ไม้ดอก.. ไม่มีดอก ?
หลายคนคงเคยพบเจอปัญหาแบบนี้ใช่ไหมคะ .. บ่อยครั้งที่เลือกซื้อไม้ดอกมาจากร้าน พอนำกลับมาปลูกที่บ้านเป็นอันต้องร่วงโรยไปตามกาลเวลาทุกที แถมนานวันเข้าก็ยังไม่มีดอกใหม่ออกมาให้ชื่นชมอีก จนหลายคนเริ่มท้อใจย้ายไปปลูกไม้ใบแทน แต่ใช่ว่าสวนสวยๆ ของเราจะต้องขาดสีสันไปซะทีเดียว วันนี้เรามีเทคนิคในการดูแลไม้ดอก ให้ออกดอกสวยสะพรั่งมาฝาก ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ
ไม้ดอก (Flowering plant) คือ พรรณไม้ที่ออกดอกสีสันสวยงามหรือมีกลิ่นหอม นิยมนำมาใช้ในการประดับตกแต่งสวนหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อความงามหรือความเป็นสิริมงคล สามารถจำแนกตามลักษณะของพรรณไม้ ได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. ไม้ดอกล้มลุก (Flowering herb) เป็นไม้ดอกที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับมากที่สุด เพราะปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว
2. นิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แต่ส่วนใหญ่เมื่อออกดอกแล้ว ต้นก็จะเหี่ยวเฉาไป เช่น ดาวกระจาย หงอนไก่ บานชื่น แต่บางชนิดหากหมั่นดูแล ตัดแต่ง ก็อาจจะผลิใบและออกดอกใหม่ได้ เช่น ผกากรอง แวววิเชียร พยับหมอก แพงพวย
3. ไม้ดอกที่เป็นไม้พุ่ม (Flowering shrub) เป็นไม้ดอกที่มีเนื้อไม้แข็ง สูงไม่เกิน 6 เมตร มีลักษณะเป็นพุ่ม แตกกิ่งก้านใกล้โคนต้น ไม่สูงจากพื้นดิน เมื่อออกดอกแล้วสามารถเจริญเติบโตและออกดอกใหม่ได้อีก เช่น ไฮเดรนเยีย ชบา ชวนชม ราชาวดี
4. ไม้เถาหรือไม้เลื้อย (Flowering climber) เป็นไม้ดอกที่ต้องพาดพิงกับสิ่งอื่นหรือเลื้อยไปตามพื้นดิน ถ้ามีอายุอยู่ได้หลายปี เรียกว่า ไม้เถายืนต้น เช่น พวงคราม สร้อยอินทนิล อัญชัน แต่ถ้าเป็นไม้เถาที่มีอายุสั้น มีลักษณะล้มลุก เรียกว่า ไม้เถาล้มลุก เช่น รกฟ้า ผักบุ้งฝรั่ง
5. ไม้ดอกที่เป็นไม้ยืนต้น (Flowering tree) เป็นไม้ดอกที่มีเนื้อไม้แข็ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นใหญ่กว่าไม้พุ่มและมีความสูงเกิน 6 เมตร อายุยืนนาน เช่น ลีลาวดี ประดู่ ราชพฤกษ์ คูณดอกขาว คอร์เดีย พิกุล จามจุรี โศกน้ำ
การติดดอก
ไม้ดอกมีทั้งพันธุ์ที่ออกดอกตลอดปีและออกดอกตามฤดูกาล โดยส่วนมากมักจะออกดอกช่วงหลังจากผ่านฤดูหนาวไปแล้ว ประมาณปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพราะ ช่วงฤดูหนาวอากาศจะแห้ง ความชื้นน้อย กลางวันสั้นกว่ากลางคืน ต้นไม้จึงมีการสังเคราะห์แสงน้อยลง ทำให้เกิดการทิ้งใบและอาหารบางส่วนที่สะสมอยู่บริเวณปลายยอดไม่ถูกนำไปใช้งาน เมื่อพ้นช่วงฤดูหนาวแล้วอาหารที่สะสมอยู่นี้ จะทำให้ต้นไม้แตกยอดและออกดอกใหม่ ส่วนการติดดอกนอกฤดูกาลก็สามารถทำได้เช่นกันโดยการหลอกธรรมชาติ เช่น การอดน้ำ การเร่งยา เพื่อให้ออกดอก
ปัจจัยในการติดดอก / การเร่งดอก
1. ชนิดพันธุ์ ควรเลือกพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย อย่าง พันธุ์ไม้ดอกเมืองร้อน เพราะ จะทำให้ดูแลรักษาง่าย เจริญเติบโตได้ดี เช่น ดาวเรือง บานชื่น สร้อยไก่ ดาวกระจาย หรือ อาจเลือกปลูกไม้ดอกเมืองหนาวชนิดที่สามารถปรับตัวทนร้อนได้ เช่น ผีเสี้อ สายพันธุ์เทลสตาร์ (Telstar) เป็นต้น ซึ่งการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวมีวิธีการปลูกเหมือนกับการปลูกไม้ดอกทั่วๆไป ทั้งการเพาะเมล็ด การดูแลรักษา แต่อาจแตกต่างกันที่อุณหภูมิอากาศเท่านั้น
2. สถานที่ปลูก ควรสำรวจพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมกับชนิดต้นไม้ที่จะปลูก ทั้งปริมาณแดด ความชื้น การถ่ายเทอากาศ ซึ่งถ้าสภาพแวดล้อมดีก็ย่อมทำให้ต้นไม้ที่ปลูกออกดอกสวยงาม โดยไม้ดอกส่วนใหญ่มักชอบแดด แต่ถ้าหากได้แสงแดดมากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้ลำต้นยืดยาว ดอกซีดจางหรือไม่ออกได้ เราสามารถแก้ไขได้โดยเปลี่ยนสถานที่ปลูกหรือปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น การปลูกไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาและเก็บกักความชื้น หรือ เพิ่มปริมาณการรดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิความร้อน
3. การตัดแต่ง ไม้ดอกส่วนมากควรตัดแต่งหรือเด็ดยอด เพื่อให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ได้ทรงพุ่มแน่น ลดความสูงของต้นและเกิดตาดอกมากขึ้น สามารถทำได้โดยการใช้มือเด็ดบริเวณปลายยอดในช่วงเช้า ขณะที่เนื้อเยื่อของพืชยังอวบน้ำ ทำให้เวลาเด็ด กิ่งจะหักง่ายกว่าตอนสายหรือตอนบ่าย และ ควรรีบเด็ดยอดเมื่อดอกชุดแรกเริ่มโรยหรือบอบช้ำ เพื่อไม่ให้แย่งธาตุอาหารจากลำต้นและดอกสมบูรณ์อื่นๆ
4. ปุ๋ย ไม้ดอกมีระยะการเจริญเติบโตแบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งแต่ละช่วงมีความต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกัน โดยในช่วงแรกเป็นการเจริญเติบโตของต้น ควรเน้นการบำรุงต้นและใบ โดยอาจให้ให้ธาตุสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 เพื่อให้ต้นสมบูรณ์และ ในช่วงต่อมาเป็นการเจริญเติบโตของดอก ควรเน้นธาตุฟอสฟอรัส (P) เพื่อช่วยในการสะสมตาดอกและควรลดธาตุไนโตรเจน (N) เพราะ หากได้รับไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ลำต้นอวบ ผลิใบมาก และ ไม่ออกดอก สำหรับวิธีการให้ปุ๋ย นิยมใช้ปุ๋ยฟอสเฟตหรือหินฟอสเฟตบดละเอียดรองพื้นหรือก้นหลุมก่อนปลูก สำหรับไม้ดอกที่มีอายุเกิน 1 ปี เช่น กุหลาบ เยอบีร่า หรือ ใส่เป็นแถบระหว่างร่องปลูก สำหรับไม้ดอกที่ปลูกเป็นแปลง เช่น เบญจมาศ ดาวเรือง และอาจให้ปุ๋ยพ่นทางใบเป็นครั้งคราวร่วมกับการพ่นสารป้องกันโรคและแมลง
5. การรดน้ำ ปริมาณน้ำมีผลต่อการดูดซึมธาตุอาหารจากในดิน ยิ่งในช่วงออกดอกหากต้นไม้ได้รับน้ำและธาตุอาหารมากเกินไป อาจทำให้ไม่ออกดอกตามต้องการ ดังนั้นช่วงก่อนออกดอกจะมีการอดน้ำ ประมาณ 9-15 วัน เพื่อป้องกันรากดูดธาตุไนโตรเจนขึ้นมา หลังจากดอกเริ่มบานจึงจะเริ่มให้น้ำใหม่ เพื่อช่วยยืดอายุดอกให้ยาวนาน หรือ ในบางกรณี เช่น ถ้าดอกมีขนาดใหญ่มีการคายน้ำมาก อาจจะต้องรดน้ำเพิ่มขึ้น และ ไม่ควรรดน้ำถูกดอก เพราะ จะทำให้ดอกช้ำหรือเน่าได้
6. โรคและแมลง ดอกไม้สวยๆ ย่อมคู่กับแมลง ซึ่งแมลงก็เป็นพาหะสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อโรคบางชนิด ที่อาจติดมากับอวัยวะของแมลง จากต้นที่เป็นโรคไปสู่ต้นอื่นๆ โดยมักพบปัญหาที่เกิดจาก เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส เช่น โรคดอกจุด ดอกไหม้ ดอกด่าง ดอกบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ดอกเน่า หรือ อาจพบความผิดปกติจากสาเหตุอื่นๆ เช่น กาฝาก ที่ขึ้นบนกิ่งไม้จะแย่งดูดกินอาหาร ทำให้ไม่มีดอกหรือเกิดอาการผิดปกติที่ดอกได้
Tips
ใช้ นูเทค ซุปเปอร์-เค เป็นปุ๋ยสำหรับพ่นทางใบ อัตราส่วน 3 กรัม ต่อ น้ำ 1 ลิตร จะช่วยสะสมธาตุอาหาร เพื่อใช้กระตุ้นการออกดอก ทำให้ดอกดก ออกดอกสม่ำเสมอ ควบคู่กับ เกอมาร์ นาโน สารสกัดจากสาหร่ายทะเลธรรมชาติที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อพืชได้อย่างรวดเร็ว ช่วยกระตุ้นการแตกตาดอก รวมถึงช่วยฟื้นฟูสภาพต้นหลังการออกดอกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อากาศร้อนจัด สภาพขาดน้ำหรือน้ำท่วมขัง
ขอบคุณ
บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
Line : @sotushome
Tel. 0-2984-0999 ต่อ 555
www.sotus.co.th