สวนป่า ที่ให้บรรยากาศชุ่มชื้นราวกับยกป่ามาไว้ในบ้านกลางกรุงหลังนี้ มีต้นแบบมาจาก “กิ่วแม่ปาน” ซึ่งเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
คุณเนท – สุทธิ เด่นวิทยา ผู้เป็นเจ้าของ เกริ่นให้เราฟังว่า “ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอกว่าต้องการสวนแบบไหน แต่จากที่ผมไปเจอหลายๆสวน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแนวประดับตกแต่ง ซึ่งผมไม่ค่อยชอบ ผมชอบเดินป่า เลยคิดว่าเราน่าจะชอบ สวนป่าแนวๆนี้ จนได้รู้จัก คุณวุฒิ – วรวุฒิ แก้วสุก พอเริ่มพูดคุยก็เข้าใจตรงกันทันที และพอมาเปิดรูปหาแบบอ้างอิงก็ปรากฏเป็นภาพของกิ่วแม่ปาน ก็ปล่อยให้คุณวุฒิทำเต็มที่ ผมแค่บอกความต้องการเพิ่มเล็กน้อย”
เมื่อเข้าใจภาพรวมของสวนตรงกัน คุณวุฒิจึงตีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้สวนนี้ออกมาแตกต่างจากภาพสวนเดิมที่เคยทำมา และได้อารมณ์ของสวนป่าที่ยกมาไว้ในบ้านได้อย่างสมบูรณ์
“ผมเคยจัดสวนลำธารหรือสวนป่ามาแล้ว แต่กับสวนของบ้านหลังนี้ เราต้องการให้มีอารมณ์ของป่าเมฆ (Cloud Forest) และป่าฝน (Tropical Rainforest) ซึ่งเป็นลักษณะของป่าไม้ในเขตร้อนชื้นที่เติบโตตามภูเขา เราเริ่มต้นวิเคราะห์พื้นที่ ด้วยความที่เป็นบ้านหัวมุมที่อยู่ติดกับถนนหลักและวงเวียนของโครงการ ใกล้การสัญจรและมีความวุ่นวายสูง จึงตัดสินใจทำผนังสูงเพื่อสกรีนภายในกับภายนอกขึ้นมาอีกชั้น ผนังสูงนี้ก็จะเป็นผนังของสวนแนวตั้งที่จะเป็นน้ำตกให้สวนไปในตัวด้วย โดยที่คนภายนอกจะไม่รู้เลยว่าหลังผนังนี้คืออะไร เหมือนเราจำลองภูเขาที่ผ่าครึ่งมาตั้งไว้
“ผมมองว่าป่าเมฆเป็นต้นกำเนิดของน้ำ ดังนั้นจึงออกแบบให้มีลำธาร 4 สาย ซึ่งเปรียบเหมือนแม่น้ำหลายสายที่ไหลมาจากยอดเขา โดยให้ไหลมาจากแหล่งกำเนิดน้ำตรงกลาง แล้วไหลไปยังส่วนต่างๆของสวน แต่ละสายก็มีลักษณะแตกต่างกันตามสเต็ปที่ต่างกันในสวน”
นอกจากองค์ประกอบหลักๆที่สร้างจุดเด่นให้สวนแล้ว คุณวุฒิยังเพิ่มการเข้าถึงส่วนต่างๆของสวน เพื่อให้เจ้าของบ้านใช้งานได้อย่างสะดวก
“อีกส่วนที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ พื้นไม้ยกระดับตรงกลางสวน เพราะเป็นจุดศูนย์กลางที่สามารถนำไปยังส่วนต่างๆของสวนได้สะดวก เรายกระดับบริเวณนี้ขึ้นมาและวางลำธารลึกลงไป จากนั้นแบ่งทางสัญจรจากหน้าบ้านไปยังข้างบ้าน ทำให้แนวทางเดินมีความหลากหลาย ทั้งสะพานไม้และแผ่นทางเดินหินผ่านน้ำ โดยยกระดับแทรกไปในแต่ละสเต็ป เพื่อให้ได้บรรยากาศเหมือนเดินอยู่ในป่า”
นอกเหนือจากการจัดสวนให้ดูเป็นธรรมชาติแล้ว คุณวุฒิยังให้ความสำคัญกับระบบนิเวศในสวนที่ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง
“การเลือกใช้พรรณไม้ก็เป็นการผสมผสานไม้น้ำ ไม้ที่เหมาะจะอยู่ในป่า และไม้ประดับเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีความเป็นธรรมชาติ แต่นำเสนอในลักษณะแบบเซน คือใช้พรรณไม้น้อยชนิด แล้วก็เป็นแบบให้เทวดาดูแล เราไม่ต้องยุ่งเยอะ ยกเว้นลานหญ้าด้านหน้าที่ต้องดูแล”
“ส่วนที่ยากจะเป็นเรื่องระบบที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะเราต้องการให้ทุกอย่างอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีการคำนึงถึงทิศทางของแสง โดยตำแหน่งของน้ำตกต้องหันหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ หันหลังให้ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพราะแดดอ้อมใต้ สวนแนวตั้งของผนังน้ำตกก็จะไม่โดนแสงแบบตรงๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่สูญเสียความชื้น เรายังเพิ่มระบบสปริงเกลอร์และระบบที่คล้ายฝนเทียมจากเทอร์โบไอซ์ (Turbo Ice) เพื่อให้มีละอองเหมือนหมอก ซึ่งได้ทั้งความชื้นและสร้างบรรยากาศ โดยจะใช้สปริงเกลอร์กับไม้ระดับล่างเพื่อให้ความชื้น บริเวณด้านบนและระดับกลางจะใช้ระบบทำละอองหมอก ส่วนเทอร์โบไอซ์จะให้ความชื้นในภาพรวม
“นอกจากนี้ยังมีระบบการจ่ายน้ำของน้ำตกและบ่อกรอง น้ำของที่นี่มีปริมาณเยอะ แต่ไม่สัมพันธ์กับขนาดของบ่อ เราแก้ให้บ่อกรองมีความลึกแทน เพื่อให้ปริมาณน้ำเหมาะสมกับพื้นที่ น้ำยิ่งลึกก็เป็นข้อดี คือการเปลี่ยนอุณหภูมิจะน้อย ทำให้ดูแลรักษาง่าย ตะไคร่ก็น้อยลง ส่วนตัวบ่อกรองมีหลอดยูวีมาช่วยด้วย ระบบน้ำเลยใสและดีขึ้น แต่ต้องรอให้ระบบทั้งหมดอยู่ตัว ซึ่งใช้เวลาถึงสามเดือน”
เมื่อภาพรวมของสวนไปในทิศทางที่พอใจแล้ว ก็มาถึงส่วนที่คุณวุฒิให้ความสำคัญ นั่นคือ แสงไฟที่จะสร้างฟังก์ชันและความโดดเด่นให้สวน โดยคุณวุฒิได้ชวน คุณแอน – กนกพร นุชแสง จากบริษัทเอพีแอลดี จำกัด ซึ่งทำงานร่วมกันมาแล้วหลายครั้งมาร่วมออกแบบ
“ไอเดียของคุณวุฒิคือ อยากให้สวนดูลึกลับ ให้บรรยากาศเหมือนในหนังเรื่อง Avatar เราจึงเพิ่มเรื่องแสงไฟเข้าไป โดยเฉพาะการเสริมบรรยากาศแบบดรามาติก ซึ่งเป็นการย้อมสีของแสงที่ไม่ใช่สีธรรมชาติเข้าไปด้วย รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเรื่องการคัดน้ำหนักของแสง เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานสวนในแต่ละจุด ซึ่งสามารถควบคุมได้จากโทรศัพท์มือถือ โดยเจ้าของบ้านอาจเปิดไฟแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ช่วง 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่มเพื่อต้อนรับแขก หรือจะมานั่งกินข้าวและชมสวนไปด้วย ก็จะให้บรรยากาศที่สวยสมบูรณ์ ช่วง 3 ทุ่มถึง 5 ทุ่มน้ำหนักของแสงจะหายไปครึ่งหนึ่ง เหลือแค่มุมมองที่มองเห็นจากภายในบ้าน ส่วนที่เหลือจะดับหมด และสุดท้ายเป็นช่วงเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า จะเน้นเรื่องความปลอดภัย กำหนดให้เหลือแสงไฟแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะดับหมด นอกจากนี้เรายังตั้งโปรแกรมในโหมดปาร์ตี้ที่สามารถเปลี่ยนสีสันได้ถึง 3 ทางเลือก เพื่อให้บรรยากาศของสวนดูสนุกสนานยิ่งขึ้น”
การให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ ทำให้สวนแห่งนี้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี สามารถสร้างความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่ต้นไม้อยู่ด้วยกันได้แบบเป็นธรรมชาติ และมีฟังก์ชันการใช้งานครบครัน คุณเนทบอกเราในตอนท้ายของการสนทนาว่า
“เมื่อสวนนี้จัดเสร็จ ผมให้ 10 คะแนนเต็ม เพราะตรงกับที่ใจคิดไว้ ตอบโจทย์การใช้งานของเราด้วย รวมถึงดูแลง่าย สามารถอยู่ได้ยาวๆ ที่สำคัญ ทุกครั้งที่เข้ามาใช้งานในสวนนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้อยู่กับป่าอย่างที่ผมชอบ ซึ่งหมายความว่าผมจะมีความสุขกับสวนนี้ในทุกๆวันครับ”
ชมความงามของสวนทรอปิคัลแบบเต็มตาได้ที่หนังสือบ้านและสวน ฉบับพิเศษ Garden Vibes สั่งซื้อได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน
เจ้าของ : คุณสุทธิ เด่นวิทยา
ออกแบบ : คุณวรวุฒิ แก้วสุก
หินและรากต้นไม้เทียม : คุณณัฐคนนท์ ไฉไลเวทย์นฤมาณ
โครงสร้าง : คุณรัฐกานต์ เจือกุนทร
ระบบเทอร์โบไอซ์ : คุณณัฏฐพัชร์ ธราณิชอภิวิชญ์
ออกแบบแสงไฟ : บริษัทเอพีแอลดี จำกัด โดยคุณกนกพร นุชแสง
เรื่อง : อรรถ
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย
สวนทรอปิคัล น้ำตก ลำธาร ความร่มรื่นที่อยากหยุดพักผ่อน
ชมสวนธรรมชาติสีสันสดใส