หลังจากผ่านการปรับภูมิทัศน์มานานร่วมปี มณฑลพิธีท้องสนามหลวงก็พร้อมรองรับพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาปลายฝนของเดือนตุลาคมที่กำลังจะมาถึง
สุดฝีมือเพื่อพ่อ
แนวคิดใหม่ในผังมณฑลพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ท้องสนามหลวง
“ครั้งนี้มันคือการออกแบบทุกส่วน”
ดร.พรธรรม ธรรมวิมล หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในทีมภูมิสถาปนิก กลุ่มภูมิสถาปัตยกรรม ผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมรอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กล่าวถึงบทบาทใหม่ในงานภูมิสถาปัตย์ว่า คือการกำหนดจุดวางตำแหน่งพระเมรุมาศให้ตรงตามแนวแกนสำคัญอย่างที่ไม่เคยถูกกำหนดอย่างแน่ชัดมาก่อนบนจุดตัดระหว่างรัตนเจดีย์สีทองในวัดพระแก้ว กับ พระวิหารในวัด มหาธาตุ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศครั้งนี้ และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติอันสูงสุดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
และสืบเนื่องจากความประสงค์ของคณะจัดงานที่ต้องการให้สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศครั้งนี้สามารถปรับให้เป็นนิทรรศการหลังจากสิ้นสุดงานพระราชพิธีไปแล้วหนึ่งเดือน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาสัมผัสงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระราชประเพณีที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ คณะออกแบบจึงต้องสร้างสรรค์องค์ประกอบใหม่เพิ่มเติมแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในงานพระเมรุใด
“พิพิธภัณฑ์” ในมณฑลพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
สวนฝั่งหนึ่งของมณฑลพิธีด้านทิศเหนือกึ่งกลางของท้องสนามหลวง จัดไว้ให้เป็นสวนต้อนรับผู้คนเข้าสู่ลานภายในพระเมรุมาศหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี ณ ที่นี้ คณะภูมิสถาปัตย์ได้เติมแนวคิดการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมให้เป็นพิพิธภัณฑ์
บ่อน้ำและนาข้าวเป็นองค์ประกอบหลักที่ช่วย บอกเล่าเรื่องราวของโครงการในพระราชดำริ อาทิ คันดินบนนาข้าวรูปเลข “๙” หญ้าแฝก บ่อแก้มลิง กังหัน ชัยพัฒนา และฝายน้ำล้น ซึ่งส่วนใหญ่เน้นเรื่องราว พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการจัดการ “น้ำ” เพื่อ สะท้อนพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9
“ผมคิดว่าน้ำเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เป็นองค์ประกอบที่น่าจะนำมาสื่อสารถึงพระองค์ท่านได้เป็นอย่างดี หากติดตามพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เราจะพบว่าใน 4 พันกว่าโครงการนั้น มี 3 พันกว่าโครงการที่เกี่ยวกับน้ำทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม “น้ำ” ของ ดร.พรธรรมมิเพียงสะท้อนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ยังสะท้อนอยู่ในลานรอบพระเมรุมาศเป็นภาพของน้ำในอีกเรื่องราวซึ่งสะท้อนความเชื่อของภาพสวรรค์จากอีกดินแดน
“น้ำ” ในแดนสวรรค์
ในอดีตลานรอบ ๆ พระเมรุมาศมักตกแต่งด้วยกระถาง ต้นไม้ ดอกไม้ รูปปั้น ตามรูปแบบประเพณีที่มักทำตามกันมา จวบจนสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออิทธิพลตะวันตก แผ่มายังแดนสยาม การจัดสวนหย่อมและน้ำพุจึง เริ่มนำมาใช้เป็นองค์ประกอบรอบ ๆ พระเมรุเพื่อเสริมพระเกียรติยศของเจ้านายและสร้างบรรยากาศให้สถานที่
“ในหลวงท่านทรงสนพระทัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ จึงทำให้นึกถึงเรื่องราวของป่าหิมพานต์ที่มีสระอโนดาต ซึ่งไม่เคยมีครั้งไหนที่รอบพระเมรุมาศจะมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงน้ำมาก่อน”
ดร.พรธรรมกล่าวถึง “สระอโนดาต” สระน้ำในตำนานความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลเรื่อง “เขาพระสุเมรุ” ถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดหลักของการออกแบบภูมิทัศน์รอบพระเมรุมาศครั้งนี้ เพราะต้องการจำลองภาพการส่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นสมมุติเทพตามความเชื่อของไทยกลับคืนสู่แดนสวรรค์ เพื่อให้ภาพที่คิดไว้ออกมาสวยงามสมบูรณ์ จึงนำวิธีการสมัยใหม่มาใช้ เพื่อจำลองภาพของสระอโนดาตในป่าหิมพานต์ซึ่งอยู่ ณ ตีนเขาพระสุเมรุให้ออกมาสมจริงมากที่สุด
เทคโนโลยีกับภาพจำลองของดินแดนในความเชื่อ
“พระเอกจริง ๆ คือพระเมรุมาศ งานแลนด์สเคปคืองานเสริมเพื่อช่วยให้ความหมายของการเป็นเขาพระสุเมรุ สมจริง นอกเหนือจากนี้คือต้องการสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หากเดินเข้ามาแล้ว ผมอยากให้ทุกคนระลึกถึงท่าน”
ดร.พรธรรมกล่าวถึงส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดใน มณฑลพิธีอย่างองค์พระเมรุมาศ เมื่อต้องการจำลองสถานที่ให้สวยงามดังแดนสวรรค์ งานภูมิสถาปัตยกรรมจึงเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง
วัสดุสมัยใหม่ช่วยเอื้อให้ภาพสวรรค์เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีสระว่ายน้ำมาใช้เพื่อ จำลองเป็นสระอโนดาต การใช้วัสดุไฟเบอร์กลาสเพื่อทำก้อนหินที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการใช้อิฐบล็อกปูพื้นลานรอบพระเมรุมาศ ซึ่งต้องสั่งทำพื้นผิวพิเศษ โดยการใส่เกล็ดแก้วลงไปให้เกิดประกายระยิบยามสะท้อนกับแสงแดด ช่วยส่งเสริมภาพของภพภูมิสวรรค์ที่งดงามให้เหมือนจริงตามแนวคิด
“เทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่ช่วยให้ความคิดมีอิสระมากขึ้น ทำให้งานออกแบบเป็นจริงได้ง่าย ที่สำคัญคือสามารถทำให้เสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว” จึงน่าสนใจว่าแม้พระเมรุมาศจะเป็นงานออกแบบ แบบประเพณีนิยมที่มีข้อบังคับมากมาย แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่กลับช่วยให้ภาพความงามในคติต่าง ๆ ดูใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้อย่างง่ายดาย
ติดตามเรื่องราว #สุดฝีมือเพื่อพ่อ ทั้งหมดได้ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ที่ room ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบั
อ่านต่อ :โปรเจ็กต์สุดฝีมือเพื่อพ่อ
สุดฝีมือเพื่อพ่อ ๑ : ลุยสำนักช่างสิบหมู่ แอบดูเบื้องหลังงานพระเมรุมาศ
สุดฝีมือเพื่อพ่อ
เรื่อง กรกฎา, monosoda
ภาพ ศุภวรรณ, ศุภกร, อภิรักษ์, อนุพงษ์, นันทิยา, สรวิชญ์
ภาพประกอบ patit