บ้านโมเดิร์นวิถีไทย หลังนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่คิดถึงการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งสำหรับความต้องการของผู้ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้
เพราะ บ้านโมเดิร์นวิถีไทย หลังนี้สะท้อนชีวิตที่เต็มไปด้วยรายละเอียด แต่ละช่วงเวลาเราเรียนรู้และปรับตัวเพื่ออนาคตที่กำลังจะเคลื่อนผ่านแม้ “บ้าน” จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้แต่ทุกชีวิตในบ้านมีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนที่เคลื่อนย้ายอยู่เสมอ รายละเอียดในการอยู่อาศัยจึงแปรผันตามสิ่งที่เรียกว่า “การออกแบบ”
บ้านของ รองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 63 บ้านนี้ไม่ใช่บ้านหลังแรกบนที่ดินผืนนี้ แต่เป็นบ้านที่สร้างใหม่แทนบ้านเดิม นั่นเพราะทุกอย่างเปลี่ยนไป
“เดิมพื้นที่นี้มีบ้านหลังหนึ่งอายุ 40 ปีแล้ว อาจารย์อรศิริ ปาณินท์ แม่ของอาจารย์ต้นข้าวออกแบบไว้และต่อเติมมาเรื่อยๆ อยู่ติดกับบ้านน้องชายชื่อ กอไผ่ ซึ่งสร้างบ้านบนที่ดินที่แม่ยกให้ติดกับบ้านแม่ บ้านเดิมอยู่กันสามคน พ่อ แม่ และตัวอาจารย์ต้นข้าว พ่อเป็นศิลปิน แม่เป็นอาจารย์และสถาปนิกเช่นกัน บ้านเดิมมีต้นไม้ใหญ่หลายต้นปลูกตั้งแต่เริ่มสร้างบ้าน และเนื่องจากบ้านเดิมเป็นโครงสร้างพื้นแข็งบนดิน (Slab on Ground) และมีอายุค่อนข้างมากแล้ว ประกอบกับตัวบ้านอยู่ต่ำกว่าถนนหน้าบ้านพอสมควร และด้านหลังบ้านติดคลองเวลาฝนตกหนักๆ น้ำจะท่วมบริเวณบ้านอยู่แล้ว เมื่อน้ำท่วม เรามองเห็นปัญหาระยะยาว และเปรียบเทียบแล้วเห็นว่า ถ้าจะซ่อมแซมบ้าน วางระบบทุกสิ่งใหม่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร อาจพอๆ กับสร้างบ้านใหม่และมีปัญหาเรื่องที่ดินอยู่ต่ำมาก จึงตัดสินใจทำบ้านใหม่กันเลยดีกว่า
“บ้านเดิมมีต้นไม้ใหญ่มาก การวางผังบ้านใหม่จึงต้องหลบต้นไม้เหล่านั้น อยากให้ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเหมือนเดิม บ้านเดิมมีการแยกส่วนใช้สอยชัดเจน ส่วนของพ่อแม่และส่วนของอาจารย์ต้นข้าวเหมือนเป็นบ้านสองหลังเชื่อมกัน ทำให้ทุกคนมีชีวิตส่วนตัวของตัวเอง บ้านใหม่จึงต้องการชีวิตลักษณะเดียวกัน แต่แยกบ้านออกเป็นสองหลังล้อมคอร์ตกลางที่มีต้นไม้ใหญ่ ทำให้คอร์ตกลางเป็นเหมือนกับอาณาจักรส่วนตัว
“โปร่ง โล่ง สบาย คือสิ่งที่อาจารย์ปีหนึ่งปีสองสอนเรามาเรื่องการถ่ายเทอากาศ (CrossVentilation) ซึ่งเป็นเรื่องจริง! อยากได้บ้านโล่งๆโปร่งๆ หายใจได้ตลอดเวลา เพราะอยากสัมผัสอากาศ ตอนหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่ทะเลหนึ่งเดือนรู้สึกสบายใจที่มีชีวิต open air บ้าง อยากรู้สึกว่าอยู่นอกบ้านก็เหมือนอยู่ในบ้าน อยู่ในบ้านก็เหมือนอยู่นอกบ้าน จึงได้บ้านที่เป็นทางเดินเปิดโล่ง ส่วนใต้ถุนโล่งนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้ทำหนีน้ำ เพราะถมที่ขึ้นมาสูงกว่าระดับที่น้ำท่วมแล้ว แต่อยากได้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับนั่งเล่น รับประทานอาหาร ทำงาน และพบปะสังสรรค์ เป็นทุกสิ่งในเวลาเดียวกัน
“ขนาดช่วงเสา 3×3 เมตร ใช้ขนาดที่คิดว่าเล็กที่สุดที่จะอยู่ได้สบาย เพราะคิดว่าเล็กๆ อาจดีกว่าที่จริงแล้วเราใช้พื้นที่ไปกับการเก็บของที่ไม่ได้ใช้จึงอยากจะลองจำกัดตัวเองดูว่า พื้นที่เล็กที่สุดแค่ไหนที่เราจะอยู่ได้อย่างพอดี
“ใช้โครงสร้างเหล็กเพราะว่าเร็วและ flexibleมาก ไม่เคยทำบ้านโครงสร้างเหล็กมาก่อนเลยบ้านตัวเองเป็นหลังแรก ทำแล้วชอบในความสนุกและความยืดหยุ่นของการออกแบบ รวมทั้งความเร็วในการสร้าง บวกกับความคิดที่อยากได้อะไรที่เบาและลอย โครงสร้างเหล็กตอบโจทย์เหล่านั้นได้ หนีน้ำไปเมื่อตุลาคม 2554 ย้ายเข้าบ้านใหม่ตุลาคม 2555ระหว่างที่หนีน้ำท่วมไป ก็ตัดสินใจทำบ้านใหม่และเริ่มออกแบบเลย เพราะไม่มีอะไรจะทำ เอางานไปทำก็ขี้เกียจทำ เลยออกแบบบ้านตัวเองดีกว่า เนื่องจากผู้รับเหมาและคนที่มาช่วยประสานงานให้เป็นลูกศิษย์ที่เรียนจบปริญญาโทไปแล้ว ก็มีส่วนทำให้งานเสร็จเร็วและปัญหาน้อย”
ผังบ้านวางเป็นรูปตัวแอล (L) ชั้นสองแบ่งเป็นสองฝั่ง มีบันไดขึ้นสู่ห้องนอนของตัวเองบ้านโอบสวนส่วนกลางอย่างอบอุ่น ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่มานานยังคงยืนต้นเด่นให้ร่มเงาอย่างร่มรื่น เมื่อบ้านเย็น คนก็เย็นไปถึงหัวใจ นี่ไม่ใช่ความบังเอิญการคงต้นไม้ใหญ่ไว้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการวางแผนตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการก่อสร้าง เพราะกิ่งก้านที่แผ่ออกไปกว้างใหญ่แค่ไหน รากที่หยั่งลึกลงดินก็แผ่กว้างเท่านั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการก่อสร้างและขุดเจาะดิน หากการก่อสร้างกระทบต่อรากแก้วหลักเพียงเล็กน้อย ต้นไม้อาจล้มตายในที่สุด
บ้านหลังนี้ยังเกิดจากการนำหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรมมาผสมผสานกับประสบการณ์ของอาจารย์ต้นข้าว เน้นการอยู่สบาย ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา ออกแบบพื้นที่อย่างพอเพียง ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป ทำให้ทุกอย่างออกมากลมกล่อมและเหมาะสมกับการใช้งานที่สุด
“ห้องนอนที่ไม่ใหญ่เกินไปทำให้เราหลับสบาย ทางเดินระเบียงไม่จำเป็นต้องกว้างมาก เพราะเราจะได้เดินสวนกันอย่างใกล้ชิด ความสูงจากพื้นถึงฝ้าก็ไม่ต้องเยอะ ทำให้รู้สึกปิดล้อมและอบอุ่น มีทางเดินกึ่งภายนอกบ้างเพื่อให้เราได้รับรู้ถึงอากาศรอบตัว ไม่ได้อยู่แต่ในห้องแอร์”
แม้อากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อยขึ้นทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงแน่นอนคือสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวของประเทศไทย การเลือกใช้ผนังก่ออิฐช่องลมช่วยบังแสงแดด แต่ไม่บังลม การมีชายคายื่นยาวเพียงพอกับการบังแดด รวมถึงการยกใต้ถุนก็เป็นตัวช่วยให้บ้านระบายความร้อนออกไปได้เร็วที่สุดลดการมีพื้นคอนกรีตแข็งกระด้างขนาดใหญ่ เพราะเป็นตัวสะสมความร้อน โดยเน้นปลูกหญ้าหรือโรยกรวดแทน ส่วนที่ปิดทึบด้วยประตูหรือหน้าต่างกระจกมีเพียงห้องนอนและห้องทำงานชั้นบนเท่านั้นส่วนทางเดินหรือระเบียงปราศจากผนังทึบเพื่อการระบายอากาศที่ดีนั่นเอง
การมาเยือนบ้านหลังนี้ไม่เพียงย้ำให้รู้ว่าบ้านที่เหมาะกับเมืองไทยเป็นอย่างไร แต่ผมยังรู้สึกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งดี หากเรามองว่านี่คือโอกาสที่จะได้คิดอะไรใหม่ๆ อย่างน้อยก็ใช้เวลาคิดมากขึ้น
เจ้าของ : รองศาสตราจารย์ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ บ้านโมเดิร์นวิถีไทย
ออกแบบ : รองศาสตราจารย์ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และคุณธนาคาร โมกขะสมิต
เรื่องโดย : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพโดย : สังวาล พระเทพ