บ้านต่างวัยแต่ใจเดียวกัน
ภายในบ้านแต่ละหลังตกแต่งในสไตล์ที่ต่างกันตามความชอบของผู้อยู่อาศัย เช่น ในบ้านหลังแรกมีกลิ่นอายผสมผสานทั้งสไตล์โมเดิร์นและคอนเทมโพรารี ส่วนบ้านหลังที่สองซึ่งเคยเป็นของน้องชายก็จะมีอารมณ์แบบผู้ชายๆ เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์หนังสไตล์โมเดิร์นเป็นหลัก ส่วนหลังที่สามของคุณแม่ คุณจอยเน้นให้บรรยากาศดูอบอุ่นด้วยโทนสีครีมและเหลือง
“มองเห็นกันไกลๆ ก็อุ่นใจ” เป็นวลีที่เรารู้สึกว่าตรงกับบรรยากาศของบ้านหลังนี้ เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็มองเห็นครอบครัวได้เสมอ โดยในมุมที่ตั้งใจให้มองเห็นกันก็ออกแบบให้มีความเชื่อมต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวไปในตัว เมื่อมีพื้นที่ส่วนกลาง ก็ทำให้ได้มาใช้งานร่วมกัน เช่น มุมนั่งเล่นหน้าบ้านหลังที่สามที่มองเห็นกิจกรรมของทั้งครอบครัวได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมุมนั่งเล่นในบ้านหลังที่สอง หรือมองเห็นคุณแม่ทำกับข้าวในครัว ซึ่งพื้นที่นี้เปรียบเหมือนเป็นหัวใจของบ้านเลยทีเดียว
บ้านหลังนี้ยังประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยหลากหลายวัย การออกแบบจึงต้องปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง โดยสอบถามความต้องการของทุกคน
“ปกติแล้วห้องซักผ้าจะอยู่ในตำแหน่งชั้นล่างสุดของบ้านแต่บ้านคุณแม่ไม่ได้เป็นแบบนั้น ท่านออกความคิดเห็นว่า หากนำส่วนซักล้างไว้ชั้นสองก็จะใช้งานได้สะดวกขึ้น เมื่อซักเสร็จก็เดินไปตากได้สะดวก หากฝนตกก็มีหลังคาคลุม มีแดดส่องทั่วถึง เรียกว่าจะใช้งานเมื่อไหร่ก็ได้ หรืออย่างการแบ่งห้องเก็บของเป็นหลายห้อง เพราะแยกการจัดเก็บได้ดีกว่า เช่น ใต้บันไดเก็บของไม่ได้ใช้บ่อยอย่างถุงกอล์ฟ แยกตู้สำหรับเก็บเครื่องนอน ตู้เก็บกระเป๋าเดินทาง โดยนำของที่จะจัดเก็บมาลิสต์ดูก่อน แล้วจึงออกแบบว่าจะไว้ตรงไหนของบ้าน หากออกแบบเป็นห้องใหญ่ก็จะเป็นการกองของไปเรื่อยๆ เวลาจะหยิบใช้มันยาก”
ถือเป็นข้อดีของบ้านหลังนี้ที่มีทั้งสถาปนิกและผู้ใช้งานจริงเป็นคนในครอบครัว จึงช่วยกันคิดและวางแผนจัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทำให้บ้านไม่ได้มีหน้าที่แค่ใช้อยู่อาศัย หากเป็นพื้นที่รวบรวมความสุข ความมีชีวิตและความเป็นบ้านได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
เจ้าของ : ครอบครัวอารักษ์เวชกุล
ออกแบบ : คุณศีลวัตร – คุณลลิตา อารักษ์เวชกุล
เรื่อง : “อัจฉรา จีนคร้าม”
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์: ภควดี พะหุโล