Design for Disasters: กู้วิกฤต ด้วยงานออกแบบ

ภาพความสูญเสียหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ บอกเราว่า ความยุติธรรมของธรรมชาติก็เป็นเรื่องที่โหดร้าย และไม่เคยมีครั้งใดน่ายินดี

Design for Disasters” คือกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่เกิดจากแรงฝันของ “วิภาวี คุณาวิชยานนท์” นักออกแบบผู้ริเริ่มและชักชวนผู้คนเข้ามาร่วมมือกันใช้ความรู้ ทักษะ และหัวใจ เยียวยา แก้ปัญหา และหาหนทางเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ ให้กับผู้ประสบภัยที่ตกเป็นจำเลยของภัยธรรมชาติโดยไม่ทันตั้งตัว รวมถึงใครก็ตามที่ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติซึ่งเปลี่ยนแปลงเสมอ แน่นอนว่าแม้แต่เหล่าคนเมืองทั้งหลายก็ไม่พ้นจากความเสี่ยงดังกล่าว

Design for Disasters

ขึ้นต้นชื่อองค์กรด้วยคำว่า “Design” บอกว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการออกแบบ นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่มาเข้าร่วมมีทั้งศิลปิน นักออกแบบ นักวิชาการ และบุคคลทั่วไปหลากหลายสาขาอาชีพ งานที่พวกเขาสรรค์สร้างจึงเกิดจากการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดอย่างหลากหลาย ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างเป็นระบบ ด้วยหลักคิดที่ต้องการสร้างนวัตกรรมเพื่อเยียวยาปัญหาการดำรงชีวิตหลังภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

Design for Disasters
การทดลองอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินในช่วงน้ำท่วม ปี 2010 ของ D4D

บทบาทตรงนี้ไม่ใช่ภาพของการช่วยเหลือที่เราได้เห็นบ่อย นอกเหนือจากอาหาร ยา และสาธารณูปโภคฉุกเฉินพื้นฐานที่ผู้คนทุ่มช่วยเหลือผู้ขาดแคลน “Design for Disasters” ซ่อมแซมสิ่งที่พร่องไปในภัยพิบัติด้วยสิ่งที่พวกเขาถนัด นั่นคือ “งานออกแบบ” ที่เขาพิสูจน์การทำงานมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี และมีผลงานมากมายที่ปรากฏบนหน้าสื่อทั้งในและนอกประเทศ

“ห้องเรียนพอดีพอดี” คือหนึ่งในผลงานนั้น สถาปนิก 9 คน ได้แก่ สุริยะ อัมพันศิริรัตน์, หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ, จีรเวช หงสกุล, ปิตุพงษ์ เชาวกุล, ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ, กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล, จูน เซคิโน, ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล และ ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ออกแบบโรงเรียน 9 โรงเรียนในจังหวัดเชียงราย ที่เสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ในปี 2557 โครงการสร้างโรงเรียนทั้ง 9 หลังเริ่มทยอยออกแบบและก่อสร้างมาตั้งแต่ปีดังกล่าว และหลังสุดท้ายกำลังจะสิ้นสุดการก่อสร้างในปลายปีที่จะถึงนี้

Design for Disasters
โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) ออกแบบโดย CHAT Architects
Design for Disasters
โรงเรียนบ้านดอยช้าง ออกแบบโดย Site-Specific : Architecture & Research

ห้องเรียนพอดีซึ่งสร้างสรรค์จากสถาปนิกมืออาชีพผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจและความรู้ในวิชาชีพทั้ง 9 คน สำเร็จออกมาเป็นโรงเรียน 9 หลัง 9 แบบ มีฟังก์ชันแตกต่างกันตามความต้องการที่ไม่เหมือนกันของผู้คนใน 9 โรงเรียน บ้างเป็นห้องเรียน  บ้างเป็นอาคารเอนกประสงค์ บ้างเป็นพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียน มีรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแตกต่างกันไปตามบริบทเฉพาะสถานที่นั้น ๆ อย่างไรก็ตาม นอกจากสิ่งที่ต่าง สิ่งที่ทั้ง 9 หลังมีเหมือนกันนั่นคือนวัตกรรมในสถาปัตยกรรมซึ่งถูกออกแบบให้รับรองความปลอดภัยและอุ่นใจให้กับนักเรียน คุณครู รวมถึงคนชุมชนในละแวกได้หากวันดีคืนร้ายผ่านซ้ำเหตุการณ์อีกระลอก และที่สำคัญที่สุด คือความภาคภูมิใจของทั้งผู้สร้างและผู้ใช้งาน ที่กล่าวได้เต็มปากว่าพวกเขาร่วม “สร้าง” สิ่งนี้ ขึ้นมาด้วยกัน

จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ฟังกลุ่ม Design for Disasters เล่าเรื่องความภูมิใจดังกล่าว ผ่านตัวแทนได้แก่ ผู้ริเริ่มองค์กร – คุณวิภาวี คุณาวิชยานนท์ ร่วมด้วยคุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล จาก CHAT Architects และคุณชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ จาก Site-Specific : Architecture & Research บนเวทีที่กำลังจะเกิดขึ้น

เพราะเราเชื่อว่าจิตสำนึกอันดี จะสามารถส่งต่อพลังสร้างสรรค์ให้เราเฟ้นหาบทบาทของตัวเองได้ ในวิกฤตใดก็ตามของสังคมที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน

Design for Disasters

สำหรับใครที่อยากร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับคุณวิภาวี, คุณฉัตรพงษ์ และ คุณชุตยาเวศ ในหัวข้อ “DISASTER RELIEF DESIGN : บรรเทาวิกฤติด้วยการออกแบบ” พบกันได้ในงานเสวนา Room x  Living ASEAN Design Talk ครั้งที่ 3 “Conscious Design : ออกแบบด้วยจิตสำนึก” วันเสาร์ที่ พฤศจิกายนนี้ เวลา 14.00-16.00 น. ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2017 โซน Room Pavilion, อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำรองที่นั่งฟรีที่ www.baanlaesuan.com/designtalk-register