เราขับรถออกไปทางอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเลี้ยวรถเข้าไปในซอยเล็กๆที่ไม่ลึกนักก็ได้พบกับ อันจะกินวิลล่า บ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัลที่ได้แรงบันดาลใจจากอาคารเฟรนช์โคโลเนียลในเมืองหลวงพระบาง นอกจากงานออกแบบตัวบ้านที่ดูน่าสนใจแล้ว ความพิเศษของที่นี่ก็คือเป็นร้านอาหารในบ้านที่ใช้ชื่อว่า “วันละโต๊ะ” เพราะรับลูกค้าแค่วันละโต๊ะเดียวเท่านั้นนั่นเอง
“ขออนุญาตทำอาหารไปด้วย คุยไปด้วยนะคะ” คุณก้อย – กนิษฐกา ลิมังกูร เจ้าของบ้าน เริ่มต้นบทสนทนากับเราอย่างอารมณ์ดี เธอกำลังเตรียมอาหารเสิร์ฟแขกที่กำลังจะมาตอนเที่ยงวันนี้อยู่พอดี
“ทีแรกอยากได้บ้านแบบเฟรนช์โคโลเนียลที่เคยไปเจอที่หลวงพระบาง ซึ่งสถาปนิก คุณจักรวาล เหล่าสุวรรณ ก็ได้ออกแบบเป็นบ้านหลังนี้ โดยมีมาให้เลือกสองแบบ คือแบบโคโลเนียลแท้ๆเลยกับแบบที่ดู โมเดิร์นขึ้นมาหน่อย เราก็เลือกอย่างหลัง แต่ทั้งสองแบบก็มีโถงสูง มีพื้นที่เปิดโล่ง และเปิดรับแนวสวนตลอดความยาวของตัวบ้านอย่างที่เห็น”
บริเวณหน้าบ้านมีความยาวตลอดแนวสวน ทำให้สามารถเปิดรับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการเลือกทิศที่ถูกต้อง ตลอดจนได้ร่มเงาของแนวต้นไม้ ก็ทำให้บ้านหลังนี้มีความเย็นสบาย
พื้นที่ชั้นล่างเป็นโถงสูง 6 เมตร ประกอบด้วยชานนั่งเล่นหน้าบ้าน ส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร เคาน์เตอร์แพนทรี่ ครัว และห้องนอนของคุณพ่อที่อยู่ด้านหลัง ส่วนบริเวณชั้นสองเป็นห้องนอนของคุณก้อย ด้วยองค์ประกอบต่างๆที่เน้นเส้นสายแนวตั้ง จึงรู้สึกได้ถึงความโปร่งของพื้นที่ โดยที่พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดยกเว้นห้องนอนจะมีความต่อเนื่องเหมือนเป็นห้องเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของคุณก้อย
“ที่นี่มีแขกมาตลอดอยู่แล้วค่ะ ถ้าไม่ใช่แขกของ ‘วันละโต๊ะ’ ก็จะเป็นเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่แวะเวียนมารับประทานอาหารร่วมกัน พื้นที่ทั้งหมดจึงออกแบบให้ตอบรับกับความชอบในการสังสรรค์ของเรา เพราะชอบทำอาหารกินกับคนเยอะๆอยู่แล้ว อาหารบางอย่าง เช่น Lamb Short Ribs ทำกินคนเดียวไม่หมดหรอก แต่ถ้าอยู่กัน 4-5 คน ก็จะรู้สึกว่ากินกันได้สนุกมากขึ้น”
อีกองค์ประกอบหนึ่งที่เข้ามาช่วยเติมเต็มสมบูรณ์ให้บ้านนี้เห็นจะไม่พ้นเหล่าแมกไม้ที่คุณก้อยบรรจงเสริมเติมแต่งมาตลอดตั้งแต่สร้างบ้านเสร็จ “กลัวว่าบ้านเราจะเด่นและแปลกแยกไปจากเพื่อนบ้านรอบๆมากเกินไป ต้นไม้จึงเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงบ้านของเราให้ดูกลมกลืนไปกับพื้นที่แถบนี้ได้ดี”
หากนั่งมองจากชานนั่งเล่นออกไปก็จะเห็นต้นรวงผึ้งที่ปลูกหน้าบ้าน สนามหญ้า และแนวรั้วต้นไม้ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศให้เชื่อมโยงกับแนวป่าภายนอกได้ดี “ที่ตัดสินใจซื้อที่ตรงนี้ปลูกบ้านก็เพราะครั้งแรกที่มาดู เราได้ยินเสียงน้ำไหลจากลำเหมืองด้านหลัง คิดว่ามาอยู่ที่นี่น่าจะอยู่สบาย เพราะได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลย จริงๆแล้วความเป็นธรรมชาติก็เป็นสิ่งที่เป็นปกติของผู้คนแถวนี้นั่นแหละ แต่สำหรับเราก็ทำให้เข้าใจและสัมผัสมันได้มากขึ้น ตรงลำเหมืองซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เราก็มาปลูกผักเอาไว้ ซึ่งคนแถวนี้ก็มาปลูกด้วย ได้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งได้ความเป็นธรรมชาติและสามารถนำไปประกอบอาหารได้”
ใกล้เที่ยงแล้ว กลิ่นหอมเย้ายวนของอาหารเริ่มโชยออกมาจากเตา เรารู้สึกมีความสุขตามเมื่อได้เห็นคุณก้อยทำอาหารด้วย passion ขนาดนี้
“ถ้าไม่ใช่เชียงใหม่ก็อาจทำร้านแบบ ‘วันละโต๊ะ’ ไม่ได้ ที่นี่มีของดีๆเยอะในราคาที่จับต้องได้ เรารู้สึกสนุกไปกับวัตถุดิบของที่นี่ ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องใช้อะไรเป็นพิเศษ ไปเดินที่ข่วงเกษตรอินทรีย์เราก็สามารถซื้อหมูอินทรีย์ดีๆได้ในราคาที่ไม่โหดร้ายเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกับต้นทุนที่เชียงใหม่มีให้เรา จริงๆก็ไม่ได้คิดจะให้วันละโต๊ะเป็นเรื่องธุรกิจ แต่เราทำแล้วมีความสุข เหนื่อยก็พัก ได้พบเจอเพื่อนฝูงและลูกค้าใหม่ๆ ที่สำคัญคือได้มี ‘เพื่อนกิน’ ดีๆ ที่กลายเป็นเพื่อนจริงๆกันไป เหมือนบ้านกับชีวิตตอนนี้ดูสอดคล้องกันไปหมด มีเรื่องให้ทำ ได้เจอผู้คน ได้คิดเมนูใหม่ๆ เกิดเป็นกิจวัตรดีๆที่ทำให้ทุกวันของชีวิตหลังเกษียณมีความสุขไปเอง”
เจ้าของ : คุณกนิษฐกา ลิมังกูร
ออกแบบ : คุณจักรวาล เหล่าสุวรรณ
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
ผู้ช่วยช่างภาพ :โกศล ผ่ายเผย