อยู่ตามวิถีธรรมชาติในบ้านชนบทที่ บ้านต้นเต๊า
เรามาเยือน บ้านต้นเต๊า ในช่วงปลายฤดูฝน บรรยากาศของบ้านจึงดูชุ่มชื้นและสดชื่นเป็นอย่างมาก บ้านใต้ถุนสูงสีขาวสลับไม้ที่ใครหลายคนอาจเคยเห็นผ่านตา
ที่นี่คือ “โฮมสเตย์ บ้านต้นเต๊า ” บ้านใต้ถุนสูงสีขาวสลับไม้ที่ใครหลายคนอาจจะเคยเห็นผ่านตาจากโลกโซเชียล
บ้านหลังนี้เริ่มต้นจากการที่ คุณเกด – ภัคธิมา วรศิริ ได้มาเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ส่วน คุณปอ – ชิติพัทธ์ วังยาว ก็สนใจธุรกิจข้าวอินทรีย์ จึงได้แวะเข้ามาที่ “บ้านบัว” หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงและหมู่บ้านข้าวอินทรีย์ของจังหวัดพะเยา
เมื่อได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายอันเปี่ยมสุข ประกอบกับกำลังมองหาที่ดินสร้างบ้าน จึงได้พบที่หัวมุมถนนติดกับคลองที่เคยเป็นป่าว่างๆ ที่แห่งนี้มักมีน้ำท่วม แต่ด้วยความเป็นสถาปนิก ทำให้คุณเกดคิดว่าไม่ใช่ปัญหา และที่ผืนนี้มีต้นเต๊าหรือตองเต๊าตั้งอยู่กลางที่ดิน จึงใช้เป็นชื่อของบ้าน ทั้งสองจึงคิดปรับแนวทางมาสู่การค่อยๆ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านแห่งนี้
“เราอยู่กันง่ายๆ คนที่มาพักกับเราก็ต้องอยู่กันแบบง่ายๆตามเรา ที่นี่มีแค่สองห้องเท่านั้น กับคาเฟ่ที่เสิร์ฟอาหารจากผลิตผลในหมู่บ้าน ถ้ามีแขกเกินกว่านั้นเราก็จะให้เขาไปพักที่บ้านหลังอื่นในหมู่บ้านแทน เมื่อมาพักเราก็จะแนะนำให้ไปเยี่ยมบ้านอื่นๆในหมู่บ้านที่มีกิจกรรมอื่นๆให้ทำอีก เช่น สานเข่งหรือสุ่มไก่ และวิถีแบบเกษตรพอเพียงที่น่าสนใจ”
คุณปอเล่าให้เราฟัง พลางพาเดินชมตัวบ้าน บ้านหลังนี้ออกแบบในลักษณะ “ไทยพื้นถิ่นร่วมสมัย” เพราะคุณเกดเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมไทย จึงได้นำเอาเอกลักษณ์ของบ้านในพื้นที่ กับรูปแบบของหลองข้าวซึ่งเป็นอาคารเก็บข้าวเปลือกมาใช้กับตัวบ้านด้วย แต่ปรับเปลี่ยนวัสดุและสีสันให้เป็นโครงสร้างเหล็กผสมปูน และเน้นสีขาวเพื่อความสะอาดตา รวมทั้งยังผสมผสานการใช้งานในรูปแบบวิถีชีวิตปัจจุบันเข้ากับลักษณะการใช้งานใต้ถุนและชานบ้านอย่างสมัยโบราณ
บ้านหลังนี้แบ่งออกเป็นเรือน 2 หลัง เรือนหลังเล็กที่มีใต้ถุนทำเป็นคาเฟ่ ส่วนชั้นบนเป็นส่วนอาศัยของคุณพ่อและคุณแม่คุณเกด มีระเบียงที่ทอดเป็นสะพานออกไปยังถนนใหญ่และสามารถเดินเชื่อมไปยังเรือนหลังใหญ่ ซึ่งเป็นห้องนอนของคุณปอและคุณเกด นอกจากนี้เรือนหลังใหญ่ยังมีห้องคุณแม่ของคุณปอและห้องนอนแขก ซึ่งทำไว้สำหรับรองรับแขกที่มาพักที่โฮมสเตย์ ห้องพักมีอยู่ 2 ห้อง โดยที่อีกห้องอยู่ในตำแหน่งเดียวกันใต้ถุนบ้าน ส่วนบริเวณโดยรอบบ้านทำเป็นสวนครัวและทดลองปลูกข้าวไว้รับประทานเอง
ความน่าสนใจของบ้านต้นเต๊าคือการยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นปกติในหน้าน้ำ เพราะอยู่ติดกับคลองของหมู่บ้าน แต่ด้วยการออกแบบที่เข้าใจในบริบท ทำให้บ้านหลังนี้สามารถอยู่กับน้ำท่วมได้โดยไม่เป็นปัญหา เพราะเพียงแค่ปิดคาเฟ่และย้ายของขึ้นสู่ชั้นบนเพื่อให้น้ำสามารถผ่านใต้ถุนบ้านไปได้ และเปลี่ยนไปสัญจรโดยใช้สะพานเชื่อมชั้นสองของบ้านออกสู่ถนนแทน จนกว่าหน้าน้ำจะหมด บ้านหลังนี้จึงเป็นเสมือนตัวแทนของธรรมชาติที่ผู้อยู่อาศัยรวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาพักจะสัมผัสได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้กลมกลืนไปกับเพื่อนบ้านและธรรมชาติโดยรอบได้เป็นอย่างดีก็คือ บ้านทุกหลังในบ้านบัวมักไม่สร้างรั้วสูงทึบกันบ้านแต่ละหลังออกจากกัน สิ่งนี้เองที่สร้างความประทับใจให้คุณปอและคุณเกด จนนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบบ้าน
“เรามาอยู่ใหม่ก็ต้องเรียนรู้ว่าเขาอยู่กันมายังไง แรกๆก็ไม่ชิน แต่พออยู่ไปสักพัก เมื่อชาวบ้านมองว่าบ้านเราเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านก็ทำให้เรารู้สึกสบายใจ เวลาไปไหนเขาก็ช่วยเป็นหูเป็นตา ดูแลบ้านให้เรา ทุกวันนี้บางทีชาวบ้านก็เดินตัดบ้านเราไปตกปลาที่คลองก็มี มันเป็นวิถีที่ไม่มีใครยึดติดในความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอะไรต่อมิอะไรสักเท่าไร เพราะทุกคนต่างเป็นเจ้าของหมู่บ้านแห่งนี้ร่วมกัน พอคิดได้ดังนี้จะทำอะไรก็ง่าย และเราเชื่อว่าเพราะบ้านบัวมีวิถีสบายๆแบบนี้ โฮมสเตย์ของเราจึงมีสเน่ห์ ถ้าไม่มีบ้านบัว โฮมสเตย์แห่งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น”
อ่านต่อหน้า2