จาก บ้านจัดสรร หลังเก่าที่ผ่านการขยับขยายและต่อเติมไปตามสภาพการใช้งานมานานร่วม 40 ปี จนถึงวันที่ คุณโป้ง–วรนล สัตยวินิจ ลูกชายคนโตของบ้านแต่งงาน ทุกคนในบ้านจึงลงความเห็นว่าน่าจะถือโอกาสปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่เสียที เพื่อจัดฟังก์ชันใช้งานใหม่ที่ตอบรับสมาชิกในบ้าน รวมถึง จัดบ้านให้น่าอยู่ มากขึ้น
“ตอนแรกเราคิดแค่จะรีโนเวตบางส่วน แต่พอดูโครงสร้างของบ้านก็เห็นว่าระดับพื้นต่ำมาก และอาจมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ประกอบกับสภาพบ้านก็เก่ามากแล้ว เลยตัดสินใจทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ดีกว่า”
คุณโป้ง ลูกชายคนโตและสถาปนิกของบ้านเล่าถึงจุดเริ่มต้น พร้อมกับเสริมถึงความต้องการหลักของครอบครัว ซึ่งเน้นเรื่องงบประมาณและประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญจึงเริ่มปฏิบัติการ “จัดบ้านให้น่าอยู่”
“สร้างบ้านให้ตัวเองมีความง่ายกว่าสร้างให้ลูกค้าอยู่แล้ว” คุณโป้งกล่าวต่อในฐานะของสถาปนิกแห่งบริษัท A49 “เพราะเวลาออกแบบบ้านให้ลูกค้า เราต้องคิดถึงสไตล์ก่อน แต่บ้านตัวเองนี่เก็บเรื่องสไตล์ไว้สุดท้ายเลย (หัวเราะ) แล้วไปเน้นที่ประโยชน์ใช้งานของทุกคนในบ้าน ซึ่งมีกันอยู่ 6 คน จะออกแบบบ้านอย่างไรบนที่ดินขนาด 96 ตารางวา จะทำอย่างไรให้รู้สึกโล่ง และทำอย่างไรให้แต่ละห้องมีการระบายอากาศที่ดี แตกต่างไปจากบ้านหลังเก่าที่มีสวนอยู่ด้านหน้า ทำให้ห้องพักผ่อนของทุกคนทับซ้อนกันอยู่ด้านหลัง จึงขาดทั้งวิวและความปลอดโปร่ง ผมเลยแก้ปัญหานี้ก่อนด้วยการออกแบบบ้านให้มีคอร์ตเล็กๆ แทรกระหว่างบ้าน เพื่อทำให้ทุกห้องในบ้านดูโปร่งและมีวิวเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้พอๆ กัน”
ภายในรั้วเหล็กโปร่งสีดำที่ตัดกับฟาซาดอะลูมิเนียมสีเงินด้านหน้า จึงเป็นเหมือนบ้านทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสามกล่องวางขนานกันและสลับไปกับคอร์ตที่เปิดโล่ง โดยอาคารแรกเป็นห้องนอนของคุณน้าซึ่งมีใต้ถุนเป็นลานจอดรถ สลับด้วยคอร์ตเล็กๆ ซึ่งใช้เป็นทางเดินสัญจรกับสวนริมรั้ว ตามด้วยอาคารส่วนกลางซึ่งประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร และห้องครัว แล้วคั่นด้วยคอร์ตสวนกลางบ้านอีกครั้ง ก่อนจะถึงอาคารหลังสุดท้ายซึ่งเป็นห้องนอนทั้งหมด
“ด้วยทิศทางเดิมของบ้าน ทำให้เราไม่สามารถวางบ้านขวางตะวันเพื่อหลบเลี่ยงแสงแดดและความร้อนได้ แถมบ้านเรายังเล็กจะยื่นชายคายาวก็ไม่ได้ เลยต้องใช้ระแนงอะลูมิเนียมช่วยบังแดดที่ส่องเข้าทางหน้าบ้านเต็มๆ ที่เห็นจึงไม่ได้ทำไว้ให้ดูสวยอย่างเดียว แต่ใช้งานได้จริงจังด้วย”
พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดภายในบ้านประมาณ 450 ตารางเมตร ตั้งแต่ลานจอดรถไปจนถึงด้านใน เน้นถึงความโปร่งสบายที่เชื่อมต่อถึงกันได้หมด เพราะผนังหลักของบ้านกรุกระจกใส ประกอบกับโครงสร้างเหล็กซึ่งช่วยให้ก่อสร้างได้รวดเร็วและไม่จำเป็นต้องมีเสาคอนกรีตหนาๆ อยู่ภายในบ้าน ทำให้กรอบประตูหน้าต่างกลมกลืนไปกับโครงสร้างที่เบาบางของเหล็กได้ดี เมื่อเปิดพื้นที่คอร์ตกลางบ้านให้เป็นสวนขนาดกะทัดรัดพร้อมชานไม้นั่งเล่น จึงทำให้เกิดช่องรับลมธรรมชาติที่หมุนเวียนเข้าภายในบ้านได้ตลอดวันจนไม่จำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ แถมยังทำให้ห้องนอนด้านในมีวิวที่เชื่อมต่อกับสวนไปในตัว
“ผมทำทางเดินเชื่อมต่อระหว่างคอร์ตกลางบ้านให้เป็นที่นั่งเล่นได้ด้วย โดยใช้ไม้เดิมที่มีอยู่กับไม้จากบ้านเก่าผสมกันระหว่างไม้สักกับไม้มะค่า ทำให้สีและขนาดอาจไม่ค่อยเท่ากันนัก แต่เราไม่ได้ซีเรียส ตรงนี้ กลายเป็นว่าคุณแม่กับคุณน้าชอบมาก เพราะเป็นมุมที่รับลมสบาย ไม่มีผนังปิดทึบ แต่ใช้ระแนงเหล็กกั้นเป็นผนังและรั้วเพื่อความปลอดภัยแทน เพื่อคงความโปร่งโล่งในบ้านไว้ด้วย แล้วปลูกต้นไม้ใหญ่เพิ่มความร่มรื่น มีปีบที่ให้ดอกหอมเป็นหลัก มีกันเกราที่โตช้าหน่อย แล้วก็ยังมีศรีตรังที่ให้ดอกสีม่วงสวย เสริมด้วยไม้กระถางอื่นๆ แม้ว่าเวลาฝนตกหนักอาจมีเปียกบ้าง แต่ก็เย็นสบาย ดีกว่าปิดทึบไปทั้งหมดครับ”
การเปิดพื้นที่ให้เชื่อมถึงกันระหว่างห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร และคอร์ตกลางบ้าง รวมไปถึงห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ด้านในนั้นนอกจากได้ความโปร่งสบายตาแล้ว ยังทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของสมาชิกทุกคนในบ้านได้อย่างดี เอื้อต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน สร้างความรู้สึกอบอุ่นใจ แม้แต่ห้องทำงานและห้องนอนของคุณโป้งที่อยู่บนชั้นสอง ก็โปร่งด้วยผนังกระจกใสจึงสามารถมองเห็นพื้นที่ชั้นล่างได้อย่างสบายใจเช่นกัน
เจ้าของ-สถาปนิก : คุณวรนล สัตยวินิจ
อ่านต่อ : 5 บ้านจัดสรร ตกแต่งให้เป็นบ้านจัดสวย
เรื่อง : “ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์