“100 ดีไซน์ 2017 : เวทิเวอร์ ดีไซน์ คอนเทสต์” แข่งรังสรรค์สินค้าจากหญ้าแฝก ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างแท้จริง

“การปลูกหญ้าแฝก เป็นแนวคิดใหม่ อยากจะให้ปลูกโดยไม่ต้องหวังผลอะไรมากนัก แต่ผลที่ได้จะดีมาก และการปลูกไม่จำเป็นต้องไปปลูกในที่ของเกษตรกร ขอให้ปลูกกันในสถานีพัฒนาที่ดิน เพื่อเป็นแบบอย่าง เพื่อคัดพันธุ์ หาพันธุ์ที่ดีไปขยายพันธุ์โดยดอก ต้องดูว่าปลูกแล้วมีพันธุ์ไหนที่ทนแล้งในหน้าแล้งยังเขียวอยู่ก็ใช้ได้ โดยขอให้ปลูกก่อนฤดูฝน จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงเห็น” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

คณะผู้บริหารและกรรมการ ถ่ายภาพร่วมกับผู้ชนะเลิศจากประเภทของตกแต่งบ้าน และประเภทแฟชั่น
(จากซ้าย) ไชยยง รัตนอังกูร ,อ.จารุพัชร อาชวะสมิต ,ภากมล รัตตเสรี, พิเชียร ทองสังข์, รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต

จากความสำคัญของหญ้าแฝกดังที่ทราบกันดี ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างจัดทำโครงการที่ส่งเสริมการปลูกและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหญ้าแฝกมาโดยตลอด โดยล่าสุดโครงการภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมมือกับ สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพานิช จำกัด (มหาชน) จัดการประกวดออกแบบชิ้นงานที่ผลิตจากใบหญ้าแฝก เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้ร่วมเป็น ส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในชื่องาน “100 ดีไซน์ 2017 : เวทิเวอร์ ดีไซน์ คอนเทสต์” (100 Designs 2017 :  Vetiver Design Contest)     

งานนี้ไม่เพียงแต่เป็นการต่อยอดไอเดียในการออกแบบผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย โดยได้ทำการประกาศผลรางวัลชนะเลิศไปแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลีฟวิ่งรูม 2 ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม

ชนิสา แก้วเรือน ผู้บริหารสยามดิสคัฟเวอรี่ มอบรางวัลชนะเลิศประเภทแฟชั่นให้กับทีม come back home

คุณชนิสา แก้วเรือน  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายกิจกรรมการตลาดและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการนำหญ้าแฝกมาใช้แก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งนอกจากประโยชน์ในด้านนี้แล้ว เรายังสามารถนำใบหญ้าแฝกมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่า ง ๆ ได้อีกด้วย                             

การจัดการประกวดในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันจากหลาย ๆ องค์กร ที่ต่างมีจุดประสงค์เดียวกันคือต้องการพัฒนาการออกแบบ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์  ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนในการนำหญ้าแฝกมาต่อยอดเป็นสินค้าเพื่อจำหน่าย

โดยการประกวดได้แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ ประเภทของตกแต่งบ้าน (Vetiver Home Decor) และ ประเภทแฟชั่น (Vetiver Fashion) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีโดยมีผู้เข้ามาสมัครมากถึง 217 ทีม แบ่งเป็นประเภทของตกแต่งบ้าน 123 ทีม และประเภทแฟชั่น 94 ทีม โดยผู้ชนะแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่ายที่ร้านภัทรพัฒน์ และที่สยามดิสคัฟเวอรี่

ด้านคุณภากมล รัตตเสรี  รองเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพระราชดำริในการอนุรักษ์ดินและน้ำตามพระราชประสงค์ ก่อเกิดความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เพื่อช่วยในการป้องกันการชะล้างพังทลายของ และด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดงานหัตถกรรมจากใบหญ้าแฝก โดยการส่งเสริมการฝึกอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ แก่ชุมชนต่างๆ ของ ปตท. เพื่อจำหน่ายในตราสินค้า ภัทรพัฒน์มูลนิธิชัยพัฒนา ต่อไป

โฉมหน้าผู้รับรางวัลจากการประกวดประเภทของตกแต่งบ้าน

ผลการประกวดในครั้งนี้ ผู้ชนะเลิศประเภทของตกแต่งบ้าน ได้แก่ รัฐพล อนุชิตานุกูล นักออกแบบอิสระ กับผลงาน Cat Portable รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Can Do Design จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงาน  Sansook และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Fillet จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงาน Fillet Collection

โฉมหน้าผู้รับรางวัลจากการประกวดประเภทแฟชั่น

ส่วนผู้ชนะเลิศประเภทแฟชั่น ได้แก่ ทีมCome Back Home กับผลงาน Domicile จากม.ราชภัฏสวนสุนันทา รางวัลรองชนะเอลิศอันดับ 1 ได้แก่ ฐากร ถาวรโชติวงศ์ นักออกแบบอิสระ กับผลงาน Heritage และรางวัลรองชนะอันดับ 2 ได้แก่ สุสิตา ศรีจรรยา จาก ม.บูรพา กับผลงาน Voven -นอกจากนี้ยังมีรางวัลสยามดิสคัฟเวอรี่ อินโนเวชั่น ซึ่งตกเป็นของ อรรถวิโรจน์ ทองทิพย์ จาก ม.อุบลราชธานี กับผลงาน Prevent

ด้านผู้ชนะการประกวดอย่าง รัฐพล อนุชิตานุกูล ได้กล่าวถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบครั้งนี้ว่า อยากออกแบบผลิตภัณฑ์ที่อยู่กับสัตว์และธรรมชาติ โดยการนำหญ้าแฝกมาออกแบบเป็นเตียงนอน และโดมมีสายสำหรับสะพายไปที่ต่างๆ โดยได้ลงพื้นที่ไปยัง อ.ภูซาง จ.พะเยา เพื่ออธิบายให้ชาวบ้านได้ฟังถึงคอนเซปต์ และสานผลงานออกมาเป็นชิ้นงานตามแบบที่ต้องการ มีรูปทรงที่ไม่ซับซ้อนด้วยการขึ้นรูปเป็นวงกลม ง่ายต่อการสร้างลวดลายเพราะชาวบ้านต่างก็มีทักษะอยู่แล้ว อย่างลายเม็ดข้าว ลายเม็ดแตง สำหรับโดมแมวใช้ลายสานเดียวกัน แต่ขึ้นโดมด้วยผ้าแคนวาส เมื่อจับจีบจะทำให้ตั้งทรงอยู่ได้ มีสายรั้งขึ้นมาทำเป็นสายสะพาย สามารถพาน้องแมวไปในที่ต่าง ๆ ได้

สำหรับผู้ชนะเลิศประเภทแฟชั่น อย่างทีม Come Back Home ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกในทีมคือ เศรษฐ์โภคิน เศรษฐ์สัตยาโภคิ นภัสสร เหล่ามีผล และรุ่งนภา ผุสดีธงไชย จากคณะ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ม. ราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่าง การสานหมวกงอบ ล้อเกวียน และกระบือ มาสู่การออกแบบเป็นรูปทรงของกระเป๋า        

โดยลงพื้นที่ไปยัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เพื่อให้ชาวบ้านสานแฝกตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งแฝกของพื้นที่นี้จะมีความลุ่ม ใบสูงยาว เนื้อแฝกมันหนา ทำให้ง่ายต่อการทำลายสานเป็นรูปต่างๆ และนำมาตกแต่งด้วยหนังเทียมและโลหะรมควันดำ เพื่อให้ดูมีความทันสมัยมากขึ้น วัยรุ่นสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งหลังจากได้ร่วมเวิร์กชอปในการประกวดนี้ทำให้เข้าใจและรู้จักหญ้าแฝกมากขึ้น  รวมถึงได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิธีการคิด และรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของการทำงานจริงได้

การประกวดในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ตอกย้ำการเป็น The Exploratorium ของสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมอีกครั้งหนึ่ง                  

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถร่วมชื่นชมผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด ได้ถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2560 ณ ลีฟวิ่งรูม 2 ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม