บ้านโปร่งสบาย ใครๆก็อยากได้ แต่สภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย ที่เจอทั้งแดดจัดทั้งฝนชุ่มฉ่ำ ทำให้ภายในบ้านอุดอู้ตามไปด้วย บ้านไหนเจอปัญหานี้ ลองหาวิธีเพิ่มความปลอดโปร่งให้บ้านกันด้วยไอเดียเหล่านี้
บ้านโปร่งสบาย หลังนี้ เป็นบ้านของ คุณอินทนนท์และคุณธริศราย์ จันทร์ทิพย์ (ชมทุกมุมของบ้านหลังนี้ที่นี่) เจ้าของบ้านและสถาปนิกผู้ออกแบบได้ใช้ธรรมชาติเข้ามาเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ ทำให้บ้านปลอดโปร่ง เย็นสบาย ไม่อุดอู้ แม้ว่าจะเป็นบ้านในรูปแบบ Building Block ก็ตาม หลายคนอาจคิดว่าอาคารอุดอู้แบบนี้ไม่น่าจะอยู่สบาย เราจะมาถอดรหัสงานออกแบบของบ้านหลังนี้ให้ดูกันว่า Building Block ที่สร้างมาให้เหมาะกับภูมิอากาศของบ้านเรานั้นมีเคล็ดลับอะไรบ้าง
บ้านโปร่งสบาย
เติมเต็มพื้นที่ด้วยธรรมชาติแบบพกพา
การทำสวนช่วยให้บ้านอยู่สบายขึ้นอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมีพื้นที่เพียงพอกับการทำสวนเสมอไป สวนกระถางจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีน่าสนใจที่จะทำให้เราสามารถเติมเต็มธรรมชาติเข้าไปได้ในทุกมุมที่ต้องการ บ้านหลังนี้มีการใช้สวนกระถางในหลายๆพื้นที่ เมื่อนำมาจัดวางร่วมกันก็กลายเป็นพื้นที่แสนร่มรื่น
ปกป้องอาคารด้วยผนังไม้เลื้อย
ออกแบบให้ผนังด้านทิศใต้ทั้งผืนมีแนวไม้เลื้อยปกคลุม เพื่อป้องกันแสงแดดอันร้อนแรงไว้ชั้นหนึ่งก่อนที่จะสาดเข้ามาโดนผนังอาคาร นับเป็นวิธีป้องกันความร้อนจากภายนอกด้วยธรรมชาติที่เรียบง่ายแต่ให้ประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี อีกทั้งผนังด้านทิศเหนือในบางจุดก็ปลูกไม้เลื้อยเพื่อช่วยกรองแสงจ้าให้ดูสบายตาขึ้นอีกด้วย
มีป่าส่วนตัว…ก็อยู่สบาย
สวนของบ้านหลังนี้กินพื้นที่มากถึงครึ่งหนึ่งของบ้านเลยทีเดียว ซึ่งสวนนี้อยู่ทางด้านทิศเหนืออันเป็นทิศที่สามารถมองออกไปภายนอกได้โดยไม่แสบตา ด้วยพื้นที่ของสวนและต้นไม้ใหญ่ แม้จะไม่ใช่ทิศของลมประจำถิ่นอย่างทิศตะวันออกหรือตะวันตก แต่ลมที่พัดผ่านสวนนี้เข้าสู่ตัวบ้านก็จะเปลี่ยนจากลมร้อนๆมาเป็นลมเย็นๆทำให้ บ้านโปร่งสบาย เมื่อผ่านแนวไม้ก่อนจะเข้าสู่ตัวบ้านต่อไป
ใส่หมวกสีเขียวให้บ้าน
จัดสวนกระถางไว้บนดาดฟ้า เจ้าของบ้านค่อยๆปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆบนดาดฟ้า เพราะอาคารแบบ Building Block นั้นไม่มีหลังคาที่จะช่วยป้องกันแสงแดด วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการนำต้นไม้ขึ้นไปปลูกและในอนาคตร่มเงาจากไม้เหล่านี้ก็จะสามารถป้องกันความร้อนให้ดาดฟ้าได้ในที่สุดนั่นเอง
ดับเบิลฟาซาด ป้องกันได้มาก
การทำผนังสองชั้นแล้วเว้นระยะให้กลายเป็นระเบียง นอกจากจะสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายแล้ว ยังสามารถป้องกันพื้นที่ภายในบ้านจากความร้อนที่แผดเผาผนังภายนอกและแสงจ้าของแดดอันร้อนแรงได้อีกด้วย
ให้อากาศได้มีที่ไป
ในบางช่วงของระเบียงด้านทิศเหนือ เจ้าของบ้านยังได้เปิดพื้นที่โล่งเป็นระยะทั้งแนวตั้งและแนวนอนเพื่อให้ลมที่พัดผ่านเข้ามาได้ลอยออกไปตามหลักลมร้อนลอยขึ้นสู่เบื้องบน เป็นวิธีการระบายอากาศแบบ Stack Ventilation ที่ช่วยดึงลมเย็นๆเข้ามาแทนที่
บ้านเย็นด้วยสระน้ำ
สำหรับส่วนอับลมอย่างสำนักงานสถาปัตย์ชั้นล่างก็ออกแบบให้มีบ่อน้ำ ซึ่งเมื่อถูกแดดเผาน้ำในบ่อก็จะระเหย เป็นการช่วยลดอุณหภูมิของมวลอากาศโดยรอบ ทำให้พื้นที่ด้านล่างสามารถอยู่ได้สบายขึ้น แม้ว่าจะไม่มีลมโกรกเหมือนชั้นบนๆ
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์