จัดสวนตามแนวคิดพุทธคติออกมาในรูปแบบสวนเซน
ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมในปัจจุบัน ผู้คนต่างเริ่มแสวงหาความเงียบสงบในแบบของตนเอง พื้นที่ว่างเปล่าแห่งนี้จึงแปรสภาพเป็น “สวนสัจธรรม” สวนธรรมชาติเพื่อการพักผ่อนและหลบหนีความวุ่นวายของคุณสุรพงษ์ ชิดเชื้อ ผู้เป็นเจ้าของและเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง
คุณดอส -ปณัฐ สุมาลย์โรจน์ ผู้ออกแบบสวนแห่งนี้เล่าถึงความเป็นมาของสวนให้ฟังว่า “เดิมที่ตรงนี้เป็นบ้านเก่า คณสุรพงษ์ซื้อเก็บไว้ แล้วทุบบ้านทิ้งทั้งหมด อยากทำให้เป็นที่พักผ่อนสำหรับครอบครัว โจทย์ที่ได้รับในตอนแรกคืออยากได้สถานที่ที่ร่มรื่นสำหรับพักผ่อนเดินเล่นหลังเลิกงาน เขียนงาน นั่งวิปัสสนาทำสมาธิ ครั้งแรกผมก็นึกถึงสวนป่า (Rain Forest) ที่มีต้นไม้เยอะๆ อารมณ์ประมาณเสถียรธรรมสถานหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ถามว่าทำได้ไหมก็สามารทำได้ครับ แต่เราก็จะได้แค่สวนที่มีความสงบร่มรื่นใช้สำหรับพักผ่อนเท่านั้น ผมอยากได้สวนที่ทำให้คนที่เข้ามาใช้ได้คิด ได้เกิดมุมมอง ประกอบกับภรรยาเจ้าของชอบศึกษาธรรมะด้วย ผมเลยเสนอไอเดียสวนที่ใช้คอนเซ็ปต์มาจากพุทธคติ ยึดหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาบางอย่างมาใช้ ลองคัดกรองดูว่าจะนำเรื่องอะไรมาใช้ดี อิทธิบาท 4 หรือสังคหวัตถุ4 ดีไหม แต่พิจารณาดูแล้วเหล่านี้ก็แค่บทคำสอนย่อยๆ ถ้าเราจะพูดถึงองค์รวมจริงๆ อริยสัจ 4 น่าจะเหมาะกว่าทำให้อารมณ์สวนโดยรวมดูนิ่งๆแต่ในความนิ่งก็อยากให้เกิดมุมมองและแง่คิดได้หลากหลายมากขึ้นครับ”
เนื้อที่กว่า 600 ตารางเมตรของสวนสัจธรรมแห่งนี้ได้รับการออกแบบตามแนวคิดแบบพุทธคติ ทุกพื้นที่ภายในสวนแฝงด้วยแง่คิดและคติธรรมให้ผู้ใช้ได้เข้ามาค้นหาและตีความด้วยจิตและสติปัญญาของตัวเอง ซึ่งแก่นแท้ของงานออกแบบเป็นการนำเอาหลักสัจธรรมเกี่ยวกับชีวิตที่เรียกว่า “อริยสัจ 4” อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มาตีความผ่านการจัดสวนในรูปแบบสวนเซน (Zen Tropical Garden) โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซนเชื่อมโยงกัน ดังนี้
โซนที่ 1 : ทุกข์
ทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์พื้นฐานที่เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย หรือทุกข์จากการพลัดพราก ทุกข์จากการไม่สมหวัง การไม่ได้ดังใจปรารนา ทุกข์ในที่นี้ตีความผ่านงานประติมากรรมอันสื่อความหมายถึง “กายหยาบ” ของมนุษย์ที่ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เมื่อมีเกิดก็มีดับ ผุพัง ผุกร่อนตามกาลเวลา และเป็นกายที่พร้อมเปลี่ยนแปลงไปตามที่สภาพสังคมจะหล่อหลอมให้เป็น เฉกเช่นต้นไทรที่ปลูกล้อมรอบรั้วก็เปรียบเหมือนชีวิตของคนที่ถูกตีกรอบไว้ตลอดเวลา
โซนที่ 2 : สมุทัย
เส้นทางชีวิตของคนเราไม่ได้ราบรื่นเสมอไป สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เหมือนกับทางเดินอันคดเคี้ยวที่ประดับด้วยต้นบุหงาส่าหรีที่มีกลิ่นหอม เปรียบเหมือนชีวิตที่ต้องพบพานกับกิเลส ตัณหา ชักนำให้ลุ่มหลงไปกับสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นทุกข์ ซึ่งทุกข์ทั้งหมดอันเป็นปัญหาของชีวิตก็ล้วนมีเหตุทั้งสิ้น ต้นเหตุแห่งทุกข์หรือ “สมุทัย” จึงอุปมาให้เป็นทางเดินวนรอบก้อนหินขนาดใหญ่ที่วางอยู่กลางลาน เปรียบได้กับอุปสรรคปัญหาที่ประสบในทุกวัน เพียงแต่เราจะพุ่งชนหรือจะพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางแก้ไขอุปสรรคเหล่านั้น