ธรรมดา เป็นพิเศษ
เรื่อง : อภิรักษ์ สุขสัย
…หากใครมีโอกาสได้ดำรงอยู่ในสถานะสูงสุดของประเทศ และมีทุกอย่างเพียบพร้อม ใครหลาย ๆ คนคงใช้โอกาสทองของชีวิตแบบนี้ เร่งหาความสุขกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง จะใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย งานการไม่ทำ ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แถมคิดด้วยว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับใครสักคนที่มีสถานะแบบนั้น
แต่ใครคนหนึ่งซึ่งได้มีโอกาสขึ้นสู่สถานะนั้นตั้งแต่ยังหนุ่มกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม
ใครคนนั้นใช้ชีวิตส่วนตัวแบบปกติธรรมดา ดูได้จากข้าวของเครื่องใช้ประจำกาย ที่เน้นเพื่อการใช้งานเป็นหลัก และใช้อย่างคุ้มค่า
ใครคนนั้นทำงานแทบทุกวัน หลาย ๆ งานไม่ใช่งาน สบายอยู่ในห้องปรับอากาศเย็นฉ่ำ แต่เป็นงานที่ต้องออก พื้นที่ทุรกันดาร ลำบากตากแดดกรำฝนทั้งวัน ทั้ง ๆ ที่ โดยสถานะที่เป็นอยู่ไม่ต้องพาตัวเองออกไปลำบากแบบนั้น แค่สั่งการแล้วรอฟังรายงานก็ได้
งานที่ทำก็ล้วนแต่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อคนอื่นล้วน ๆ
คนอื่นซึ่งไม่ใช่แม้แต่คนรู้จักด้วยซ้ำ คนอื่นซึ่งอยู่ในสถานะปกติธรรมดา ที่หากคนเจ้ายศ-เจ้าอย่างถือตัวคงไม่คิดลดตัวมายุ่งด้วย เพราะห่างชั้นกัน ถึงขนาดถูกเปรียบว่าต่ำกว่า “ฝุ่นดินใต้เท้า”
และใครคนนั้นทำงานแบบนี้มาตลอดที่ดำรงอยู่ในสถานะนั้น ทำโดยไม่เคยออกปากเรียกร้องสิ่งใดตอบแทน แล้วยังคอยพร่ำสอนเสนอแนะในสิ่งที่ทำได้จริงและพึ่งพาตัวเองได้
ถ้าเป็นคุณ คุณจะทุ่มเททำเพื่อคนอื่นแบบนี้ไหม ถ้าคนอื่นนั้นไม่ใช่คนพิเศษสำหรับคุณ
เวลา 70 ปีคงมากเกินพอที่จะทำให้รู้ว่าประชาชน คนไทยธรรมดาทุกคนเป็นคนพิเศษสำหรับใครคนนั้น…
…ข้อความข้างต้นไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับภาพที่นำมาแสดงในคอลัมน์นี้ จะเกี่ยวเล็กน้อยก็ตรงที่เป็นภาพธรรมดา จาก 3 ช่างภาพธรรมดา ที่อยากมาร่วมถ่ายทอดความรู้สึกของคนธรรมดาที่มีต่อ “ใครคนนั้น”…คนพิเศษของพวกเขา ในช่วงเวลาพิเศษที่คนไทยทุกคนไม่มีวันลืม
room ชวนร่วมเก็บบันทึกภาพถ่ายชุด #สุดฝีมือเพื่อพ่อ โดย 3 ช่างภาพ อภิรักษ์ สุขสัย, พีรพันธุ์ วิจิตรไกรวิน และนฤดล มหาวัน จากคอลัมน์ Photo Essay ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560
“ตลอดชีวิตที่ผ่านมา โอกาสเดียวที่ผมได้ใกล้ชิด พระองค์ท่านคือการรับ พระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ของพระองค์
“ลายฉลุ ‘ครุฑยุดนาค’ ที่ประดับบนหีบพระบรมศพจันทน์นี้พิเศษสำหรับผมในแง่ที่มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับ สิ่งที่เชื่อมโยงถึงพระองค์ท่าน
“แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ เข้าไปสัมผัสการทำงานของ เหล่าช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ ที่มาร่วมกันสร้างสรรค์งาน ในวาระนี้ ได้เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจที่ฉายชัดออกมาจาก แววตา เป็นช่วงเวลาหม่นเศร้า แต่กลับให้พลังในทางบวก”
– อภิรักษ์ สุขสัย –
ช่างภาพ
http://www.baanlaesuan.com/81704/room/room-photo-essay/2/
ติดตามเรื่องราว #สุดฝีมือเพื่อพ่อ ทั้งหมดได้ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ที่ room ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไทย ผ่านทุกกระบวนการสร้างสรรค์พระเมรุมาศ รวบรวม เรียงร้อย และสรุปแนวความคิดการออกแบบ ความร่วมมือร่วมใจของงานช่างไทยหลากหลายสาขาที่ทุ่มเทสุดฝีมือเพื่อถ่ายทอดความทรงจําและความรักด้วยการถวายงานแด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย