ระเบียงไม้สังเคราะห์ กันฝนได้ดีจริงไหม
วัสดุ ไม้สังเคราะห์ ประเภทแรกที่หลายคนนึกถึงคือ ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber cement) เพราะราคาที่ถูกกว่าแบบผงไม้ผสมกับพลาสติก ที่เรียกว่า WPC หรือ Wood Plastic Composite อย่างมาก
ไม้สังเคราะห์ ที่เป็นวัสดุประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์มีการพัฒนามานานหลายสิบปี ถูกนำมาใช้งานอย่างหลากหลาย ทั้งไม้ฝา ไม้รั้ว ไม้ระแนง จนมาถึงไม้พื้นในปัจจุบัน ซึ่งวัสดุประเภทนี้มีหลายระดับราคา เกรดสูงก็ราคาแพงหน่อย เช่น ชนิดที่มีสีในเนื้อวัสดุเลย พื้นผิวชั้นบนสุดเป็นรอยขูดขีด สีก็ยังอยู่ แต่ที่เกรดต่ำลงมา พื้นผิวเป็นรอย ก็จะมองเห็นสีปูนทันที บางรุ่นก็ทำออกมาเพื่อต้านทานการดูดซึมน้ำด้วยส่วนผสมของปูนที่หนาแน่นขึ้น ดังนั้น ปัญหาเรื่องความคงทนต่อฝนฟ้าอากาศ จึงขึ้นอยู่กับเกรดของวัสดุเหล่านี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไฟเบอร์ซีเมนต์ผลิตมาจากปูน ทราย(ซิลิก้า) และเยื่อไม้ หรือที่ชอบเรียกกันว่า เส้นใยไฟเบอร์ ดังนั้น ด้วยคุณลักษณะของมัน จึงสามารถดูดซึมน้ำไว้ในตัวเองได้อยู่แล้ว เมื่อถามว่าสามารถกันฝนได้ดีไหม คำตอบจึงต้องพิจารณาลึกลงไปถึงพื้นที่การติดตั้งด้วย ถ้าไปค้นหาหรือตั้งคำถามว่ายี่ห้อไหนดี คำตอบที่ได้จะหลากหลายมาก บางคนบอกติดตั้งมานานหลายปี น้ำท่วมจนพื้นอยู่ใต้น้ำด้วย ยังทนทานอยู่เลย บางคนบอกติดตั้งเสร็จก็แทบจะพังแล้ว ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ไม่ดีเลย แต่สิ่งที่เราไม่รู้เลยจากคำตอบเหล่านั้นก็คือ ลักษณะของการติดตั้ง และใช้งาน
บางคนนำไฟเบอร์ซีเมนต์ไปทำระเบียงจริง แต่ก็มีหลังคาแบบชนิดโปร่งแสงยื่นออกมาเพื่อกันฝนด้วย บางคนปูทับลงบนพื้นซีเมนต์เลย บางคนยกพื้นขึ้นสูงโดยใช้โครงเหล็ก บางคนปูแบบพื้นชนชิดติดกันทุกแผ่น บางคนเว้นระยะห่างระหว่างแผ่นด้วยเพื่อระบายอากาศ ทำให้พื้นแห้งดี และประหยัดจำนวนวัสดุ แต่ก็เสี่ยงกับเศษฝุ่น หรือสัตว์มีพิษเล็กๆ ลงไปอาศัยได้ บางคนเจอช่างติดตั้งทำไว้ไม่ดี เป็นแอ่งเกิดน้ำขังบนพื้นก็มี บางคนทำระเบียง แต่แทบจะไม่ได้ออกไปเดินเหยียบเลยก็มีอีก หลากหลายกรณี ดังนั้น การนำความเห็นที่ได้รับฟังมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจจึงยากพอสมควร เพราะส่วนมากจะเปรียบเทียบบอกกล่าวกันแค่ยี่ห้อไหนทน แต่ไม่มีใครบอกรายละเอียดพร้อมภาพประกอบให้เห็นเลย
หากถามว่า กรณีเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไร ต้องขอยกตัวอย่างนิดนึง ลักษณะของวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์จะดูดซึมน้ำไว้ในตัวเองได้พอสมควร ดังนั้นจึงต้องมีการเคลือบผิวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำสามารถซึมเข้าไปภายในได้ ถ้าการเคลือบผิวทำได้ไม่ดี และพื้นที่ใช้งานถูกเหยียบย่ำตลอด ลักษณะการใช้งานเป็นเส้นทางเดินและสวมรองเท้าด้วย สีที่เคลือบผิวก็จะหลุดร่อนเร็วขึ้น พื้นผิวชั้นบนสุดเสียหายได้ง่าย และพื้นไม้สังเคราะห์ก็ดูดซึมน้ำได้มากขึ้น เมื่อฝนตกใหม่ๆ น้ำยังอยู่ภายในพื้นไม้สังเคราะห์ปริมาณมาก เดินเหยียบย่ำเข้าออกตลอด ก็ทำให้วัสดุปริแตกได้ง่าย เพราะกำลังอ่อนนุ่มและบวมน้ำ ในขณะที่บ้านอีกหลังหนึ่ง ดูแลเคลือบผิวไม้สังเคราะห์ตลอด หลุดร่อนก็ทาใหม่ และใช้งานเหมือนเป็นระเบียงเพื่อการตกแต่ง แทบจะไม่ได้เดินเหยียบเลย และไม่ได้ใช้งานหลังฝนตกใหม่ๆ น้ำที่สะสมอยู่ภายในพื้นไม้สังเคราะห์ก็ระเหยออกไปจนหมดแล้ว วัสดุกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม จึงขอทิ้งเป็นคำถามว่าพื้นไม้สังเคราะห์บ้านใครจะทนกว่ากัน? ดังนั้น เราจึงได้รับคำตอบที่หลากหลาย แม้จะเป็นยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน บางคนว่าทน บางคนว่าไม่เห็นทนเลยก็เพราะเหตุนี้ครับ
หากอยากนำไม้สังเคราะห์มาทำระเบียง และต้องการเรื่องความคงทน ไม่ดูดซึมน้ำ และมีปัญหาน้อย ขอแนะนำให้มองหา Wood Plastic Composite มาใช้แทนไม้สังเคราะห์แบบไฟเบอร์ซีเมนต์ แต่ต้องยอมรับว่าแพงกว่ากันมากทีเดียว ซึ่งก่อนจะเลือกซื้อก็ต้องพิจารณาความหนาและคุณภาพของ WPC ยี่ห้อนั้นๆ ด้วยเหมือนกัน อย่าลืมว่าพลาสติกมีหลายเกรด และที่สำคัญ วัสดุทุกชนิดย่อมมีอายุการใช้งาน การดูแลรักษาวัสดุต่างๆ ที่เรานำมาใช้งานให้ดีจะช่วยยืดอายุของวัสดุเหล่านั้นเสมอ และความทนทานก็มักจะมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มด้วยทุกครั้ง มันคือเรื่องจริง ที่ต้องทำใจครับ
เรื่อง บ้านนายช่าง
ภาพ คลังภาพบ้านและสวน