บ้านตัวอย่าง “หารร่วมมาก” ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2017

บ้านตัวอย่าง “หารร่วมมาก” ในงานบ้านและสวนแฟร์2017

เมื่อความหมายของคำว่า “บ้าน” ได้รับการตีความใหม่  โดยกลุ่มสถาปนิก “ใจบ้าน” และ “ฮอมสุข” จากจังหวัดเชียงใหม่

ออกแบบ : กลุ่มสถาปนิก “ใจบ้านสตูดิโอ”  และ “ฮอมสุข สตูดิโอ”

บ้านที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวซึ่งมีความปลอดภัยและสะท้อนตัวตนที่ตอบสนองการใช้ชีวิตส่วนตัว แต่สถาปนิกกลุ่มนี้กลับมองว่าพื้นที่ส่วนตัวไม่ใช่สิ่งที่บอกถึงแก่นของคำว่า “บ้าน” เสียทีเดียว

หารร่วมมาก

หารร่วมมาก จึงกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของบ้านตัวอย่างในงานบ้านและสวนแฟร์ 2017 “เราจะไม่ลืม” ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกฉงน เพราะจากบทเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ ที่เด็กไทยคุ้นเคย จะเกี่ยวข้องกับการออกแบบบ้านได้อย่างไร ไปร่วมหาคำตอบด้วยกันค่ะ

 

แก้โจทย์ ห.ร.ม.

คุณภควัต สัตตะรุจาวงษ์ สถาปนิกจากบริษัทใจบ้านสตูดิโอ จำกัด หนึ่งในผู้ออกแบบ “บ้านหารร่วมมาก” กล่าวถึงแนวคิดของบ้านตัวอย่างหลังนี้ว่า

  “บ้านตัวอย่างหลังนี้ไม่ใช่แค่บ้านที่โชว์ดีไซน์จัดจ้าน ไม่ได้มีองค์ประกอบอะไรโดดเด่น  เพราะเราให้ความสำคัญกับแนวคิดมากกว่าครับ ซึ่งเกิดขึ้นจากการตีโจทย์คำว่า ‘บ้าน’ ในแบบที่แตกต่างออกไป เราสนใจบ้านที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม จากเดิมที่ใครๆ ต่างมองว่าบ้านคือพื้นที่ส่วนตัว แต่เราอยากให้ลองมองในมุมมองใหม่ๆ ดูบ้าง เพราะเราคิดว่าบ้านเป็นพื้นที่ส่วนรวมได้ โดยได้ศึกษากรณีตัวอย่าง ซึ่งเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน  ชอบเรื่องเดียว และมาอาศัยอยู่ร่วมกัน  เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องอาชีพการงานและการช่วยเกื้อกูลทางจิตใจ เมื่อเราได้ลงพื้นที่ศึกษาจริงๆ จึงอยากจะนำเสนอแนวคิดนี้ให้เป็นทางเลือกสำหรับชุมชนเมือง  แล้วเราก็ตั้งคำถามต่อไปว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างชุมชนแบบนี้ให้เกิดขึ้นได้ และกลายมาเป็นบ้านตัวอย่างหลังนี้”

ไอเดียการจัดบ้านไม้

ใจบ้าน + ความสุข = เอกภาพจากการหารสอง

เมื่อมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนพื้นที่ส่วนตัวให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ  บริษัทใจบ้าน สตูดิโอ จำกัด กลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ที่สนใจงานออกแบบในแง่ความสัมพันธ์ของชุมชน จึงได้ชักชวนกลุ่มสถาปนิกรุ่นน้องอย่าง ฮอมสุข สตูดิโอ เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของบ้าน  “หารร่วมมาก” สถาปนิกทั้งสองกลุ่มร่วมแบ่งสัดส่วนของงานตามที่แต่ละกลุ่มถนัด  โดย “ใจบ้าน” รับหน้าที่ค้นหาไอเดียที่เป็นแก่นแท้ของแนวคิด ในขณะที่ “ฮอมสุข” เป็นหน่วยจัดการให้ไอเดียเหล่านั้นกลายเป็นภาพที่จับต้องได้  บางจุดก็เกิดจากแนวคิดของ “ฮอมสุข” ซึ่งรุ่นพี่ทำหน้าที่ส่งเสริม คัดเลือก ชี้แนะ ให้ออกมาเป็นบ้านหารร่วมมากที่ทั้งสองกลุ่มร่วมกันสร้างขึ้น

เรือนหมู่ บ้านหารร่วมมาก

แม้จะมีความใกล้เคียงในแง่ของการใช้งาน  แต่บ้านหารร่วมมากก็ไม่เชิงว่าจะเหมือนเรือนหมู่เสียทีเดียว ข้อแตกต่างคือเรือนหมู่เป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยแบบครอบครัวขยาย กลุ่มคนจึงเป็นเครือญาติกัน แต่สำหรับบ้านหารร่วมมาก เป็นแนวคิดที่เปิดกว้างให้คนที่รู้จักกัน ชอบในสิ่งเดียวกัน มาใช้ชีวิตร่วมกันในบริเวณบ้านเดียวกัน  แต่ก็มีพื้นที่ส่วนตัวด้วย

ชมสวนผักหน้า 2