จากที่ดินว่างเปล่าสู่ ‘ลิโด’ โรงภาพยนตร์ในความทรงจำของใครหลายคน - บ้านและสวน
โรงภาพยนต์ลิโด

จากที่ดินว่างเปล่าสู่ ‘ลิโด’ โรงภาพยนตร์ในความทรงจำของใครหลายคน

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 เวลา 20.45 น. คือช่วงเวลาฉายหนังรอบอำลาของ “ลิโด” (Lido) โรงภาพยนตร์เก่าแก่ซึ่งกำลังจะกลายเป็นตำนานที่มีเพียงชื่อเสียงให้จดจำ โดยหนังเรื่องสุดท้ายที่เปิดฉายคือเรื่อง ‘Kids on the Slope’

หากถามถึงความเก่าแก่ของโรงภาพยนตร์นี้ ถ้านับเป็นอายุคงต้องเรียกโรงภาพยนตร์แห่งนี้ว่าน้า เพราะลิโดเปิดให้บริการมายาวนานถึง 50 ปี โดยหนังเรื่องแรกที่เข้าฉายคือเรื่อง ‘ศึกเซบาสเตียน’ (Guns for San Sebastian) เข้าฉายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2511

แต่เพราะทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งนั่นทำให้วันนี้ไม่มีโรงภาพยนตร์ลิโดที่ฉายหนังนอกกระแสให้เราแวะไปดูตามประสาคอหนังอีกแล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็อดใจหายไม่ได้ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงโรงภาพยนตร์ลิโด เราจึงขอพาคุณย้อนรำลึกถึงโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ตั้งแต่การเปลี่ยนที่ดินผืนใหญ่ 52 ไร่ให้กลายเป็น ‘สยามสแควร์’ ที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ในตำนานของไทย

ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/Apex-Lido-178476282205992/

จากที่ดินผืนใหญ่สู่ศูนย์การค้าเต็มรูปแบบในชื่อ ‘สยามสแควร์’ โดยมีโรงภาพยนตร์ ‘สยาม – ลิโด – สกาลา’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ

ย้อนเวลากลับในปี พ.ศ. 2508 “คุณวิชัย ซอโสตถิกุล” ผู้บริหารบริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด (ปัจจุบันคือบริษัท ซีคอนโฮม จำกัด) ได้รับโอกาสจากทางจุฬาฯ ให้เข้าไปพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ 52 ไร่ พร้อมกับโจทย์ที่ว่า ให้พัฒนาที่ดินผืนนี้เป็นศูนย์การค้าเต็มรูปแบบ ซึ่งประกอบด้วยอาคารพาณิชย์, โรงภาพยนตร์ และโบว์ลิ่ง

แต่เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนที่ดินผืนนี้ให้เป็นศูนย์การค้าคือแผนงานที่บริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัดต้องนำเสนอต่อทางจุฬาฯ ซึ่งช่วงเวลานั้น “คุณกอบชัย ซอโสตถิกุล” ลูกชายคุณวิชัยได้บุกเบิกระบบก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูปที่เรียกว่า “ระบบซีคอน” จนสมบูรณ์แบบและสามารถใช้ได้จริง และนี่จึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัดเดินหน้าก่อสร้างศูนย์การค้าแห่งนี้อย่างเต็มตัว โดยในขณะนั้นมีป้ายประกาศชื่อโครงการว่า ‘ปทุมวันสแควร์’

โครงการนี้คุณกอบชัยจับมือกับ “คุณพิสิษฐ์ ตันสัจจา” แห่งกลุ่ม Apex เป็นพันธมิตรร่วมก่อสร้างโรงภาพยนตร์ โดยแรกเริ่มโรงภาพยนตร์มีเพียง 2 แห่งคือโรงภาพยนตร์ ‘สยาม’ กับ ‘ลิโด’ แต่แล้วก็เกิดปัญหากับโครงการไอซ์สเก็ต คุณกอบชัยจึงตัดสินใจให้กลุ่ม Apex ปรับพื้นที่ไอซ์สเก็ตให้เป็นโรงภาพยนตร์แห่งที่ 3 ในชื่อว่า ‘สกาลา’

ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/Apex-Lido-178476282205992/

โรงภาพยนตร์ “สยาม – ลิโด – สกาลา” เรียงลำดับเหตุการณ์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นในอีก 1 ปีต่อมา (ปี พ.ศ. 2509) โรงภาพยนตร์ “สยาม” ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเปิดให้บริการในวันที่ 15 ธันวาคม 2509 เปิดฉายภาพยนตร์เรื่องแรกคือ ‘รถถังประจัญบาน’ (Battle of the Bulge) สามารถจุผู้ชมได้ 800 ที่นั่ง โดยจำหน่ายตั๋วหนังเพียง 10,15 และ 20 บาท

ในอีก 2 ปีต่อมา (ปี พ.ศ. 2511) โรงภาพยนตร์ “ลิโด” ก็ได้เกิดขึ้น พร้อมฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘ศึกเซบาสเตียน’ (Guns for San Sebastian) เป็นเรื่องแรกในวันที่ 27 มิถุนายน 2511 โดยในช่วงเวลานั้นสามารถจุผู้ชมได้มากถึง 1,000 ที่นั่ง โดยชื่อ ‘ลิโด’ มาจากชื่อโรงละครคาบาเร่ต์โชว์ที่โด่งดังในกรุงปารีส Le Lido นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/Apex-Lido-178476282205992/

ส่วนโรงภาพยนตร์ “สกาลา” สร้างเสร็จหลังโรงภาพยนตร์ลิโด 1 ปี (ปี พ.ศ. 2512) พร้อมเปิดฉาย ‘สองสิงห์ตะลุยสิบทิศ’ (The Undefeated) ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้าฉายในวันที่ 31 ธันวาคม 2512 โดยโรงภาพยนตร์สกาลามีขนาดใหญ่พอๆ กับลิโด ซึ่งสามารถบรรจุผู้ชมได้ 1,000 ที่นั่ง ที่สำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2555 โรงภาพยนตร์สกาลายังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกในพระบรมราชูปถัมภ์

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2536 ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงภาพยนตร์ลิโด จนต้องปิดปรับปรุง จากโรงภาพยนตร์ที่มีเพียง 1 โรงถูกปรับให้มี 3 โรงที่มีขนาดเล็กลง โดยโรงแรก 147 ที่นั่ง, โรงที่สองและโรงที่สาม 243 ที่นั่ง ส่วนพื้นที่ด้านล่างโรงภาพยนตร์เปิดเป็นร้านค้าเล็กๆ ให้เช่าขายของ ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ก็เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อโรงภาพยนตร์สยามถูกลอบวางเพลิงจากการชุมนุมทางการเมือง จนทำให้โรงภาพยนตร์สยามจำต้องปิดตัวลง

จากปี 2511 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 กับระยะเวลา 50 ปีโรงภาพยนตร์เก่าแก่ที่ชื่อว่า ‘ลิโด’ ก็ได้ปิดตัวลงอย่างถาวร ขณะที่โรงภาพยนตร์สกาลายังคงเปิดให้บริการต่อไป

ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/Apex-Lido-178476282205992/

ความรักที่มีต่อ ‘ลิโด’ คอหนังเท่านั้นถึงจะเข้าใจ

หากถามถึงเหตุผลที่ทำให้คอหนังหลายคนอาลัยอาวรณ์โรงภาพยนตร์แห่งนี้นัก นอกจากความผูกพันกว่า 50 ปีของคอหนังแล้ว โรงภาพยนตร์ลิโดแห่งนี้ยังเปรียบเสมือนพื้นที่อิสระของคนหนังและวงการภาพยนตร์ของไทย เพราะหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของลิโดคือ การคัดภาพยนตร์ ‘นอกกระแส’ มาฉาย คอหนังจึงได้รับชมภาพยนตร์หลากหลาย อย่างภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ปี 2552 ที่มีฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์ของเครือ Apex เท่านั้น หรือในช่วงเทศกาลภาพยนตร์ อาทิ คานส์ บาฟต้า ลูกโลกทองคำ และออสการ์ โรงภาพยนตร์ลิโดก็จะขนภาพยนตร์ที่มีรายชื่อเข้าชิงมาฉายให้ดูแบบมาราธอนตลอด 3 เดือนโดยไม่จำกัดสัญชาติของภาพยนตร์

ผนวกกับการคงความคลาสสิกอย่างตั๋วหนังยุค 70s ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของลิโดที่ทำให้คอหนังและนักสะสมหลงรัก ที่สำคัญราคาตั๋วที่น่ารัก ซึ่งมักจะถูกกว่าโรงภาพยนตร์ทั่วไป ทำให้ลิโดเป็นโรงภาพยนตร์ที่หลายคนหลงรัก จึงไม่แปลกเมื่อการลาจากของลิโดจะสร้างความเศร้าชวนใจหายให้ใครหลายคน

อ้างอิงข้อมูล:

หนังสือ กอบชัย ซอโสตถิกุล : สูตรสำเร็จ-เรียบง่ายจาก ‘อิฐก้อนหนึ่ง’ ถึง ‘ซีคอนสแควร์, เขียนโดย สมปรารถนา คล้ายวิเชียร, สำนักพิมพ์มติชน, ปี 2544