5 ครอบครัวพอเพียง อยู่อย่างพอดีก็มีสุข

ถ้าพูดถึงความพอดี จะตีความหมายให้เหมือนกันหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะความพอดีนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละบุคคล

แต่ความพอดีที่ดีนั้นน่าจะใกล้เคียงกับความพอเพียง ซึ่งหมายถึงการมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่มาก ไม่น้อย  ไม่เบียดเบียน มีกินมีใช้อย่างพอประมาณ ซึ่งครั้งนี้บ้านและสวนได้รวม 5 ครอบครัวที่อยู่บนพื้นฐานแห่งความพอเพียง และมีบ้านแบบพอดีๆ มาฝากกัน เผื่อใครอยากลองยึดปฏิบัติตามก็น่าสนใจไม่น้อยเลย

บ้านหลังแรก

บ้านของครอบครัวโตรอนซังที่อยู่ในหมู่บ้านจันทราซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ อ.ปาย ประกอบไปด้วยคุณฮารูกะ-ภรรยา ลูกชายและลูกสาว เขาอยู่เมืองไทยมาได้ 11 ปีแล้ว เพราะชอบที่อากาศดี ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และผู้คนเป็นมิตร นอกจากเป็นเสมือนผู้ใหญ่บ้าน เขายังเป็นนักเขียน มีผลงานตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นและเล่นเครื่องดนตรีญี่ปุ่นโบราณได้หลายชนิด บ้านของเขาสร้างด้วยไม้ไผ่ เป็นเรือนเครื่องผูก ใต้ถุนบ้านจัดเป็นมุมนั่งพักหลบแดด มีวิวภูเขาให้มองไปได้กว้างไกล ทางขึ้นบ้านมีธงญี่ปุ่นปักไขว้กันและบนบ้านมีพรับรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประดับไว้บนผนัง ครัวและห้องน้ำปลูกแยกออกไปจากเรือนแต่เดินถึงกันได้สะดวก อากาศในตอนเช้าจะหนาว ในหมู่บ้านนี้เป็นชุมชนเล็กๆของชาวญี่ปุ่นที่ดำรงชีวิตอย่างแสนจะถ่อมตนและนอบน้อมกับธรรมชาติ บ้านของพวกเขาเป็นบ้านที่สร้างอย่างเรียบง่ายจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ชีวิตของพวกเขาที่นี่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา มีเพียงน้ำจากลำเมืองเล็กๆและแสงเทียนในยามค่ำคืน แต่ทุกคนดูมีความสุขและพอใจกับวิถีชีวิตที่เลือก

บ้านหลังที่ 2

บ้านอีกหลังในหมู่บ้านจันทรา หมู่บ้านเล็กๆในเชียงใหม่ที่สร้างขึ้นจากดิน เป็นบ้านของ “คุณเคมซัง” ชาวญี่ปุ่น ผู้เป็นทั้งศิลปินเขียนภาพ เขียนหนังสือและเล่นดนตรี บ้านดินของเคมซังน่าอยู่มาก เขาบอกว่า อยากสร้างบ้านที่เป็นเหมือนเต็นท์แต่ดูถาวรกว่า เคมซังเรียกบ้านของเขาว่า “เต็นท์สไตล์” นั่นคือสามารถเข้า-ออกได้สะดวกใกล้ชิดกับธรรมชาติ เขาสร้างบ้านโดยทำเป็นโครงระแนงไม้ไผ่ แล้วฉาบด้วยดินในพื้นที่ที่ผสมกับฟางข้าว มูลวัวและมูลช้าง พื้นผิวดินของบ้านเคมซังนั้นเนียนจนน่าทึ่งราวกับปูนขัดมันแต่ไม่แข็งกระด้าง ส่วนประตูและหน้าต่างทำด้วยไม้ไผ่ แล้วขึงกระดาษสาแบบบ้านชาวญี่ปุ่นโบราณ เมื่อเข้าสู่ภายในจะมีพื้นที่โล่งๆที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ ทั้งรับรองแขก ทำงานและเป็นแกลเลอรี่ ใกล้กันมีครัว เตาที่ใช้นั้นก่อด้วยดินเช่นกัน ใช้งานได้ดี สวยงามน่ามองและไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อเลย

อ่านต่อ : หมู่บ้านจันทรา

บ้านหลังที่ 3

3 คำที่อธิบายลักษณะของบ้านไม้หลังนี้ได้ดีก็คือ เรียบง่าย กลมกลืนมีวัฒนธรรม บ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังนี้ ชั้นบนเปิดโล่งเป็นมุมพักผ่อนที่ดูโปร่งและสบาย มีชั้นลอยเล็กๆ เป็นห้องทำงาน ส่วนใต้ถุนเป็นครัวเจ้าของต้องการให้เป็นพื้นที่ที่สัมผัสวัฒนธรรมความเป็นไทย และรบกวนโลกให้น้อยที่สุด จึงจัดการการใช้น้ำอย่างดี เช่น การนำน้ำที่ล้างจานแล้วส่งต่อไปตามท่อเพื่อรดน้ำต้นไม้ พยายามลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ นอกจากนี้ยังปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองด้วยถือเป็นบ้านที่เรียบง่าย พอเพียง และยังให้ความสำคัญกับธรรมชาติและโลกอีกด้วย

เจ้าของ : คุณอลิศาตั้งและคุณลองดรีย์ดูนองด์
ออกแบบ : บริษัท Site-Specific จำกัด โดยคุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์
อ่านต่อ The Happy Home

อ่านต่อ บ้านพอเพียง