“พื้นที่จำกัด” อาจทำให้ใครหลายคนขยาดและคิดไปว่าคงจะเป็นอุปสรรคต่อการออกแบบพื้นที่ในบ้านให้เพียงพอต่อการใช้งาน แต่สำหรับ คุณเอก – สาริน นิลสนธิ เขาได้เนรมิต บ้านปูนขนาดเล็ก ให้กลายเป็นพื้นที่เฉพาะ โดยใส่ฟังก์ชันการใช้งานลงไปอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็มีการออกแบบที่เอื้อต่อการใช้งานพื้นที่เล็กๆ ให้รู้สึกสบายได้อย่างบ้านหลังใหญ่ ซึ่งผ่านวิธีคิดแบบทรอปิคัลโมเดิร์นและเทคนิคในการเชื่อมต่อพื้นที่เพื่อให้รู้สึกโปร่งสบายและได้ประโยชน์สูงสุด
เจ้าของ : คุณสาริน นิลสนธิ และคุณไพรินทร์ บุญพินิจ
ออกแบบ : D Kwa Architect
“ผมออกแบบ บ้านปูนขนาดเล็ก หลังนี้บนกระดาษ A4 หนึ่งแผ่น” คุณเอกเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี “คือพื้นที่มันน้อย ก็เลยพยายามใส่ฟังก์ชันทุกอย่างที่ต้องการให้ได้ภายในกระดาษหนึ่งแผ่น ชื่อ PSA ของบ้านนี้ก็มาจาก Paper Series A ครับ แต่ก็ไม่ถึงกับเอาพิกัดสัดส่วนของกระดาษ A4 มาใช้หรอกครับ แค่เป็นความพยายามขำๆที่ออกมาลงตัวเท่านั้นเอง”
ผมอยากจะเรียกบ้านหลังนี้ว่าเป็น “Compact Tropical” เพราะมีการออกแบบที่ใส่ใจเรื่องขนาดและสัดส่วนเป็นอย่างมาก แม้แต่แนวเสาและคานยังมีการเยื้องหลบกันอันเป็นผลมาจากการออกแบบแต่ละพื้นที่ให้ลงตัวมากที่สุด “เราไม่ได้ตั้งใจให้คานหรือเสาหลุดออกจากแนวของกันและกัน แต่ด้วยความที่พื้นที่มันเล็ก เราเลยต้องออกแบบพื้นที่ต่างๆให้พอดีมากที่สุด อันที่จริงคนที่จะใช้งานบ้านหลังนี้ได้ดีก็ต้องมีความสูงเท่าผมกับแฟนนี่แหละ”
แผ่นเหล็กขึ้นสนิมขนาดใหญ่คือสิ่งแรกที่เรามองเห็นได้ตั้งแต่หน้าบ้าน ซึ่งทำหน้าที่ช่วยกันความร้อนให้ส่วนออฟฟิศที่มีลักษณะเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ตั้งอยู่บนชั้นสอง ด้านล่างเป็นโรงจอดรถซึ่งโรยพื้นกรวดเล็กๆสร้างความต่อเนื่องตั้งแต่บริเวณหน้าบ้านเข้าไปจนถึงด้านใน
คุณเอกยังตั้งใจร่นระยะของรั้วเข้ามา เพื่อทำพื้นที่ระหว่าง “นอกรั้ว” กับ “ในรั้ว” จะเห็นว่าลานกรวดหน้าบ้านมีทั้งต้นไม้และม้านั่ง ความจริงแล้วพื้นที่เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้ ไม่ใช่เป็นการใช้พื้นที่ส่วนรวมอย่างที่เรามักเคยเห็นกัน ถัดเข้ามาด้านในจะเห็นโครงสร้างที่รับส่วนออฟฟิศดูเข้ากันดีกับเสา H – Beam ที่ปักลงกลางลานกรวด รวมถึงพื้นผิวของปูนเปลือยตลอดทั้งอาคาร ในอนาคตพื้นที่ใต้คอนเทนเนอร์จะกลายเป็นคาเฟ่ตามความตั้งใจของคุณเอกและภรรยา (คุณปลา – ไพรินทร์ บุญพินิจ) อีกด้วย
ภายในบ้านชั้นล่างจัดเป็นส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัว ที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกัน โดยแต่ละพื้นที่มีการออกแบบให้ระดับเพดานแตกต่างกันตามความเหมาะสม เป็นการแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนนั่งเล่นมีการใช้ดับเบิ้ลสเปซเพื่อความโปร่งและสร้างการระบายอากาศที่ดี ส่วนรับประทานอาหารและครัวจะมีเพดานลดต่ำลงมาเพื่อกดแสงไฟให้สร้างความจำเพาะให้แก่พื้นที่ บันไดเป็นแบบไม่มีราวจับเพื่อให้การใช้งานสามารถเข้าถึงได้จากหลายทาง เช่น อาจใช้นั่งเล่นในส่วนรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังออกแบบให้รับกับการใช้งานครัว โดยเป็นส่วนเก็บอุปกรณ์ครัว เครื่องเทศ เครื่องปรุง รวมถึงตู้เย็นอีกด้วย
ขึ้นไปชั้นบนเมื่อเลี้ยวซ้ายออกจากโถงบันไดจะเป็นทางเชื่อมไปยังคอนเทนเนอร์ที่ใช้เป็นส่วนออฟฟิศ คุณเอกออกแบบให้มีผนังถึงสามชั้นเพื่อป้องกันความร้อน ชั้นนอกสุดคือแผ่นเหล็กปล่อยผิวสนิมตามธรรมชาติ ซึ่งมองเห็นโดดเด่นตั้งแต่หน้าบ้าน โดยจะทำหน้าที่ช่วยบังแดด ต่อมาจึงเป็นพื้นผิวของตัวคอนเทนเนอร์เองซึ่งมีคุณสมบัติกันน้ำเข้าได้ จากนั้นจึงเป็นฉนวนกันความร้อนและกรุไม้อัดไว้ภายในเพื่อความเรียบร้อย บริเวณชั้นสองยังมีห้องนอนแขกซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องอ่านหนังสือ ในอนาคตเมื่อเปิดคาเฟ่แล้ว ห้องนี้จะกลายเป็นที่พัก Airbnb สำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
สำหรับห้องนอนหลักสามารถเข้าถึงได้จากหลังบ้าน และทางเดินด้านข้างครัว คุณเอกออกแบบเป็นอาคารอีกหลังหนึ่ง ในยามที่ส่วนด้านหน้าทั้งหมดเปิดเป็นคาเฟ่และที่พักแล้ว ห้องนอนก็ยังคงความเป็นส่วนตัวและสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านส่วนอื่นๆเลย ตัวอาคารนี้จะยกพื้นขึ้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันความชื้น เปิดช่องแสงด้านบนซึ่งติดกับที่ว่างระหว่างครัวกับห้องนอนเพื่อรับแสงสะท้อนแบบ Indirect Light ให้ฉาบไล้ไปยังผนังปูนเปลือย ก่อนจะสร้างความสว่างให้ห้องนี้
นอกจากการออกแบบให้แต่ละพื้นที่มีระดับและสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่แสดงถึงสัจจวัสดุแล้ว สิ่งที่ทำให้บ้านขนาดพอดีหลังนี้ดูน่าสบายแม้จะมีพื้นที่น้อยก็คือการเปิดช่องลมและช่องแสงในจังหวะที่พอดี คุณเอกออกแบบให้หลายๆส่วนของบ้านเปิดรับแสงธรรมชาติ แม้ในส่วนที่ยากจะเข้าถึง เช่น การเว้นระยะระหว่างครัวกับห้องนอนให้มีพื้นที่ระหว่างกัน 1 เมตร โดยที่ไม่มีหลังคามาบดบัง ทำให้แสงแดดสามารถสะท้อนจากผนังเข้ามาในครัวได้ ทั้งยังช่วยให้มีอากาศไหลเวียนได้ทั่วถึงในทุกส่วนของบ้าน แม้แต่ต้นไม้ใหญ่ที่หน้าบ้านซึ่งออกแบบให้ปลายยอดของต้นแทงทะลุขึ้นไปถึงชั้นสองรับกับหน้าต่างบานใหญ่ของออฟฟิศ คุณเอกเล่าว่าต้นไม้ต้นนี้อยู่ในการออกแบบมาตั้งแต่ต้น ทั้งช่องแสงและพื้นที่สีเขียวเหล่านี้คุณเอกเรียกว่า “ช่องหายใจ” เพื่อให้ทุกห้องมองเห็นกันและกันได้ ผู้อยู่อาศัยมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติภายนอก พร้อมปล่อยให้สายลมและแสงแดดช่วยเติมเต็มความน่าอยู่ให้แก่บ้าน
คุณเอกจึงเปรียบบ้านหลังนี้เหมือนการ “สั่งตัดเสื้อ” ที่จะต้องมีการวัดไซส์ สอบถามรสนิยม เพื่อให้ลงตัวและเกิดความสบายต่อผู้สวมใส่อย่างที่สุดนั่นเอง
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล