แม้เรื่อง Generation เป็นเพียงทฤษฎีและความเชื่อเรื่องของ “ช่วงวัย” ที่ไว้อธิบายและทำความเข้าใจคร่าวๆ ว่าเป็นคนอย่างไร มีลักษณะแบบไหน และหากนับคนที่เกิดระหว่าง ช่วง พ.ศ. 2523-2540 ว่าเป็น “ยุคเจเนอเรชั่นวาย” (Generation Y) หรือ “ยุค Millennials” ซึ่งปัจจุบันเป็นเจเนอเรชั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเกิดมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ความคิด หรือวิธีคิด รวมถึงไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปด้วย
ในยุคที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งหนุ่มสาวสมัยใหม่ มีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป การมีลูกหรือการแต่งงาน กลับไม่ใช่สิ่งแรกที่ใครๆ ต่างใฝ่ฝัน และแม้อัตราการเกิดน้อยลงจากสถิติที่เราได้เห็นจากสื่อต่างๆ แต่เรากลับพบว่าเด็ก Gen Z (เด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ 2540) ที่เกิดมาในครอบครัว GEN Y นี้ ที่เกิดในยุคของเทคโนโลยี มีความคุ้นเคยกับการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นอย่างดี มีความรู้ความสามารถที่ได้รับการส่งเสริมที่ต่างออกไป ความคาดหวังของครอบครัวที่จะต้องให้ลูกทำอาชีพที่มั่นคง รับราชการ หรือการคอยกำกับเส้นทางชีวิตให้ลูกเริ่มลบเลือนไปตามกาลเวลา โดยวิธีการเลี้ยงดูในมิติใหม่นี้กลับมีคุณภาพ มีการพูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้อิสระ แต่ก็ยังเป็นแรงส่งประคับประคองให้ลูกได้ก้าวถึงฝั่งฝัน
“ในอดีตคนไทยเป็นครอบครัวขยาย วัฒนธรรมคนไทยเราเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามคืออยู่กับ คุณตาคุณยาย คุณพ่อคุณแม่ และหลาน อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ ก็พอเราเจริญขึ้นที่มันเล็กลงเรื่อยๆ ค่าที่ก็แพงขึ้น เมื่อพื้นที่น้อยลง คนจะออกมาใช้พื้นที่สาธารณะมากขึ้น เราก็คิดว่าเทรนด์มันจะกลับมาที่การโหยหาธรรมชาติ และสเปซที่เค้าสามารถแสดงออก และสิ่งต่างๆ ที่ปลายเปิด เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็มีความรู้ในการเลี้ยงลูก ไม่ได้ปิดกั้นว่าใครจะเป็นอะไร สมัยก่อนที่เราก็บอกว่าอาชีพนี้โตขึ้นมาต้องเป็นเจ้าคนนายคนนะ ตามสไตล์ของวัฒนธรรมในพ่อแม่รุ่นใหม่เปิดกว้างมากขึ้น บางคนก็ส่งเสริมให้ลูกเป็นนักแสดง เป็นนักดนตรี เป็นนักกีฬา ก็คิดว่าเทรนด์เหล่านี้แหละความหลากหลายก็จะเกิดขึ้น เด็กที่กำลังจะเป็นอนาคตของประเทศก็น่าจะเก่ง และค้นพบตัวเองเร็วขึ้น ถ้าเกิดว่าเค้าเติบโตในลักษณะนี้”
ปลายสายก่อนจบบทสนทนาของคุณพี รวมพร ถาวรอธิวาสน์ หนึ่งในหัวเรือใหญ่ของ Freeform Festival บอกกับเราอย่างนั้น และก่อนย้ำความเชื่อของเราว่า กิจกรรมและอีเว้นท์ต่างๆ ที่จัดขึ้นก็จะเป็นอีกแรงช่วยซับพอร์ตให้การเลี้ยงลูกแบบครอบครัว GEN Y ได้มีพื้นที่ที่จะมาใช้เวลาเรียนรู้ด้วยกัน ภาพที่เราเห็นคุ้นชิน อาจจะไม่ใช่เพียงการพาลูกไปเที่ยวตามสวนสัตว์หรือห้างสรรสินค้าเท่านั้น เรากลับมองเห็นว่าครอบครัว GEN Y มักพาลูกไปด้วยในทุกๆ ที่ และใช้เวลาร่วมกับลูกมากขึ้น แต่พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ร่วมกันนี้ยังมีน้อยในปัจจุบัน และ Freeform Festival เองไม่ได้มีหมุดหมายเพียงแค่สร้างพื้นที่หรือสเปซสำหรับการจัดแสดงงานศิลปะ แต่ด้วยมุมมองของการเป็นแม่ และความคิดที่อยากสร้างกิจกรรมสำหรับทุกคนให้เกิดขึ้นก็ด้วยเพราะเหตุนี้เช่นกัน
“แรงบันดาลใจหลักด้วยความที่เราเป็นแม่และทำงานในสายงานสร้างสรรค์ มันจะมีปัญหาอยู่ที่เวลาที่เราต้องการใช้เวลากับลูกและครอบครัว มันจะต้องเลือกระหว่างเวลาเราพาลูกไปเล่น เราก็ต้องมานั่งรอลูก หรือว่าลูกต้องมานั่งรอเราทำอะไรบางอย่างอยู่เสมอ ยังไม่มีพื้นที่ที่เราสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ ทั้งเชิงคอนเท้นส์และพื้นที่ส่วนกลาง
“คอนเซ็ปต์ในงานไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ตัวเด็กหรือผู้ใหญ่ เราพยายามหาจุดร่วมที่เด็กและผู้ใหญ่เสพเนื้อหาไปด้วยกันได้ ทั้งเรื่องการเล่น การชม การทำกิจกรรมต่างๆ เราคาดหวังว่าเด็กและผู้ใหญ่จะเข้ามาสนุกร่วมกันได้ สิ่งเหล่านี้เราเรียกกันว่าเป็นงานศิลปะปลายเปิด เราไม่ได้บอกเขาว่าอันนี้สวยหรือไม่สวย เราให้เขาไปคิดต่อเอง ไปตีความกันเอง ว่าอะไรคืออะไร สุดท้ายสิ่งที่เค้าได้รับไปไม่ใช่แค่ได้รับความสนุกอย่างเดียว เขายังได้รับสาร ได้รับความคิด ทุกอย่างเป็นการตีความของแต่ละคน”
ไม่เพียงแค่ครอบครัวที่หาพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ เราอยากให้ทุกคนที่รักในงานศิลปะ มาสัมผัสนิทรรศการนี้เช่นเดียวกัน เพราะนอกเหนือคอนเซปต์ของการเปลี่ยนห้องเรียนเก่ากลางเอกมัยให้เป็นพื้นที่ทดลองการใช้เวลาร่วมกันของคนเมืองแล้ว ในทุกกิจกรรมของงานเกิดขึ้นจากความคิดที่อยากให้คนทุกเพศทุกวัยได้มาลองผิดลองถูก ใช้เวลาเรียนรู้ไปพร้อมกับยอมรับในความไม่เพอร์เฟ็ค แม้กระทั่งชักชวนคนที่เคยทำผิดพลาดมาแสดงออกความผิดนั้นด้วยความสุข #แบบไม่เก็กไม่เกร็ง
“จริงๆ แรงบันดาลใจหลักได้มาจากตัวลูกสาว ที่เป็นเหมือนลูกของทุกๆ คน เขาโตมากับทีมงานเพื่อนๆ และน้องๆ ของเรา เราลองสังเกตเขา หลายๆ ครั้งที่เราทำนู้นทำนี่กับเด็กทั้งลูกเราและลูกเพื่อน ก็พบว่าเวลาที่เราได้ทำงานกับเด็ก คนที่ทำงานสร้างสรรค์อย่างเราเหมือนถูกลบอีโก้ออกไปเลย ซึ่งในการทำงานทุกวันนี้มันก็เครียดว่าจะทำแบบไหนให้มันดี ให้มันใช่ ให้มันสวย ได้รับความนิยม
“เราเคยทำกิจกรรมเล็กๆ ครั้งหนึ่งกับ เด็กๆ ในออฟฟิศ โดยให้เด็กๆ มาเป็นครูและให้เราเป็นนักเรียน วันนั้นความรู้สึกที่ได้ เหมือนอีโก้มันถูกลบเลยว่า จากที่เราต้องวาดสวยๆ ต้องส่งลูกค้า บางครั้งเราคิดว่าอันนี้มันสวยมากเลย คิดมาดีมากแล้ว มันจะต้องเจ๋ง เด็กอาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้ ความสวยของเขาอาจจะเป็นอะไรที่ง่ายๆ
“นึกย้อนไปเหมือนครั้งหนึ่งเราเคยเป็นเด็กมาก่อน ตอนเด็กเราเคยวาดนกแบบนี้ วาดต้นไม้แบบนี้ เคยวาดแอปเปิ้ลแบบนี้มานี่นา มันเลยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของ คำว่า freeform และโลโก้ของเราเป็นรูปนก ที่ทุกคนเคยวาดกันมาแน่ๆ ทั้งเคยวาดนก ภูเขา พระอาทิตย์ ต้นไม้ บ้าน เวลาที่เล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ศิลปินฟัง แล้วทุกคนก็ล้างความเครียด ความเกร็งของตัวเองไป ทุกคนมาในจุดเดียวกันที่ไม่ต้องแข่งกันเลยว่าของใครสวยที่สุด งานต้องขายได้ เราให้ทุกคนได้แสดงออกถึงความคิดที่เขาไม่เคยแสดงที่ไหน ไม่มีมีผิดไม่มีถูก ก็เลยออกมาเป็นคอนเท้นส์แบบนี้ ที่ไม่แสดงที่ไหน ไม่เคยรวมตัวกันได้เยอะขนาดนี้มาก่อน”
นี่อาจจะเป็นเพียงการเริ่มต้นกิจกรรมเล็กๆ แต่เชื่อว่าก้าวแรกนี้ หากคนส่วนใหญ่ก้าวไปพร้อมกัน และผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมเยอะๆ พร้อมคิดสร้างสังคมให้น่าอยู่ มีพื้นที่ให้แสดงออกในสิ่งที่ดี ตัวเราเอง และลูกหลานของเราจะต้องเติบโตไปเป็นคนที่มีศักยภาพ มีความสุขกับไปพร้อมการยอมรับในความผิดพลาดได้ และเรียนรู้ที่จะมีจิตสำนึกเพื่อสังคมได้อย่างแน่นอน
ซึ่งก่อนสุดสัปดาห์นี้จะเวียนมาถึง เรามี 10 สิ่งที่เราอยากให้คุณรู้ก่อนไป FREEFORM FESTIVAL ก่อนไปสัมผัสงานศิลปะปลายเปิดในที่แห่งนี้ ไปพร้อมๆ กัน
พิกัด : Acmen ถนน เอกมัย ในงานไม่มีที่จอดรถ แนะนำให้ใช้ BTS โดยลง BTS เอกมัย จะต่อวินมอเตอร์ไซค์ หรือเดินเข้ามาก็ไม่ไกล
บัตรราคา 100 บาท ต่อสุดสัปดาห์ (ศุกร์-อาทิตย์) เด็กสูงน้อยกว่า 120 ซ.ม. เข้าฟรี
เรื่อง Pari
ภาพ Tontoey