ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ ?
“Beyond Bliss หรือ สุขสะพรั่งพลังอารต์” คือแนวคิดหลักในการจัดงานของ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 (บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018)ที่กำลังจัดขึ้นทั่วสถานที่สำคัญในกรุงเทพ 20 แห่ง ซึ่งศิลปิน 75 คนจาก 33 ประเทศ ได้ตีความคำว่า “ความสุข”แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ที่แต่ละคนได้พบเจอ
ศิลปินบางคนอาจมองความสุขผ่าน ความสนุก (อย่างเช่นผลงานของ ชเว จอง ฮวา) หรือ บางคนก็มองผ่านความขัดแย้ง ในแง่มุมของความทุกข์ การดิ้นรนเอาชีวิตรอด ความโศกเศร้า และ ปัญหาผู้อพยพ ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่นำเสนอประเด็นที่ชวนให้เราทุกคนได้ลองย้อนมองกลับไปหาคำว่าสุข ในมุมที่เราอาจจะไม่เคยได้ค้นพบมาก่อน
ย้อนกลับไปในกิจกรรม BAB Talk ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้ 5 ศิลปินไทยชื่อดังได้แก่ ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข และ กวิตา วัฒนะชยังกูร มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “ศิลปะสร้างความสุขได้จริงหรือ” ที่ Warehouse 30 เราไปฟังจากเจ้าตัวกันเลยดีกว่าศิลปินแต่ละท่านจะตอบคำถามนี้ว่าอย่างไร
ดุจดาว วัฒนปกรณ์(ภาพบนสุด)
“ศิลปะสร้างได้มากกว่าความสุข อย่างตัวเองที่ตอนเด็กๆเรียนหนังสือไม่เก่ง ทำอะไรก็ไม่เก่งสักอย่าง รู้สึกว่าห้องเรียนมันเป็นสถานที่ที่ผิดที่ผิดทางสำหรับเรามากๆ แต่พอจะกำลังจะได้เต้นในงานเลี้ยงปีใหม่ หรือ ช่วงไหนที่ครูเรียกออกมาเต้นหน้าห้องนั้น รู้สึกดีใจมากๆ และ คิดว่าศิลปะการเต้นมันได้หล่อหลอมให้เป็นตัวเองได้อย่างทุกวันนี้ มันสร้างความรู้สึกสุขใจได้เป็นรูปธรรมอย่างมากๆ”
ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์
“ผลงานศิลปะของเรา มันคือหลักฐานของเวลา ซึ่งมันจะบ่งบอกว่า เราได้ใช้เวลาในชีวิตเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง อย่างงานศิลปะเมื่อสร้างเสร็จแล้วมันเป็นวัตถุที่เป็นรูปธรรมออกมาชิ้นหนึ่ง มันสามารถสื่อสารความคิดของเราออกไปได้ แม้ว่าปกติแล้วคนเราจะนิยามคำว่าความสุขแตกต่างกัน แต่ในฐานะศิลปินผมคิดว่า หากเรามีความสุขกับผลงานศิลปะที่เราสร้างแล้ว ผู้ชมก็สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกตรงนั้นได้เช่นกัน”
สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์
“ด้วยความที่เป็นคนชอบดูงานศิลปะ หากพูดในแง่ผู้ชมงาน เวลาได้เห็นงานที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน มันทำให้เกิดความรู้สึกเติมเต็มในใจ เพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ชิ้นงานศิลปะที่ดีมากๆสามารถพาเราเดินทางไปอีกโลกได้เลย มุมกลับกันในฐานะผู้สร้างงาน เราอยากจะสื่อ ตัวสาร บางอย่างที่ทำให้คนชมแล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากให้งานของเรามันจุดประกายอะไรขึ้นมาบางอย่าง ซึ่งต้องบอกว่าศิลปะนั้นสามารถสร้างความสุขได้จริงๆ ถึงได้ทำมาจนถึงทุกวันนี้”
ต่อลาภ ลาภเจริญสุข
“เมื่อใดมี่คนมาชมงานศิลปะของผม แล้วเกิดความคิดเชื่อมต่อไปยังช่วงเวลาแห่งความสุขของเขาได้ ผมจะมีความสุขมากๆ ซึ่งแน่นอนหากมองในการทำงานศิลปะ มันก็มีทั้ง สุข และ ทุกข์ แต่สำหรับผมมันมีความสุขมากกว่า จึงทำให้ทุกๆเช้าเราอยากจะตื่นเช้าขึ้นมาทำงานศิลปะ มันสนุกมากๆ”
กวิตา วัฒนะชยังกูร
“ศิลปะนั้นสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเอง และ ผู้อื่น โดยสำหรับตัวเองนั้น สิ่งที่ทำให้ แพรว (ชื่อเล่นของ กวิตา) เอง มีความสุขมากที่สุด คือการได้ทำงานร่วมกับคุณแม่ (ผู้ทำหน้าที่ผู้กำกับ และ ช่างภาพ) อีกทั้งงานของเรามันสอนให้รู้จักรับมือการกับความยากลำบากในชีวิต เสมือนการรักษาจิตใจของตนเอง สำหรับการให้ความสุขต่อผู้อื่นนั้น ส่วนตัวรู้สึกว่างานของเรามันเป็นกระบอกเสียงให้กับคนตัวเล็กๆ อย่างเช่น คนใช้แรงงาน ศิลปะของเราทำให้สังคมได้ตระหนักเห็นคุณค่าของพวกเขามากขึ้น ซึ่งการที่เราได้ช่วยเหลือผู้อื่นตรงนี้เอง ที่ทำให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น จากการสร้างงานศิลปะ”
จากคำสัมภาษณ์ของศิลปินทั้ง 5 นั้น มีหลายประเด็นสอดคล้องกันกับแนวคิดการสร้างงานศิลปะ ของศิลปินการแสดงสดระดับโลก อย่าง มารีนา อบราโมวิช โดยเฉพาะการคิดถึงประเด็นคำถามนี้ ในมุมที่มากกว่าความสุขของผู้สร้างงาน แต่ยังคำนึง ถึง ผู้ชมและสังคมโลกในภาพรวม ในเสวนาเต็มรูปแบบ ที่ สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์เธียเตอร์ สยามพารากอน มารีนาได้นำเสนอแนวคิดการสร้างงานศิลปะไว้อย่างน่าสนใจว่า “ศิลปะควรจะหล่อเลี้ยงและส่งเสริมอารมณ์ด้านบวก เพื่อสนับสนุนให้แต่ละคนเป็นคนที่ดีขึ้น และสุดท้ายแล้วสังคมจะดีขึ้นได้โดยมีผลงานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น”
ไม่ว่าท่านผู้อ่านแต่ละท่านจะนิยามคำว่า “ความสุข” หรือ คำว่า “ศิลปะ” ไว้อย่างไร
หรือ อาจจะยังสงสัยว่าศิลปะสร้างความสุขได้จริงๆ หรือไม่ ?
ขณะนี้งานศิลปะมากกว่า 200 ชิ้น จาก 75 ศิลปินทั่วโลก ได้มาอยู่กรุงเทพฯ ประเทศไทยแล้ว วิธีที่จะหาคำตอบ ของคำถามดังกล่าวได้ดีที่สุด คือ ก้าวออกมาชมงานศิลปะด้วยตัวท่านเอง
และหากใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มชมงานชิ้นไหน ที่ใดก่อน เริ่มต้นศึกษาจาก 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ได้เลย
เรื่อง และ ภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์