5. เปลี่ยนคอนกรีตเป็นพื้นผิวที่เย็นชื้น
การรู้จักใช้พื้นผิวที่สามารถเก็บกักความชื้นได้บ้าง เช่น แนวรั้วไม้ พื้นกรวด หรือพื้นหญ้า ก็ทำให้บ้านไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนพื้นคอนกรีตเพียงอย่างเดียว อาจสลับบางช่วงบ้างก็ได้ สำหรับบ้านที่ปูพื้นคอนกรีตไว้อยู่แล้ว
6. ไม่มีเสียงรบกวน
มลพิษทางเสียง นับเป็นปัญหาใหญ่ที่เข้ามาขัดจังหวะความสงบภายในบ้าน วัสดุกรุที่ดีจะช่วยซับเสียงทำให้บ้านเงียบและกันความร้อนไปในตัว หากใช้กระจกนิรภัย ซึ่งเป็นกระจกสองแผ่นคั่นกลางด้วยพีวีบี (Polyvinyl Butyral) ที่มีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน จะช่วยลดอันตรายจากรังสียูวีและคลื่นเสียงความถี่สูงๆได้ หรือกระจกฉนวนกันความร้อนหรือกระจก Low-E ทำจากกระจกสองแผ่นประกบ โดยมีอะลูมิเนียมซึ่งบรรจุสารดูดซึมความชื้น หรือก๊าซเฉื่อยคั่นกลาง ด้านนอกนิยมใช้กระจกเทมเปอร์เพื่อช่วยสะท้อนแสงอีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงวัสดุสร้างบ้านแบบเดิมแต่คูณสองเข้าไป ก็ช่วยเก็บเสียงได้อีกทาง เช่น ผนังยิปซัม หรือแผ่นอะคูสติกบอร์ด หรือก่อผนังสองชั้นเว้นช่องตรงกลาง บวกกับใช้วัสดุซับเสียงช่วยอีกชั้น รับรองว่าเงียบและสบายสมใจ
7. สัตว์เลี้ยงและไม่อยากเลี้ยง
สัตว์เลี้ยงสุดรักอาจนำพาสุขภาพไม่ดีมาสู่เราได้ หากดูแลได้ไม่ดีพอ ควรกำหนดขอบเขตให้พวกเขาตั้งแต่เริ่มเลี้ยง ฝึกให้ทำกิจกรรมเป็นบริเวณๆไป เพื่อช่วยให้เราสามารถทำความสะอาดพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างสะดวก รวมถึงสัตว์ที่เราไม่ได้อยากเลี้ยงแต่มาเอง อย่างยุง หนู หรือแมลงต่างๆ ก็ควรออกแบบพื้นที่ให้มิดชิด ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ตู้ที่มีหน้าบานปิดมิดชิด และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ก็ช่วยป้องกันได้อีกทางหนึ่ง
8. กลิ่นที่พึงใจ
บ้านหอมๆ สร้างความประทับใจได้ตั้งแต่เปิดประตูรั้ว กลิ่นที่เกิดจากภายในบ้านมีได้ตั้งแต่กลิ่นท่อระบายน้ำ กลิ่นขยะ ฯลฯ ควรหมั่นดูแลบ่อพักขยะ อย่าให้เกิดการอุดตัน ควรทิ้งขยะในภาชนะที่ปิดมิดชิด หรือทิ้งตามเวลาที่รถเก็บขยะมารับไป เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมจนส่งกลิ่นเหม็นเน่า ส่วนภายในบ้านหมั่นตรวจสอบกลิ่นจากท่อน้ำทิ้งต่างๆ เช่น ท่อระบายน้ำทิ้งจากซิงค์ในครัว ซึ่งไม่ควรมีเศษอาหารมาอุดตัน หรือกลิ่นจากห้องน้ำที่เกิดจากชักโครก ตรวจสอบว่ามีการรั่วซึมหรือไม่ หมั่นทำความสะอาดและติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ก็ช่วยได้อีกทางหนึ่ง เมื่อบ้านสะอาดแล้ว ลองหาเครื่องหอมในบ้านที่กลิ่นไม่ฉุนจนเกินไป ใช้แทนของตกแต่งบ้านก็ได้ และยังทำให้บ้านมีกลิ่นหอมอีกด้วย