สุดฝีมือเพื่อพ่อ : สถาปัตยกรรม พระเมรุมาศ – พระเมรุ – เมรุ

‘ เมรุ ’ เห็นจะได้ชื่อมาแต่ปลูกปราสาทอันสูงใหญ่ขึ้นท่ามกลาง ปลูกปราสาทน้อยขึ้นตามมุมทุกทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติล้อมเป็นชั้น ๆ มีลักษณะดุจเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่กลาง มีสัตตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกว่า พระเมรุ ทีหลังทำย่อลง แม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลม ๆ ก็คงเรียกว่า เมรุ

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ – สมเด็จครู อธิบายถึงลักษณะของสถานที่เผาศพหรือเมรุ ว่าเปรียบมาจาก เขาพระสุเมรุสัณฐานของแกนจักรวาลจากคติความเชื่อเรื่อง ไตรภูมิในวรรณคดีซึ่งว่าด้วยโครงสร้างของจักรวาลภายใต้อิทธิพลของศาสนาพุทธและพราหมณ์

การสร้าง พระเมรุมาศในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจึงสร้างขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า กษัตริย์ซึ่งดำรงสถานะเป็น เทวราชาจะกลับคืนสู่สวรรค์บนเขาพระสุเมรุหลังจากสวรรคต

พระเมรุมาศ

ลักษณะที่สะท้อนจากคติไตรภูมิในสถาปัตยกรรมพระเมรุอย่างหนึ่งคือ การมีฐานานุศักดิ์ในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

. พล...สมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติระบุไว้ว่า พระเมรุมาศใช้สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระราชทานเพลิงพระศพพระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระบรมราชชนนีพระบวรราชเจ้า และพระบรมโอรสาธิราช

พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พ.ศ. 2412 ( ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม)

พระเมรุมาศในสมัยก่อนมักปลูกสร้างอาคารเป็นทรงปราสาทขนาดมโหฬารครอบ พระเมรุทองไว้ภายใน โดยพระเมรุมาศแบบดั้งเดิมองค์สุดท้ายคือพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 4 สร้างเป็นพระเมรุมาศยอดปรางค์ ลักษณะเหมือนปราสาทในอาณาจักรขอมหยิบยืมรูปแบบมาจากต้นแบบในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นภาพของยุคอุดมคติที่ชนชั้นนำต้องการรื้อฟื้น

เมื่อความคิดของชนชั้นนำสยามเริ่มเปลี่ยนไปพระปรางค์ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพุทธแท้ประกอบกับทัศนคติเกี่ยวกับโลกที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น พระเมรุมาศจึงได้รับการเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้มีมติให้พระเมรุมาศมีขนาดเล็กลงและลดทอนองค์ประกอบบางอย่าง พระเมรุมาศทรงยอดปรางค์ที่คลุมอยู่ภายนอกจึงถูกถอดออก เหลือไว้แต่พระเมรุมาศทององค์ที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ หากแต่ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนรูปแบบของพระเมรุมาศก็ให้ใช้ทรงบุษบกยอดมณฑป 5 ยอดที่มีลักษณะเรียบง่ายและประหยัดกว่าพระเมรุมาศตามแบบโบราณ

เมรุ
พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พ.ศ. 2453 ( ภาพจาก หนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม)

พระเมรุมาศทรงบุษบกยอดมณฑป 5 ยอด” คือพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 ชาวสยามถือว่ารูปทรงสถาปัตยกรรมทรงบุษบกและเรือนยอดมณฑปอย่างรัชกาลที่ 5 เป็นฐานานุศักดิ์สูงสุดขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในพระเมรุมาศ และถือเอารูปแบบพระเมรุมาศของพระองค์เป็นธรรมเนียมในการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์นับแต่นั้นมา

 

พระเมรุ

“…โบราณนั้นมีความนิยมอย่างหนึ่ง คือรังเกียจเมรุถาวร…”

.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวในงานบรรยายพิเศษเรื่อง พระเมรุกลางเมือง

“…ถ้าคนมีสตางค์ มีอำนาจวาสนาหน่อย จะปลงศพผู้หลักผู้ใหญ่ ก็จะสร้างเมรุเฉพาะกิจขึ้นของตัวเองทุกครั้งไป เมรุที่เป็นเมรุถาวรนั้นโบราณเรียก เมรุปูนมีอยู่ 2 – 3 แห่งเท่านั้น เช่นที่วัดสระเกศวัดสุวรรณาราม แต่คนทั้งหลายก็ไม่สู้นิยม ถ้าเป็นขุนนางผู้ใหญ่ เป็นเจ้านายที่พอมีสตางค์ก็สร้างเมรุชั่วคราวในที่ต่าง

รองจากพระเมรุมาศ พระเมรุสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าลงมาถึงพระองค์เจ้าก็มีลักษณะคล้ายพระเมรุมาศ แต่จะสร้างให้เล็กกว่า และจะใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีฐานานุศักดิ์ลดหลั่นลำดับลงมา

ในขณะเดียวกันพระเมรุที่จะสามารถนำมาตั้งจัดพิธีถวายพระเพลิงกลางเมืองได้จะต้องเป็นพระเมรุของเจ้านายลำดับชั้นสูง เช่น ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป ถ้าเป็นขุนนางหรือเจ้านายบรรดาศักดิ์ต่ำลงมา มักใช้พื้นที่ของวัดหรือพื้นที่อื่น ๆ จัดพิธี และมีขนาดย่อลงมาตามบรรดาศักดิ์และฐานะของเจ้านายองค์นั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม พระเมรุและพระเมรุมาศมีลักษณะที่เหมือนกัน นั่นคือ การเป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวทั้งสิ้น

การสร้างเมรุถาวรหรือเมรุสำหรับประชาชนอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน นับเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่มีหลักฐานว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อราว พ.ศ. 2500 มานี้เอง

พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พ.ศ. 2430 (ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม)
พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2472 (ภาพ จากหนังสือสถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม)

เมรุ

ก่อนที่จะมีเมรุเผาศพตามวัดสำหรับประชาชนทั่วไปอย่างในปัจจุบัน การจัดงานเผาศพด้วย เมรุเป็นพิธีกรรมที่มีไว้เฉพาะสำหรับเจ้านายหรือผู้มีฐานะงานศพของชาวบ้านทั่วไปมักใช้วิธีตั้ง เชิงตะกอนกลางแจ้งในป่าช้าภายในวัด ซึ่งมักมีกลิ่นและควันตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้วิธีคิดเกี่ยวกับการเผาศพคนทั่วไปเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ. 2475

เมรุ คราวกบฏบวรเดช เมรุสามัญชนครั้งแรกบน ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2476 (ภาพ www.matichon. co.th)

เมรุคราวปราบกบฏบวรเดชได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นเมรุสามัญชนกลางท้องสนามหลวงครั้งแรก เมื่อรัฐบาลต้องการจัดงานปลงศพทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เมรุชั่วคราวจึงได้รับการสร้างขึ้นบนสนามหลวงอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้รูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด โดยออกแบบอาคารเป็นเพียงทรงกล่องสีขาว ไม่มีลวดลายหรือองค์-ประกอบอย่างสถาปัตยกรรมไทยประเพณี

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม ระบุว่า เมรุคราวนั้นทำให้ความศักดิ์-สิทธิ์ของพื้นที่สนามหลวงที่เคยหวงห้ามไว้ให้เจ้านายชั้นสูงโดยเฉพาะถูกลดทอนอย่างกลับหัวกลับหางและพร้อมกันนั้นภาพของเมรุจากที่เคยเป็นของเจ้านายก็กลายเป็นของทั่วไปที่สามัญชนสัมผัสได้

เมรุถาวรของประชาชนจึงกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาถัดจากนั้นเพียงไม่กี่ปี

เมรุ วัดไตรมิตร สร้างราว พ.ศ. 2478 – 2482 (ภาพ www.gba.orgfree.com)

เมรุวัดไตรมิตรสร้างขึ้นด้วยแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้คนจัดงานศพอย่างมีสุขลักษณะที่ดี ออกแบบโดยบรมครูทางด้านสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร เมรุดังกล่าวสร้างด้วยวัสดุสมัยใหม่อย่างคอนกรีต เลียนแบบลักษณะทรงมณฑปยอดปราสาทจากสถาปัตยกรรมไทยประเพณี แต่ตัดทอนลวดลายทางสถาปัตยกรรมให้เหลือเพียงโครงเรขาคณิตที่แข็งแรงตรงไปตรงมา

รศ.ชาตรีระบุว่า เมรุวัดไตรมิตรได้รับการสร้างขึ้นในราว พ.ศ.2478 – 2482 และแม้ว่าจะถูกรื้อลงแล้วในปี พ.ศ. 2550 ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพระเมรุหลังนี้…” แต่เมรุวัดไตรมิตรนี้ก็ได้กลายเป็นต้นแบบเมรุถาวรของประชาชนที่กระจายไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน

ติดตามเรื่องราว #สุดฝีมือเพื่อพ่อ ทั้งหมดได้ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ที่ room ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไทย ผ่านทุกกระบวนการสร้างสรรค์พระเมรุมาศ รวบรวม เรียงร้อย และสรุปแนวความคิดการออกแบบ ความร่วมมือร่วมใจของงานช่างไทยหลากหลายสาขาที่ทุ่มเทสุดฝีมือเพื่อถ่ายทอดความทรงจําและความรักด้วยการถวายงานแด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

 

อ่านต่อ :โปรเจ็กต์สุดฝีมือเพื่อพ่อ

สุดฝีมือเพื่อพ่อ : ภูมิทัศน์ในมณฑลพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9


เรื่อง กรกฎา, monosoda
ภาพปก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ภาพ ศุภวรรณ, ศุภกร, อภิรักษ์, อนุพงษ์, นันทิยา, สรวิชญ์
ภาพประกอบ patit