เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับระบบบำบัดสระว่ายน้ำ - บ้านและสวน x POOL&SPA
ระบบบำบัด สระว่ายน้ำ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับระบบบำบัดสระว่ายน้ำ

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้สระว่ายน้ำก็คือ การหมุนเวียนน้ำในสระและระบบบำบัดน้ำ ซึ่งเป็นการนำน้ำในสระไปผ่านกระบวนการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค ก่อนจะจ่ายกลับเข้ามาในสระโดยการหมุนเวียนอย่างทั่วถึง

การหมุนเวียนน้ำในสระว่ายน้ำที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ระบบ คือ

1. ระบบน้ำล้น (Overflow System)

ระบบบำบัด สระว่ายน้ำ
สระว่ายน้ำระบบน้ำล้น (Overflow System)

สระว่ายน้ำระบบน้ำล้นประกอบด้วย ตัวสระ ถังสำรองน้ำ ห้องเครื่องที่ติดตั้งปั๊มน้ำเครื่องกรอง และระบบฆ่าเชื้อโรคไว้ด้านใน การหมุนเวียนของสระระบบน้ำล้นจะวนเป็นลูป ดังนี้ ปั๊มน้ำจะดูดน้ำจากถังสำรองน้ำ ไปผ่านเครื่องกรองน้ำ (เครื่องกรองผ้า หรือ เครื่องกรองทราย) ผ่านระบบฆ่าเชื้อโรค และจ่ายกลับเข้าไปที่หัวจ่ายน้ำที่บริเวณพื้นสระว่ายน้ำ ดันสารแขวนลอยใบไม้และเศษผงต่างๆ ล้นลงไปยังรางน้ำไหลลงสู่ถังสำรองน้ำเพื่อรอการบำบัดต่อไป ผิวหน้าน้ำของสระน้ำล้นจึงปราศจากฝุ่นผงและสารแขวนลอยต่างๆ ทำให้น้ำในสระดูใสสะอาดตา

2. ระบบสกิมเมอร์ (Skimmer System)

ระบบบำบัดสระว่ายน้ำ
สระว่ายน้ำระบบสกิมเมอร์ (Skimmer System)

สระระบบสกิมเมอร์เป็นสระที่ไม่มีถังสำรองน้ำ มีเพียงตัวสระและห้องเครื่องเท่านั้น การหมุนเวียนน้ำของสระระบบสกิมเมอร์คือ ปั๊มน้ำจะดูดน้ำจากช่องสกิมเมอร์ที่ด้านข้างสระว่ายน้ำ และที่สะดือสระตรงพื้นสระ ไปผ่านเครื่องกรองน้ำและ ระบบฆ่าเชื้อโรค จากนั้นจ่ายเข้าไปที่หัวจ่ายน้ำที่ผนังสระ เพื่อดันฝุ่นละอองและใบไม้ไปที่ช่องสกิมเมอร์ให้ปั๊มน้ำดูดไปบำบัดต่อไป แต่เนื่องจากช่องสกิมเมอร์ถูกติดตั้งไว้แค่บางส่วนของสระว่ายน้ำ จึงทำให้ยังมีสารแขวนลอยหลงเหลืออยู่ในสระว่ายน้ำบ้างถือเป็นเรื่องปกติ

การบำบัดน้ำสำคัญยังไง

หลักสำคัญของการบำบัดน้ำในสระว่ายน้ำก็เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้ใช้ ดังนั้นผู้ผลิตสระว่ายน้ำส่วนใหญ่จึงผลิตระบบกรองที่มีหน้าที่ช่วยกำจัดใบไม้ แมลง และอนุภาคขนาดเล็กอื่นๆ ควบคู่ไปกับการออกแบบรูปทรงของสระว่ายน้ำที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า

ระบบบำบัดน้ำของสระว่ายน้ำที่นิยมใช้งานในปัจจุบันมีอยู่ 3 ระบบ คือ

1.ระบบคลอรีน (Chlorine System)

ระบบบำบัด สระว่ายน้ำ
ระบบบำบัดน้ำแบบคลอรีน (Chlorine System)

เป็นระบบฆ่าเชื้อโรคที่นิยมใช้กันมาก เพราะราคาถูกและมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำพอสมควร คลอรีนที่จำหน่ายในท้องตลาดมักอยู่ในรูปของเหลว เม็ด และผง เพียงแค่ละลายลงในสระว่ายน้ำก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้แล้ว แต่ค่า pH ของน้ำที่เหมาะสมต่อประสิทธิภาพการทำงานของคลอรีนควรอยู่ระหว่าง 7.2 – 7.8 หากมีค่าสูงแสดงว่าน้ำมีความเป็นด่างมาก และหากน้ำในสระมีค่า pH ต่ำ คือมีความเป็นกรดสูง ต้องเติมสารหรือเคมีภัณฑ์เพื่อปรับสภาพน้ำให้เป็นกลาง

2. ระบบน้ำเกลือ (Salt-Chlorinator System)

ระบบบำบัดสระว่ายน้ำ
ระบบบำบัดน้ำแบบน้ำเกลือ (Salt-Chlorinator System)

มีความปลอดภัยกว่าการใช้คลอรีนแบบเดิม โดยอาศัยเครื่องฟอกน้ำบรรจุเกลือที่มีสมรรถนะสูง เรียกว่า Salt-Chlorinator สามารถรักษาน้ำในสระให้สะอาดเหมือนน้ำในทะเล แต่มีความเค็มน้อยกว่าน้ำทะเล เนื่องจากเกลือที่ใช้เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติจึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังอีกด้วย แต่น้ำในสระว่ายน้ำจะมีรสกร่อยเล็กน้อย

3. ระบบ ยูวี โอโซน UV Ozone

ระบบบำบัดสระว่ายน้ำ
ระบบบำบัดน้ำแบบโอโซน (Ozone System)

ระบบ UV Ozone เป็การฆ่าเชื้อโดยการนำน้ำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสียูวี ควบคู่ไปกันก๊าซโอโซน ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคค่อนข้างสูง ขจัดสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำได้ดี ไม่มีสารตกค้างในน้ำ และช่วยประหยัดการใช้สารเคมีลงถึง 90% เนื่องจากโอโซนฆ่าเชื้อโรคที่มากับน้ำที่ไหลผ่านเท่านั้น ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ตามกระเบื้องในสระ จึงยังต้องใช้ควบคู่กับคลอรีน แต่ใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ 80-90% และมีราคาค่าติดตั้งค่อนข้างสูง

เปรียบเทียบระบบบำบัดน้ำของสระว่ายน้ำทั้ง 3 ระบบ

ระบบคลอรีน (Chlorine System)

ข้อดี

  • ราคาถูก
  • หาซื้อได้ง่าย
  • ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อบำบัดน้ำ

ข้อด้อย

  • อาจเกิดการระคายเคืองกับผิวหนังได้
  • มีกลิ่นฉุนที่เกิดจากการระเหยของคลอรีน
  • มีค่าใช้จ่ายในการเติมคลอรีนประจำ

ระบบน้ำเกลือ (Salt-Chlorinator System)

ข้อดี

  • ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • เพิ่มความชุมชื้นให้ผิวหนัง

ข้อด้อย

  • มีความเป็นด่าง จึงทำให้น้ำในสระมีรสกร่อย

ระบบ ยูวี โอโซน UV Ozone

ข้อดี

  • มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำ โดยใช้เวลาในการฆ่าเชื้อโรคสั้นกว่าระบบอื่น
  • ไม่มีสารตกค้างในน้ำ

ข้อด้อย

  • ราคาค่าติดตั้งสูง

หมายเหตุ: *สำหรับสระว่ายน้ำขนาด 4 x 8 เมตร
**ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสระว่ายน้ำ ประกอบด้วยค่าสารเคมีทำความสะอาดสระ ไฟฟ้า และค่าแรง

สนับสนุนข้อมูลโดย บริษัทพูลแอนด์สปา จำกัด

POOL&SPA
พูลแอนด์สปา POOL&SPA