ไปทำโรงเรือนขนาดเล็ก สำหรับปลูกต้นไม้ข้างบ้าน ทำเองได้ไม่ยาก
ใครที่เป็นแฟนรายการช่างประบ้านกันบ้างยกมือขึ้นเลย! ซึ่งในครั้งนี้บ้านและสวนได้มีโอกาสติดตามพิธีกรสุดหล่ออารมณ์ดีทั้ง 2 คนไปบุกบ้านคุณมิ้ม – วรัปศร อัคนียุทธ บรรณาธิการสำนักพิมพ์บ้านและสวน เพื่อจะมาสร้าง โรงเรือนขนาดเล็ก สำหรับปลูกแคคตัสไว้ป้องกันน้ำฝนไม่ให้โดนต้นแคคตัสจนเน่าตาย ในพื้นที่เล็กๆ ข้างบ้านขนาด 1.70 x 2.40 เมตรเท่านั้นเอง
และแน่นอนว่าพิธีกรช่างประจำบ้านทั้ง 2 จะมาเผยขั้นตอนการทำ โรงเรือนขนาดเล็ก ที่คุณก็สามารถทำเองได้ภายใน 1 วันสำหรับใครที่อยากมีโรงเรือนไว้จัดเป็นมุมธรรมชาติน่ารักและน่ามอง อีกทั้งยังเสริมให้บ้านกับสวนดูดีขึ้นมาได้อีกด้วย ไปดูขั้นตอนการทำโรงเรือนกันเลยครับ
สามารถดูคลิปวิดีโอ Youtube ช่างประจำบ้านเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นตามลิ๊งค์นี้ได้เลย
หรือถ้าใครอยากได้ไอเดียการทำโรงเรือนแบบต่างๆ ก็สามารถไปซื้อหนังสือ Garden & Farm Vol.10 โรงเรือนข้างบ้าน ได้ที่นี่เลย : The BOOK HOUSE โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน
ขั้นตอนการทำโรงเรือน
อันดับแรกเลย ก่อนสร้างควรปรับระดับพื้นที่ที่จะสร้างโรงเรือนขึ้นมาให้มีระดับเสมอกัน โดยวิธีง่ายๆเพียงแค่นำทรายลงให้สูงประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นก็นำแผ่นอิฐมาปูทับอีกทีก็เป็นอันเรียบร้อย
ปูพื้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการออกแบบโรงเรือนให้มีความเหมาะสมกับตัวบ้าน ทั้งเรื่องดีไซน์และขนาดของโรงเรือน แต่หลักสำคัญอยู่ที่หลังคา โดยต้องให้หลังคาเอียง 12 องศา เพื่อการระบายน้ำที่ดีเพราะถ้าหลังคาเอียงน้อยเกินไปน้ำก็จะย้อนตกลงมาเข้าโรงเรือน
เมื่อออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปเตรียมตัวตัดไม้ที่คุณมิ้มมีเก็บไว้อยู่แล้วที่บ้าน โดยไปวัดขนาดไม้ที่จะมาทำเสาหน้า เสาหลัง คาน จันทัน แป แล้วใช้เลื่อยองศาตัดไม้ให้ได้ขนาดและองศาตามที่วาดแบบไว้
- เสาหน้า 2 ชิ้น ขนาด 1 1/2 นิ้ว x 3 นิ้ว ยาว 220 ซม. ด้านหนึ่งตัดให้มีองศาพอดีกับหลังคาที่เอียง
- เสาหลัง 2 ชิ้น ขนาด 1 1/2 นิ้ว x 3 นิ้ว ยาว 280 ซม. ด้านหนึ่งตัดให้มีองศาพอดีกับหลังคาที่เอียง
- คาน 2 ชิ้น ขนาด 1 1/2 นิ้ว x 3 นิ้ว ยาว 240 ซม.
- จันทัน 3 ชิ้น ขนาด 1 1/2 นิ้ว x 3 นิ้ว ยาว 220 ซม.
- แป 3 ชิ้น ขนาด 1 1/2 นิ้ว x 1 1/2 นิ้ว ยาว 280 ซม.
เริ่มจากการทำเสาหน้ากันก่อน โดยเราให้เสาหน้าด้านบนยึดกับหลังคาโครงเหล็กที่เป็นส่วนต่อเติมบ้านของคุณมิ้มเพื่อจะยืมพักแรง เพราะโครงสร้างของโรงเรือนมีน้ำหนักเบาจึงสามารถยืมพักแรงได้ ไม่ทำให้โครงสร้างบ้านหลักมีปัญหา จากนั้นใช้เหล็กประกับวัดจุดที่เจาะพื้นและไม้เพื่อยึดไม้เสาหน้า ใช้ดินสอกำหนดตำแหน่งเจาะเอาไว้
- ถ้าตำแหน่งโรงเรือนไม่สามารถไปยึดฝากน้ำหนักกับส่วนบ้านได้ ก็สามารถทำโครงสร้างแยกแล้วยึดติดกันเองให้แน่นได้
ก่อนเริ่มทำการเจาะใช้ c-clamp ยึดระหว่างเสากับจันทันเหล็ก(โครงสร้างเดิม) เพื่อฝากน้ำหนักเอาไว้ก่อน จากนั้นเจาะพื้นและเสาตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ แล้วฝังพุกเข้ากับคอนกรีตก่อน ติดเหล็กประกับและยึดด้วยสกรูทั้งพื้นและไม้เสาหน้าให้มั่นคง ทำแบบเดียวทั้งสองด้านก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับเสาหน้า
- พุกที่ใช้จะเป็น พุกพลาสติก ใช้ในการฝังเข้าไปกับพื้นคอนกรีต ก่อนขันสกรูเข้าไป
- ตรงส่วนที่ใช้ C-Clamp ยึดระหว่างเสาหน้าและจันทันหลังคาบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านมอง C-Clamp ที่ยึดไว้แล้วรู้สึกว่าสวยดีก็ไม่จำเป็นต้องเจาะเสาหน้ายึดกับแปหลังคาก็ได้ เพราะน้ำหนักเสาหน้าไม่มาก สามารถใช้ C-Clamp ยึดไว้ตามปกติก็ได้
มาทำที่เสาหลังกันต่อ นำไม้เสาหลังที่ทำการตัดได้ขนาดแล้วมาทำการตั้งศูนย์ให้ตรง โดยใช้เครื่องมือวัดระดับน้ำเป็นตัวช่วย จากนั้นนำประกับมายึดกำแพงและไม้ทั้งด้านบนและด้านล่าง ประกับด้านล่างใช้เป็นตัวใหญ่ ส่วนด้านบนใช้เป็นตัวเล็ก กำหนดตำแหน่งที่จะเจาะเรียบร้อยแล้วก็ทำการฝังพุกและเจาะทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำแบบนี้ทั้งสองด้านก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับเสาหลัง