นิยามของบ้านที่หรูหราในความคิดของบางคนอาจเป็นเรื่องของงานออกแบบที่ดูวิบวับฟู่ฟ่าหรือมีความซับซ้อนจนดูน่าเกรงขาม แต่สำหรับ คุณวัชราวุธ วิคเตอร์ สุขเสรี กงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และผู้จัดการทั่วไปโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน กลับมองว่าความหรูหราของบ้านคือความรู้สึกที่อยู่สบายปลอดโปร่ง มองเห็นธรรมชาติ และอุ่นอวลพร้อมหน้าไปกับคนในครอบครัว
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามองหาที่ดินสำหรับสร้างบ้านพักตากอากาศขนาดใหญ่เพื่อรองรับทุกคนในครอบครัว โดยใช้เวลากว่า 2 ปีตระเวนหาที่ดินอันเหมาะสม จนมาพบทำเลที่ทุกคนในบ้านถูกใจ ด้วยระยะทางที่ห่างจากทะเลเพียง 20 เมตร จึงสามารถสัมผัสถึงเสียงคลื่น ลมทะเล และความสดชื่นจากธรรมชาติรอบตัวได้ดี
“ผมทำงานอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน นับตั้งแต่โรงแรมเริ่มก่อสร้าง จนถึงวันนี้ก็ 26 ปีแล้ว รวมกับประสบการณ์การเดินทางไปทำงานกับโรงแรมอีกหลายแห่งทั่วโลก ทำให้ผมมีภาพของบ้านพักผ่อนหลังนี้อยู่ในความคิดค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่แรกเมื่อมาเห็นที่ดิน คือมองเอาไว้ต่างจากความคลาสสิกของโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อย่างสิ้นเชิง เพราะผมต้องการบ้านหลังใหญ่ที่ทุกคนในครอบครัวสามารถใกล้ชิดกันได้ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่แยกส่วนตัวรูปแบบบ้านเป็นสไตล์โมเดิร์นคอนเทมโพรารี ซึ่งลักษณะที่ดินนั้นยาวและลึกมากเกือบ 100 เมตร บนพื้นที่ 2 ไร่ เลยเป็นโจทย์ที่ยากหน่อยสำหรับสถาปนิก”
แต่ด้วยความคุ้นเคยกับ คุณรุ่งโรจน์ ลีสินสวัสดิ์ สถาปนิกที่ร่วมงานกันมาหลายครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะตีโจทย์และแปลงความต้องการเหล่านี้ให้กลายเป็นบ้านรูปทรงคล้ายตัวเอช (H) เพื่อแยกพื้นที่ใช้งานระหว่างกันและมีความเป็นส่วนตัวที่ค่อนข้างมิดชิด ทว่ายังเน้นมุมมองออกสู่ธรรมชาติของทะเล พร้อมทางเดินส่วนกลางซึ่งเปิดโปร่งเชื่อมโยงกันไว้
“ที่ผมกำหนดไว้ยังมีเรื่องของบ้าน 4 เสาที่เป็นเหมือนตัวแทนของสวรรค์ชั้น 4 ซึ่งก็คือชั้นโดยตัวเสามีการย่อมุมเข้ามาเพื่อลดทอนความเป็นทรงเหลี่ยมให้ดูนุ่มนวลขึ้นด้วย และอยากให้ห้องนั่งเล่นด้านในมีเพดานสูง 7 เมตร หรือหรือสูงไปถึงชั้นสอง เพื่อให้ทุกห้องนอนชั้นบนมีระเบียงที่โปร่งและมองออกไปเห็นทะเลได้หมด”
ภายนอกตัวบ้านยังมีการนำวัสดุดินเผามาใช้ปิดผิวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นความชอบเดิมจากบ้านที่กรุงเทพฯที่ใช้ดินเผาตกแต่งถึงครึ่งหลัง และแน่นอนว่าคุณวิคเตอร์ก็ไม่ลังเลที่จะนำดินเผามาใช้กับบ้านใหม่หลังนี้ด้วยเช่นกัน
“ผมว่าดินเผาก็คืออิฐนะ ผมชอบสีของดินเผา มันดูมีเสน่ห์ และไม่ต้องห่วงเรื่องทาสีเลย เพราะต่อให้บ้านผ่านไปอีก 30 ปี สีของดินเผาก็ยังแน่นเหมือนเดิม และยิ่งเวลาแสงตกกระทบกับผนังยิ่งทำให้แสงดูมีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะตอนมีเงาใบไม้ด้วยยิ่งให้ความรู้สึกพลิ้วไหวราวกับใบไม้เต้นระบำ เวลาผมกลับบ้านก็ชอบออกไปนั่งมองแสงสวยๆ พวกนี้เสมอ”
จากภายนอกมาสู่งานตกแต่งภายใน ซึ่งได้ คุณธนกฤต จงวัฒนไชย มัณฑนากรที่รู้ใจมาช่วยสานต่อรายละเอียดต่างๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นใช้วัสดุธรรมชาติมาผสมผสานเพื่อสร้างความกลมกลืนกับภายนอก และเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบมิกซ์แอนด์แมตช์ที่สั่งทำขึ้นมาพิเศษทั้งหมด พร้อมกับโต๊ะกลางซึ่งทำจากไม้มะค่าเคลือบสีสวยโดดเด่นสะดุดตาไม่แพ้แกรนด์เปียโนอายุเกือบร้อยปีของ Bluthner 1 ใน 4 เปียโนที่ดีที่สุดในโลกที่จัดวางอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน
งานตกแต่งอีกอย่างหนึ่งที่เห็นในหลายจุดของบ้าน ได้แก่ Stacked Glass หรือศิลปะกระจกซ้อน ซึ่งเป็นผลงานที่ คุณจิรวัฒน ชวนะธิต Glass Designer มาช่วยออกแบบให้ โดยเฉพาะผนังน้ำตกที่ส่องประกายแวววาวอยู่บริเวณบันได ช่วยสร้างมุมมองอันน่าประทับใจให้โถงนั่งเล่นได้ดี แทนการติดแชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่ที่อาจบดบังมุมมองอันเชื่อมต่อออกไปสู่ภายนอกได้
ด้วยความที่เป็นคนรักครอบครัว คุณวิคเตอร์จึงให้ความสำคัญกับ Family Room ในขนาดพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง พร้อมจัดวางเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับสมาชิกทุกคนได้เต็มที่ รวมถึงครัวไทยและครัวฝรั่งสำหรับคุณแม่และน้องสาวผู้ชื่นชอบการทำอาหารเป็นพิเศษ โดยมีห้องอาหารอยู่ในมุมต่อเนื่องกัน จัดวางโต๊ะไม้มะค่าขนาดใหญ่ซึ่งมีส่วนขาเป็นงาน Stacked Glass ซ่อนไฟประดับเพิ่มมิติความงาม และรอบๆ ห้องยังดูโปร่งด้วยผนังกระจกที่ช่วยดึงธรรมชาติของสวนภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศภายในได้อย่างกลมกลืน
ขึ้นไปสู่บนชั้นสองของบ้านมีลักษณะเป็นโถงโล่งกับทางเดินที่ทอดยาวออกไปสู่ 3 ห้องนอน เริ่มจากห้องนอนของน้องซีซีและน้องโจเซฟ หลานสุดรักของคุณวิคเตอร์ ซึ่งเน้นตกแต่งด้วยสีสันสดใสรับกับวัยผู้ใช้งาน กับห้องทำงานที่เปิดออกสู่ภายนอกได้ ขณะที่มุมซ้ายของบ้านเป็นห้องนอนของน้องสาวที่ตกแต่งแบบเรียบง่าย โดดเด่นด้วยระเบียงที่เปิดกว้างออกไปสู่ทะเลตามความต้องการแรกของคุณวิคเตอร์ สำหรับห้องนอนของคุณวิคเตอร์ซึ่งอยู่มุมขวาของบ้านตกแต่งด้วยโทนสีขาว – ดำที่เรียบนิ่งและดูหรูหรา มีความพิเศษอยู่ตรงโคมไฟหัวเตียงระบบสัมผัส ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน พร้อมมุมอ่านหนังสือซึ่งเลือกใช้โซฟาหนังสีน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สั่งทำพิเศษกับแพนทรี่เล็กๆ โดยมีภาพประดับผนังรูปแรดที่คุณวิคเตอร์ได้มาจากเชียงใหม่ สื่อถึงความทระนงองอาจ สะท้อนถึงบุคลิกและสไตล์การทำงานของคุณวิคเตอร์ได้เป็นอย่างดี
คุณวิคเตอร์เล่าว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระเมตตาประทานชื่อให้บ้านหลังนี้ว่า “วิลล่าสุขเสรี” ไม่ว่าจะด้วยเพราะนามสกุลของคุณวิคเตอร์เองหรือองค์ประกอบต่างๆ ภายในบ้านที่ล้วนเกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มความสุขให้ทุกคนได้ผ่อนคลายอย่างอิสรเสรี แต่เราก็เชื่อว่าเป็นชื่อที่ลงตัวและสื่อความหมายได้ชัดเจนที่สุดจริงๆ
เจ้าของ : ครอบครัวสุขเสรี
สถาปนิก : คุณรุ่งโรจน์ ลีสินสวัสดิ์
มัณฑนากร : คุณธนกฤต จงวัฒนไชย
เรื่อง : “ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ศุภกร ศรีสกุล