บันทึกจากจุดเริ่มต้นสู่สิ้นสุด : ความทรงจำของก้อนดิน
ถึงวันนี้สิ่งที่คุณวศินบุรีสร้างสรรค์ไม่ใช่เพียง “กระถาง” แต่คือกระบวนการสร้าง “ความทรงจำร่วม” จากก้อนดินสู่แป้นหมุน จากถังเคลือบสู่เตาเผา จากปลายพู่กันเขียนสีจนไปสิ้นสุดที่สนามหลวง ทุกช่วงเวลา ทุกขั้นตอน ล้วนมีความทรงจำใหม่เกิดขึ้นจากสมองและสองมือของทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจ และอีกสิ่งหนึ่งที่เขาตั้งใจอย่างสุดฝีมือก็คือการเก็บรวบรวมความทรงจำเหล่านั้นผ่าน “ภาพถ่าย”
“ผมตั้งใจบันทึกจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด อย่างงานนี้จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างมาจากก้อนดินก้อนหนึ่งคุณค่าของมันอยู่ที่การตีความว่าจะนำดินก้อนนั้นมาใช้อย่างไร บางคนอาจนำดินมาถมที่ บางคนนำดินมาปั้นเป็นภาชนะ ทั้งหมดคือการตีความคุณค่าของวัสดุที่คนอื่นเห็นเหมือนกันหมด แต่นำมาสร้างคุณค่าต่างกัน”
“สำหรับเราการนำดินมาใส่ความหมายตามยุคสมัยผ่านรูปแบบและจินตนาการที่ต้องการ แล้วตีโจทย์ออกมาเป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง ไม่ใช่เพียงเพื่อใช้แทนความรู้สึก ความรัก และความทรงจำที่มีต่อพระองค์ท่านของพวกเราฝ่ายเดียว และถ้าสิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกของคนอื่นที่ได้พบเห็นให้ซาบซึ้งตามไปกับเรา ก็ถือเป็นโชคดี”
“ตอนทำงานนี้ก็เหมือนเป็นบททดสอบ กว่าจะมาเป็นกระถางแต่ละใบ ก้อนดินต้องผ่านขั้นตอนมากมายคล้าย ๆ กับแบบจำลองของชีวิตคน ดินถูกเหยียบ ถูกนวดไม่ต่างกับการที่เราเรียนรู้จากอุปสรรค พอดินถูกปั้นขึ้นเป็นรูปทรงแล้วก็ต้องถูกเผาให้แกร่ง เช่นเดียวกับชีวิตที่ต้องเอาชนะกิเลสต่าง ๆ กว่าจะกลายมาเป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความสมบูรณ์ที่สุดอยู่ดี เป็นแค่ความสมบูรณ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดินจึงเป็นวัสดุที่แทนความหมายของชีวิตคนได้”
“ผมถ่ายภาพบันทึกความทรงจำไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มออกแบบ แก้แบบ ปรับแบบ คนงานคนแรกเริ่มนำดินก้อนแรกมาอัดในแม่พิมพ์ เสียหายไหม สมบูรณ์ไหมมันคือทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ผมพยายามเก็บทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้ ทุกขั้นตอนและทุกกรรมวิธีให้เป็นความทรงจำของครอบครัว ไม่ได้หวังว่าจะถ่ายทอดเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชน เราไม่สามารถตัดสินใจหรือบอกได้หรอกว่าควรจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ไหน และไม่ได้ต้องการทำให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่ แต่อยากให้สิ่งนี้เป็นผลลัพธ์ที่ใช้แทนความรู้สึกของเราที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เท่านั้นเอง”
“ความทรงจำ” คือสิ่งที่ทรงอำนาจยิ่ง เป็นสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวและนำพาช่วงเวลาแห่งอดีตให้กลับมาโลดแล่นได้ดุจมีชีวิต แม้ผ่านไปอีกกี่ศตวรรษ กระถางดาวเรือง 90 กลีบใบนี้อาจได้รับการตีความใหม่อีกนับสิบนับร้อยหนแต่นั่นอาจไม่สำคัญ เพราะหน้าที่ของผลงานชิ้นนี้คือการเป็นตัวแทนความทรงจำของผู้คนที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างสุดฝีมือก็เพียงพอแล้ว…
เรื่อง | monosoda
ภาพ | ศุภกร
อ่านต่อ :โปรเจ็กต์สุดฝีมือเพื่อพ่อ