า “พี่ๆ บ้านด้านหลังนี้เจ้าของบ้านเป็นคนไทยและสวยมาก” แน่นอนว่าใจของเราพุ่งไปถึงบ้านหลังนั้นก่อนขาจะก้าวไปทันเสียอีก
เราได้พบ คุณจุ๋งจิ๋ง – อรณัฐ เพอร์นควิสท์ เจ้าของบ้านสาวสวยที่ใช้ชีวิตอยู่ในจาการ์ตามานานกว่า 3 ปีแล้ว เธอเปิดบ้านเชื้อเชิญให้เราเข้าไปชมด้วยรอยยิ้ม แล้วเสียงว้าวก็เอ่ยออกจากปากเรานับครั้งไม่ถ้วน เพราะนอกจากเป็นบ้านที่น่าอยู่แล้ว การออกแบบตกแต่งพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ก็สวยงาม คุณอันดราเป็นผู้ออกแบบบ้านทรงกล่องขนาดสามชั้นหลังนี้เช่นกัน โดยกำหนดให้มีคอร์ตเล็กๆ กลางบ้าน เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้เต็มที่ มีสวนและมุมอเนกประสงค์บนอาคาร เพื่อให้ทุกห้องในบ้านมองเห็นและได้บรรยากาศเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เรียกว่ามีกลิ่นอายของสไตล์โมเดิร์นที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปนิกชื่อก้องอย่าง เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) แต่อยู่ในบริบทแบบเอเชีย
ชั้นล่างของอาคารหลังแรกประกอบด้วยส่วนนั่งเล่น มุมรับประทานอาหารและครัว ผนังกรุกระจกบานใหญ่แบบเต็มผนัง สามารถมองเห็นคอร์ตกลางบ้านที่เป็นสวนขนาดกะทัดรัดคั่นกลางระหว่างอาคาร ชั้นสองเป็นห้องทำงาน และชั้นสามเป็นส่วนนั่งเล่นบนดาดฟ้า
ส่วนอาคารหลังที่สอง ชั้นล่างเป็นห้องอเนกประสงค์ ชั้นสองเป็นห้องนั่งเล่นที่มีมุมเอ๊าต์ดอร์และสวนขนาดเล็ก ชั้นบนสุดเป็นห้องนอนใหญ่ที่เชื่อมต่อกับมุมนั่งเล่นบนดาดฟ้าของอาคารหลังแรก
สถาปนิกผู้ออกแบบนั้นหลงใหลในงานสไตล์โมเดิร์น เขาเลือกใช้วัสดุที่ดูเรียบง่ายแต่อบอุ่นอย่างไม้จริง ปูนเปลือยโทนสีขาวสะอาดตา และบล็อกช่องลมทุกพื้นที่ใช้งานในบ้านนี้จึงมีความพิเศษ โดยออกแบบให้พอเหมาะกับการใช้งานไม่ซับซ้อน และเปิดรับธรรมชาติ
เรายังสังเกตว่าของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ในบ้านนี้ส่วนใหญ่จะมีกลิ่นอายของสไตล์โอเรียนทัลมาตัดสลับกับความเรียบง่ายของงานสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น คุณจุ๋งจิ๋งเล่าว่าด้วยหน้าที่การงานของ คุณแอนเดอร์ส เพอร์นควิสท์ เจ้าของบ้านฝ่ายชาย ทำให้ต้องเดินทางอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังชื่นชอบการท่องเที่ยว จึงมักเลือกซื้อข้าวของสวยๆ ติดมือกลับมาด้วย ทั้งจากประเทศอิตาลี ไต้หวัน และอินเดีย โดยคุณจุ๋งจิ๋งจะเป็นผู้เลือกจัดวางเองทั้งหมด ทำให้ทุกพื้นที่ในบ้านดูมีชีวิตชีวา
“ชอบงานแบบเอเชียค่ะ งานออกแบบของประเทศในแถบบ้านเรามีฝีมือและสวยงาม ของในบ้านนี้อย่างตู้ไม้หลังใหญ่ที่มีลวดลายแกะไม้สวยๆ ก็ส่งตรงมาจากประเทศไทย พรมผืนสวยได้จากอินเดีย บางชิ้นสั่งทำใหม่ที่จาการ์ตาเพื่อให้เข้ากับขนาดของห้อง เรียกว่าแต่ละชิ้นเป็นของที่มีที่มาและทำให้นึกถึงเรื่องราวจากการเดินทางของเรา”
เชื่อไหมว่าเราหลงรักบ้านในโครงการนี้ตั้งแต่ได้เห็นในโบรชัวร์ ตอนแรกก็แอบเสียใจที่จะไม่ได้เก็บภาพในบรรยากาศที่ดูมีชีวิตชีวา แต่สุดท้ายอาจเป็นเพราะโชคชะตาที่ทำให้เราได้รู้จักเจ้าของบ้านสาวสวยผู้น่ารัก และได้เก็บความรู้สึกดีๆ อันน่าประทับใจกลับมาเต็มกระเป๋าในช่วงเวลาสั้นๆ ของวันที่ร้อนระอุ
ออกแบบอย่างบ้าน Co-housing
บ้านแต่ละหลังในโครงการนี้จะปลูกติดกันและใช้กำแพงร่วมกัน แต่สร้างความเป็นสัดส่วนด้วยการออกแบบร่นระยะของตัวบ้าน พร้อมปลูกต้นไม้ไว้พรางสายตา นอกจากนี้ยังก่อบล็อกช่องลมเป็นกำแพงขนาดใหญ่ เพื่อให้แสงสว่างรวมถึงลมลอดเข้ามาได้สังเกตว่าแม้สถาปนิกแต่ละคนจะมีสไตล์ต่างกันแต่ไม่มีใครออกแบบบ้านที่ดูแปลกแยก รวมถึงการพยายามไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเดิมของที่ดิน บ้านบางหลังคล้ายจะอย่บูนเนินและดูสูงกว่าอีกหลัง จึงใช้การออกแบบลดหลั่นพื้นที่ใช้สอยให้พอดีและมีระยะส่วนตัว ซึ่งเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งที่ทำให้บ้านในโครงการนี้ดูพิเศษยิ่งขึ้น
“สามปีที่แล้วตอนย้ายมาอยู่แรกๆ มีเพื่อนบ้านไม่เกินห้าหลัง ตอนนี้มาอยู่กันมากขึ้น แต่ก็ยังสงบเหมือนเดิมส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่ไม่มีลูกเล็ก เพราะบ้านเป็นพื้นที่เปิดและมีบันไดหลายขั้น อาจไม่สะดวกหากมีเด็กเล็กๆ แต่ที่นี่ไม่พลุกพล่าน เจ้าของบ้านทุกหลังมีความเข้าใจและเคารพเพื่อนบ้าน มีผู้จัดการโครงการที่คอยช่วยเหลือตลอดเวลา”