ราชรถ การอัญเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุท้องสนามหลวง และอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่พระบรมมหาราชวังนั้นตามโบราณราชประเพณีจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ ซึ่งเรียกกันว่า “ ริ้วขบวน ” มีราชรถอัญเชิญแวดล้อมด้วยเครื่องประกอบอิสริยยศและเครื่องประโคม
ราชรถ และราชยาน หรือยานชนิดคานหาม ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในพระราชพิธีในริ้วขบวน ประกอบด้วยพระมหาพิชัยราชรถ พระที่นั่งราเชนทรยาน ราชรถปืนใหญ่ ราชรถน้อย พระยานมาศสามลำคาน
จากข้อมูลในหนังสือเรื่อง “พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” ของศาสตราจารย์พลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ กล่าวไว้ว่า “ราชรถเป็นเครื่องประดับราชอิสริยยศพระเจ้าแผ่นดินอย่างหนึ่ง มีหลักฐานแน่ชัดว่าเพิ่งมีในสมัยอยุธยาจัดอยู่ในเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์…
“ราชรถที่ใช้สำหรับเชิญพระบรมศพหรือพระบรมอัฐิได้เริ่มใช้กันตั้งแต่เมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐาน แต่มีหลักฐานในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาทรงใช้ราชรถเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช…”
ราชรถได้รับการสร้างให้มีรูปร่างลักษณะที่วิจิตรพิสดาร ขับเคลื่อนโดยใช้กำลังคนลาก จึงเป็นเครื่องประดับเกียรติของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีเท่านั้น มิใช่พาหนะสำหรับเดินทาง แต่เนื่องจากราชรถในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นในสมัยเสียกรุงฯครั้งที่ 2 ราชรถทั้งหมดที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นการสร้างขึ้นใหม่ตามพระบรมราชโองการในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1
ในพระราชพิธีครั้งนี้ อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร คือ การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและราชยาน รวมถึงการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่โดยกรมสรรพาวุธทหารบก งานบูรณะส่วนใหญ่ได้ยึดถือตามภูมิปัญญาและขนบประเพณีดั้งเดิม โดยบางส่วนอาจมีการอนุรักษ์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุสมัยใหม่เพื่อช่วยประหยัดเวลาและให้เหมาะสมกับการใช้งานในยุคสมัยปัจจุบัน
การบูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งราเชนทรยาน
พระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิมนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2353 และเป็นต้นแบบในการจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยขึ้นอีกองค์ ซึ่งมีสัดส่วนรายละเอียดใกล้เคียงกัน
ในการบูรณะลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์ครั้งนี้ ทางสำนักช่างสิบหมู่ได้มีการขัดแต่งลอกผิวไม้สักของพระที่นั่งเพื่อขัดเซาะให้ลวดลายแกะสลักคมชัดเหมือนแรกสร้าง จึงพบว่ากรรมวิธีการปิดผิวด้วยยางรักของช่างโบราณนั้นช่วยยืดอายุเนื้อไม้สักอายุกว่า 200 ปี ให้ยังคงสภาพเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นในการบูรณะครั้งนี้ทางช่างฝีมือจึงนำภูมิปัญญาการลงรักปิดทองแบบโบราณมาประยุกต์และทดลองใช้ร่วมกับวัสดุชนิดใหม่ เพื่อช่วยย่นระยะเวลาการทำงานให้แล้วเสร็จไวขึ้น
หลังจากเสร็จขั้นตอนการขัดแต่งผิวและเช็ดทำความสะอาดให้แห้งแล้ว จึงทาด้วยยางรักจากจีนซึ่งมีคุณสมบัติขุ่นใสและแห้งไว จากนั้นทาทับด้วยยางรักไทยซึ่งมีมวลเนื้อยางมากกว่า ผสมกับยางรักจีนเพื่อช่วยให้ชิ้นงานแห้งไว และด้วยความที่เป็นไม้เก่าบางจุดจึงต้องโป๊ผิวด้วยสมุกที่ทำจากผงป่นกะลาเผานวดกับรักจนเนียน โดยต้องขัดผิวไม้ให้เรียบเนียนก่อนแล้วจึงค่อยทารัก ปิดทอง และประดับกระจกตามขั้นตอน
ผ้าลายทองแผ่ลวด
เป็นรูปแบบงานผ้าของช่างสนะที่ใช้กับพระวิสูตรและธงสามชาย โดยนำแบบลวดลายมาผนึกบนกระดาษน้ำตาลแล้วจึงตอกลายตามแบบ นำกระดาษฉลุลายที่ได้มาทาเชลแล็ก 3 รอบแล้วปิดทอง ตัดกระจกแก้วเป็นชิ้นเล็กๆมาติดที่ด้านหลังตามลายและสอดผ้าสี เมื่อพลิกขึ้นมาจะได้ลายสีทองประดับกระจกบนพื้นสีเหลือง แล้วจึงค่อยนำมาเย็บไค่ลาย ด้วยมือ หรือการเย็บด้ายเล็กคร่อมด้ายใหญ่ โดยให้ด้ายใหญ่ล้อไปตามขอบลาย ถือเป็นอีกหนึ่งงานฝีมือโบราณที่ต้องใช้เวลาและความละเอียดประณีตอย่างสูง
- พระยานมาศสามลำคาน
สำหรับเชิญพระบรมโกศ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปประดิษฐานบน พระมหาพิชัยราชรถ
- พระมหาพิชัยราชรถ
สำหรับอัญเชิญพระโกศ ทองใหญ่ไปยังพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง
- ราชรถน้อย
มีทั้งหมด 3 องค์ สำหรับ สมเด็จพระสังฆราช และ พระบรมวงศานุวงศ์ประทับ ในริ้วขบวน
- ราชรถปืนใหญ่
สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระมหาพิชัยราชรถแห่อุตราวัฏ (เวียน ซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ก่อนขึ้นสู่พระเมรุมาศ
- พระที่นั่งราเชนทรยาน
สำหรับอัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิทุกรัชกาล
- พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
สำหรับอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธและวัดบวรนิเวศ วัดประจำรัชกาลที่ 9
อ่านต่อ :โปรเจ็กต์สุดฝีมือเพื่อพ่อ
ติดตามเรื่องราว #สุดฝีมือเพื่อพ่อ ทั้งหมดได้ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ที่ room ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบั
เรื่อง กรกฎา, monosoda
ภาพปก วศินบุร
ภาพ ศุภวรรณ, ศุภกร, อภิรักษ์, อนุพงษ์, นันทิยา, สรวิชญ์
ภาพประกอบ patit