ปูกระเบื้องใหม่ทับกระเบื้องเก่า ต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง
เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำหรับบ้านที่อยากจะปูกระเบื้องในห้องน้ำใหม่หลังจากที่ใช้มานานจะสีคล้ำไม่สวยสดใส หรือลวดลายไม่ทันสมัยตกรุ่นไปไกล แต่จะรื้อกระเบื้องเก่าออกแล้วปูใหม่ก็เป็นเรื่องยุ่งยาก ไปจะต้องเจอปัญหาเรื่องช่าง การทุบรื้อสกัดกระเบื้องเดิมทิ้ง เกิดขยะที่ต้องขนย้ายอีก แบบนี้จะปูกระเบื้องใหม่ทับของเดิมไปเลยได้ไหม? หรือมีข้อควรคำนึงใดให้ต้องตรึกตรองบ้าง วันนี้ช่างประจำบ้าน x บุญถาวร มีคำตอบมาบอกครับ
ข้อพิจารณาก่อนปูกระเบื้องทับของเดิม
- สำรวจโครงสร้างเดิมว่าสามารถรับน้ำหนักได้มากแค่ไหน แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วการปูกระเบื้องทับของเดิมจะไม่ได้เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวอาคารมากมาย แต่ในกรณีที่กระเบื้องที่ปูใหม่มีน้ำมากบวกกับพื้นที่เดิมเป็นอาคารเก่า ตึกแถวที่มีอายุยาวนานมากกว่า 30 ปี ควรปรึกษาวิศวกรก่อนเป็นการดี
- เช็คดูให้แน่ใจว่าพื้นกระเบื้องเก่าที่จะปูทับนั้น ต้องมีความเรียบเนียน ทุกแผ่นมีระดับเสมอกัน หากพบว่าของเดิมมีจังหวะการปูที่ไม่เท่ากันแนะนำให้รื้อแล้วปูใหม่จะดีกว่า
- ก่อนปูกระเบื้องทับของเดิม อย่าลืมสังเกตระยะห่างของประตูกับพื้นด้วย เพราะเมื่อปูกระเบื้องทับแล้วพื้นจะมีระดับสูงขึ้นประมาณ 2-3 เซนติเมตร หากคำนวณแล้วระยะห่างประตูกับพื้นมีมากพอก็สามารถปูทับได้ แต่ถ้าระยะไม่พอก็อาจจะต้องตัดความยาวของประตูออกตามขนาดที่เหมาะสม
- หากพื้นกระเบื้องเดิมมีการหลุดร่อนแตกหัก ให้สกัดแผ่นที่ชำรุดออกให้เรียบร้อย อย่าปูทับแผ่นที่ชำรุดเป็นอันขาด
- การปูกระเบื้อง ห้ามปูแบบโบราณหรือปูแบบซาลาเปาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้กระเบื้องหลุดร่อนได้ง่าย
อุปกรณ์สำหรับปูกระเบื้อง
- ค้อนหัวยาง สำหรับเคาะกระเบื้องให้ติดแน่น
- เกรียงหวี สำหรับปาดกาวซีเมนต์
- กาวซีเมนต์ ที่มีคุณภาพในการยึดเกาะสำหรับเชื่อมระหว่างกระเบื้องเก่าและใหม่
- หวีปาดยาแนวกระเบื้อง
- อุปกรณ์จัดแนวกระเบื้องหรือสเปซเซอร์พลาสติก
- ฟองน้ำสำหรับทำความสะอาดกระเบื้อง
- กาวยาแนว ที่มีคุณภาพป้องกันเชื้อรา
ขั้นตอนการปูกระเบื้องใหม่ทับกระเบื้องเก่า
1. ทำความสะอาดพื้นผิวกระเบื้องเดิมให้ปราศจากฝุ่น เศษปูน รวมทั้งสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ
2. ผสมกาวซีเมนต์กับน้ำในอัตราส่วนปูนซีเมนต์กาว 4 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ใน บรรจุภัณฑ์ จนได้ปูนที่มีเนื้อครีมเหนียวๆ ทิ้งไว้สักพักประมาณ 15 นาที ให้เนื้อปูนทำปฏิกิริยากับน้ำจนเข้าที่
3. จากนั้นใช้เกรียงตักปูนกาวลงไปบนพื้นกระเบื้องเดิมเกลี่ยปูนให้เรียบแล้วใช้เกรียงหวีปาดร่อง ทำได้ทั้งแบบร่องวงกลมหรือร่องเส้นตรง จากนั้นปาดกาวซีเมนต์ที่แผ่นกระเบื้องเพื่อเพิ่มการยึดติด
4. ค่อยๆ วางกระเบื้องลงไปแต่ละแผ่น โดยให้สังเกตลูกศรบริเวณหลังแผ่นกระเบื้องที่ระบุไว้สำหรับต่อลาย เว้นระยะห่างระหว่างแผ่นประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เป็นร่องยาวแนวกระเบื้อง ถ้าเว้นระยะชิดกันมากเกินไปจะทำให้ยาแนวมันแตกง่ายหลดร่อนได้ง่าย ระยะร่องยาแนวที่อยู่ที่ 2-3 มิลลิเมตร ถ้าเป็นกระเบื้องเจียรขอบหรือขัดขอบส่วนมากจะเว้นร่องยาแนวอยู่ที่2 มิลลิเมตร ถ้าไม่กระเบื้องเจียรขอบเว้นร่องยาแนวอยู่ที่ 3 มิลลิเมตรขึ้นไป หากคำนวณไม่ถูกให้ใช้สเปซเซอร์พลาสติกที่มีจำหน่ายตามร้านวัสดุก่อสร้างก็จะช่วยกะระยะได้ง่ายขึ้น
5. ใช้ด้ามเกรียงหรือค้อนยางเคาะลงไปบนกระเบื้องเบาๆ เพื่อให้กระเบื้องติดกับปูนได้ดีขึ้น ปล่อยให้ปูนซีเมนต์กาวแห้งเป็นเวลา 12-24 ชั่วโมงจากนั้นเป็นขั้นตอนลงยาแนวกระเบื้องต่อไป
TIP ร่องยาแนวมีประโยชน์อย่างไร?
ตามธรรมชาติอุณหภูมิของปูนมันหดหรือขยายตัวได้ หากอุณหภูมิร้อนปูนก็จะคลายตัวออก ถ้ามีความเย็นปูนก็จะหดตัวลง การเว้นร่องยาแนวจึงเป็นการสร้างพื้นที่ว่างระหว่างกระเบื้องเพื่อป้องกันไม่ให้กระเบื้องดันกัน เป็นส่วนที่จะทำให้กระเบื้องรักษาสมดุลของมันได้เมื่อมีการหดขยายตัว ในขณะเดียวกัน ร่องยาแนวก็เป็นแหล่งสะสมเชื้อราเชื้อโรค ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีจะเห็นได้ชัดอย่างบริเวณห้องน้ำ ฉะนั้นการเลือกยาแนวกระเบื้องจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาคุณสมบัติการป้องการเชื้อรา นอกเหนือจากการยึดติดที่เหนียวแน่นด้วยเช่นกัน
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.boonthavorn.com
LINE Official Account บุญถาวร: @boonthavorn
Facebook: www.facebook.com/boonthavorn/