ซ่อมก๊อกน้ำรั่วซึม ด้วยตัวเอง - ช่างประจำบ้าน โดยบ้านและสวน
ก๊อกน้ำรั่วซึม

ซ่อม ก๊อกน้ำรั่วซึม ด้วยตัวเอง

ซ่อมก๊อกน้ำ ทำได้เอง แต่หลายคนที่เจอกับปัญหาเวลา ก๊อกน้ำรั่วซึม แล้วมักรู้สึกว่านี่คืองานใหญ่ เกินมือเราจะจัดการ เราต้องเรียกช่าง หรือบางคนก็เลือกใช้วิธีปิดวาล์วน้ำเวลาที่ไม่ใช้งานแทน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน จะใช้ก็ค่อยเปิดวาล์ว ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็คงจะหนีไม่พ้นมือช่างอีกอยู่ดี เพราะเรามักมองว่านี่คืองานช่างที่ใหญ่เกินตัว

ซึ่งแท้จริงแล้วการรั่วซึมของก๊อกน้ำติดผนังนั้นเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่าย และคุณทำเองได้แน่นอน เพียงอาศัย “เทปพันเกลียว” สาเหตุหลักที่ก๊อกน้ำผนังมักเกิดการรั่วซึม นั้นเกิดจากการสึกหรอของเกลียวในตัวก๊อก หรือไม่ก็เกลียวในข้อต่อตัวเมีย ซึ่งเกิดจากใช้งาน เปิด-ปิด เป็นประจำ รวมถึงการเสื่อมสภาพของเทปพันเกลียว ดังนั้นถ้าให้เปรียบเทียบ การซ่อมก๊อกผนังก็ไม่ต่างกับการทำแผลให้กับก๊อกนั่นแหล่ะครับ เอาล่ะ พร้อมแล้วเราหยิบ “เทปพันเกลียว” แล้วมาเริ่มทำแผลกันดีกว่า


วิธีการวิธีติดตั้งก๊อกน้ำ

ซ่อมท่อน้ำรั่วซึมจากห้องน้ำชั้นบนบ้าน  


อุปกรณ์ที่ต้องใช้ซ่อมก๊อกน้ำเอง

  1. เทปพันเกลียว
  2. คีมประปา คีมล็อค หรือประแจเลื่อน

ก๊อกน้ำรั่วซึม

วิธีแก้ไข

  1. สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่า เกิดการรั่วซึมบริเวณข้อต่อของก๊อกน้ำจริงๆ โดยสังเกตุการหยด ซึม หรือรอยน้ำ ซึ่งถ้าใช่ก็ลงมือต่อในขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าไม่ใช่ เราคงต้องหาสาเหตุของการรั่วซึม และแก้ไขให้ตรงจุด

  1. เมื่อมั่นใจแล้วว่าบริเวณข้อต่อของก๊อกน้ำรั่วซึมจริง ให้เราทำการปิดวาล์วน้ำที่จ่ายน้ำมายังก๊อกดังกล่าว ก่อนทำการซ่อมแซม

 

  1. ต่อมาให้เราหาผ้ามาหุ้มตัวก๊อก ก่อนใช้คีมหรือประแจเลื่อนที่เตรียมไว้ ทำการจับก๊อก และหมุนทวนเข็มเพื่อคลายหัวก๊อกออกจากข้อต่อที่ยึดติดผนัง

 

  1. เราจะเห็นเทปพันเกลียวเก่าบริเวณปลายเกลียวของก๊อก ให้เอาออกแล้วใช้เทปพันเกลียวพันรอบใหม่บริเวณเกลียวของตัวก๊อก โดยพันประมาณ 3-4 รอบ

 

  1. ทำความสะอาดเกลียวบริเวณข้อต่อที่ติดผนังให้เรียบร้อย ซึ่งอาจมีเศษเทปเดิมหลงเหลือ ก่อนใช้มือค่อยๆ หมุนก๊อกเพื่อยึดกลับเข้าไปกับข้อต่อ

 

  1. ใช้ผ้าคุมหัวก๊อก ก่อนใช้คีมประปา หรือคีมล็อค หมุนตามเข็มให้แน่น ปรับหัวก๊อกให้ตรงเพื่อใช้งาน แล้วค่อยทำการเปิดวาล์ว เพื่อใช้งานปกติ

Tips

  • กรณีที่ทำการซ่อมแซมตามวิธีดังกล่าวแล้วปรากฎว่ายังมีการรั่วซึมอยู่ ให้เราเริ่มทำตามขั้นตอนเดิมใหม่อีกครั้ง โดยปรับเปลี่ยนการพันเทปพันเกลียวให้หนาขึ้นกว่าเดิมอีก 1-2 รอบ เพื่อให้ยึดกับข้อต่อแน่นพอดีมากขึ้น
  • สำหรับก๊อกเก่าที่หมุนคลายตัวออกได้ยาก ให้เราหาแป๊ปน้ำมาสวมเข้ากับตัวด้ามของคีม หรือประแจ ให้ด้ามมีความยาวมากขึ้นเพื่อช่วยเราผ่อนแรง โดยค่อยๆ โยก จนก๊อกเริ่มคลายตัวได้
  • ถ้าการตรวจสอบการรั่วซึม ไม่ได้เกิดบริเวณข้อต่อแล้ว แต่เกิดการรั่วซึมที่ตัวก๊อกเลย ส่วนใหญ่จะเสียหายที่กลไกของก๊อก อย่างแผ่นเซรามิควาล์ว เป็นต้น ซึ่งพวกนี้ไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยน ก็แนะให้เปลี่ยนก๊อกแทนการซ่อมแซมดังกล่าว

เรื่อง บ.

ภาพประกอบ : คณาธิป จันทร์เอี่ยม


แก้ปัญหาส้วมกดไม่ลงเพราะไม่ได้วางถัง SAT

ห้องน้ำมีกลิ่นเหม็นแม้ว่าจะไม่มีคนใช้งาน เพราะอะไร


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x