9. อัญชนา ทองไพฑูรย์ – Salt and Pepper Design Studio
คุณอัญชนา ทองไพฑูรย์ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Salt and Pepper Design Studio และนักออกแบบฝีมือเฉียบที่สร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานที่เกิดจากความรัก ความตั้งใจ และความสนุกคิดสนุกทำ โดยผสมผสานเทคโนโลยีกับทักษะงานช่างท้องถิ่นได้อย่างสร้างสรรค์ เกิดเป็นงานคราฟต์ที่มีคุณค่าและมีความเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้ปรัชญาการออกแบบที่ว่า “Design Meets Craftsmanship” นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านภายใต้แบรนด์ Salt and Pepper และ Mha Dog and Living อีกด้วย
มุมมองที่มีต่องานคราฟต์
“งานคราฟต์มีความสำคัญกับมนุษย์ เพราะแสดงถึงตัวตน วัฒนธรรม ศิลปะ เป็นสิ่งที่เราควรภาคภูมิใจ แต่สิ่งต่างๆย่อมมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา งานคราฟต์ก็เช่นกัน เราต้องพัฒนาให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ หรือว่าเข้ากับเทรนด์ งานคราฟต์ควรจะพัฒนาคู่ขนานไปกับวิถีชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน”
ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน
“การพัฒนาร่วมกับชุมชน ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และชาวบ้าน เราต้องมองการทำงานเป็น 1 ต่อ 1 เพราะแต่ละคนก็มีเงื่อนไขของการทำงานหรือการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน การที่เราจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของแต่ละคน ก็จะใช้วิธีที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น ผลงาน Midnight Garden Collection มีการนำเรื่องเทรนด์มาใช้กับการออกแบบทำเครื่องเบญจรงค์ เพราะเราอยากสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ให้เปิดใจยอมรับ พอดีช่วงนั้นเทรนด์ศิลปะภาพวาดสไตล์ Dutch Golden Age Painting เป็นภาพดอกไม้บนแบล็กกราวนด์สีดำกำลังมาแรง แต่เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานของช่าง
“ช่วงที่เราทำงานกับชุมชน ทีแรกก็คิดว่าจะไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ปรากฏว่าเราก็ได้ความรู้ รวมถึงมองเห็นชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่มันขาดความเชื่อมโยง เพราะมิติในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และงานฝีมือไม่ได้มีแค่เรื่องของการออกแบบให้ทันยุคสมัย แล้วของขายได้เพียงเท่านั้น แต่รากฐานวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่เป็นตัวตนจะต้องคงอยู่ด้วย เราจะทำอย่างไรให้งานคราฟต์สามารถวิวัฒน์ไปพร้อมๆกับสังคมสมัยใหม่ได้ ในฐานะของนักออกแบบ เราสามารถนำเสนอความงามของงานคราฟต์ให้เติบโตควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้ โดยออกแบบผลงานที่ตอบสนองการใช้งานได้ด้วย ไม่ใช่แค่ตั้งโชว์อย่างเดียว
ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต
“งานคราฟต์ในบ้านเรามีหลายมิติหลายระดับ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงให้ดำเนินควบคู่ไปการใช้ชีวิตที่มีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ผ้านุ่งหรือผ้าซิ่น เราเห็นคุณค่าและความงดงามของผ้า แต่ถ้ายังเป็นรูปแบบเดิมคงไม่สามารถนุ่งได้ในชีวิตประจำวัน ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนให้ใช้งานได้จริง โดยที่แก่นและรากของวัฒนธรรมที่เป็นใจความสำคัญไม่หายไปไหน ช่วงที่ผ่านมางานคราฟต์มีกระแสที่ดีมาก คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจกันมากขึ้น เช่น การย้อมคราม การทำเซรามิก ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแค่กระแสหรือ เทรนด์ที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่อยากให้ร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยที่เราต้องมองไปข้างหน้าให้มากกว่านี้ อาจนำความรู้เรื่องเทคโนโลยีมาประยุกต์ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่จะเป็นการต่อยอดไปสู่อนาคตได้”
10. เฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ – COTH Studio
COTH Studio นับเป็นอีกหนึ่งสตูดิโอออกแบบที่กำลังมาแรง ด้วยผลงานออกแบบที่นำเสนอความเป็นไทยได้อย่างสร้างสรรค์และดูร่วมสมัย คุณเฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ นักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงและผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้ ได้นำงานช่างฝีมือของไทยมาผ่านกระบวนการคิดและการทดลองที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของ COTH Studio ได้เป็นอย่างดี เร็วๆนี้ก็จะสร้างแบรนด์น้องใหม่ภายใต้ชื่อ COTH-ing อีกด้วย
มุมมองที่มีต่องานคราฟต์
“งานคราฟต์มันมีเสน่ห์ มีชีวิต มีคุณบางอย่างที่แม้แต่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือระบบดิจิทัลก็ไม่สามารถทำได้ เพราะงานที่เกิดจากระบบอุตสาหกรรมใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการผลิตมันไม่มีชีวิต มันขาดอารมณ์ แต่สำหรับงานคราฟต์มันมีเสน่ห์ด้วยเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ มีความเชื่อบางอย่าง เป็นการนำวัฒนธรรมหรือประเพณีมาหล่อหลอมรวมกันและเชื่อมประสานกันจนเกิดคุณค่าที่น่าสนใจ ยิ่งเมื่อเราได้ทดลองอะไรบางอย่างที่รักหรือหลงใหล โดยที่ไม่ต้องเจาะจงว่าจะต้องเป็นงานทำมือทั้งหมด เพียงแค่เราให้เวลากับงานชิ้นนั้นๆ ก็จะเกิดความพิถีพิถันหรือความประณีต ซึ่งช่วยส่งเสริมคุณค่าให้งานนั้นเกิดเป็นงานคราฟต์ขึ้นมา”
ร่วมงานคราฟต์กับชุมชน
“การได้เข้าไปทำงานคราฟต์ร่วมกับชุมชนทำให้เราได้เรียนรู้กับช่างฝีมือโดยตรง พร้อมกับนำเสนอสิ่งที่เราอยากได้ให้เขาทดลองทำ หากเขาทำไม่ได้ เราก็ต้องคิดหาวิธีเพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงานนั้นขึ้นมาได้ เราชอบทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะเหมือนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้บางอย่าง ได้ทดลองร่วมกันว่าจะเกิดอะไรใหม่ๆได้บ้าง เช่น การดัดแปลงวัสดุเพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น ตอนที่เข้าไปทำโปรเจ็คท์ร่วมกับชุมชนบ้านบาตร เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า ‘Bua’ (บัว) เป็นชุดภาชนะห้าชิ้นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติอันยาวนานของการผลิตบาตรบุ เราหาแนวทางต่อยอดที่ไม่จำเป็นต้องหยุดอยู่แค่การผลิตบาตร แต่ดึงเอาแก่นและเสน่ห์ของการผลิตบาตรบุมาตีความใหม่ให้เป็นภาษาที่ร่วมสมัย เข้ากับบริบทในยุคปัจจุบัน แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าแบบดั้งเดิม รวมถึงสร้างองค์ความรู้ที่สามารถสอดประสานเข้ากับวิถีของคนในยุคนี้ เนื่องจากการทำบาตรบุรูปแบบเดิมต้องยึดตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เราก็พยายามพลิกมุมมองบางอย่าง เพื่อให้สามารถปรับวิธีการทำงานได้”
ต่อยอดงานคราฟต์สู่อนาคต
“งานคราฟต์มีทั้งแบบดั้งเดิมคือมรดกศิลป์กับงานคราฟต์ร่วมสมัยที่เป็นนวัตศิลป์ ในอนาคตเราอยากให้นำงานคราฟต์แบบดั้งเดิมมาต่อยอดให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันให้มากขึ้น หากคนรุ่นใหม่สามารถดึงความน่าสนใจของงานหัตถกรรมดั้งเดิมมาตีความใหม่ หรือนำความเป็นไทยมาสร้างเอกลักษณ์ โดยที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ด้วย ก็จะทำให้งานคราฟต์นั้นน่าสนใจมากขึ้น”
เรื่อง : “sara” ,“ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์” ,“ยุภาวดี บุญภา” ,“Doowoper”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ ,อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม