แม่น้ำโขงจะเป็นอย่างไรในวันที่เด็กหญิงใบไม้กับเด็กชายตาน้ำเติบโตเป็นผู้ใหญ่
รางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทงานเขียนมีจุดมุ่งหมายส่งเสริมและสนับสนุนงานเขียนประเภทที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างจิตสำนึกสีเขียวหรือสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการ “ปลูกต้นไม้ในใจคน”
เพื่อนิเวศสำนึกที่ยั่งยืน ในปีนี้มีผลงานที่ได้รับรางวัล 2 ผลงาน ซึ่งได้สะท้อนเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์ที่จะปลูกป่าในใจคน ขณะเดียวกันยังเป็น “ปากเสียง” ให้แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกคุกคามจากการพัฒนาของมนุษย์ จนอาจเกินเยียวยา หากยังไม่หาทางแก้ไข…
รางวัลดีเด่น
เรื่อง ระเบิดแก่งโขง หินผา มหานทีรอวันอวสาน
โดย นายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
สารคดีที่พาผู้อ่านไปร่วมสำรวจเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ตั้งแต่ อ.เชียงของ เชียงแสน และเวียงแก่น จ.เชียงราย ฉายาพความยิ่งใหญ่ของมหานทีสี่พันดอนที่มีความสำคัญทั้งในด้านระบบนิเวศ และต่อวิถีชีวิตของผู้คน…หินผาแต่ละก้อนล้วนมีชื่อเรียก มีตำนานบอกเล่าถึงเรื่องราว ความเชื่อ และความผูกพันที่ยาวนานของผู้คนกับธรรมชาติและสายน้ำ…ซึ่งคนเชียงของบอกว่า “ถ้าแม่น้ำของหรือแม่น้ำโขงไม่มีแก่งหรือผา ก็เปรียบเหมือนรูปหน้าของหญิงสาวที่ไม่มีรอยยิ้ม หรือไม่มีคิ้ว เสน่ห์อย่างนี้อยู่คู่แม่น้ำโขงมานานแล้ว”
เมื่อธรรมชาติกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาเส้นทางเดินเรือ การเริ่มระเบิดแก่งหิน แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนพม่า-ลาว ในปี 2545 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการภาคประชาชนในประเทศไทย ที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของโครงการ เพื่อรักษาแก่งหินในเขตแม่น้ำโขงของไทย เอาไว้เพื่อเป็นมรดกของธรรมชาติ และให้วิถีของผู้คนลุ่มน้ำโขงได้ดำรงอยู่ต่อไป
ผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศแม่น้ำโขง การใช้ประโยชน์ของผู้คนตลอดสองฝั่งที่แม่น้ำไหลผ่าน การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่อาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง แต่งานเขียนนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความยุ่งยากและความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมกับประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ ทำให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จีนมีอยู่เหนือประเทศอื่นๆ ในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและการเพิกเฉยของรัฐบาลแต่ละประเทศต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
แม่น้ำโขง…มหานทีที่ไหลรินผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน เมื่อสายน้ำไหลผ่านบริเวณ “ผา” หรือ “แก่ง” อันหมายถึงแท่งหินหรือกลุ่มหินใหญ่ในแม่น้ำที่สลับซับซ้อน รวมถึงสันดอนทราย มันจะถูกแบ่งออกเป็นสายน้ำแคบๆ หลายสาย และเอ่อท่วมประดาสิ่งกีดขวางต่างๆ
ในทางวิชาการ…แม่น้ำโขงมีระบบนิเวศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและเชื่อมโยงกันถึง 11 ระบบ ได้แก่ ริมฝั่ง หนอง ลำห้วยและลำน้ำสาขา หลง กว๊าน แจ๋ม ดอน หาด คก ร้อง และผาหรือแก่ง …ส่วนผู้คนสองฝั่งน้ำก็บอกว่า แก่งในแม่น้ำโขงคือวิถีชีวิตที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เกิด เป็นทั้งจุดจอดเรือหาปลา ที่พักผ่อนหย่อนใจ ริมฝั่งใกล้แก่งก็เป็นแปลงเพาะปลูกพืชผัก เป็นสายน้ำแห่งวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงและหลอมรวมความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ประเพณี เข้ากับวิถีความเป็นอยู่ที่พึ่งพาและผูกพันกับธรรมชาติของผู้คนในภูมิภาคนี้
หากทว่าในสายตาของนักลงทุน ระบบของธรรมชาติเหล่านี้คืออุปสรรคของการเดินเรือเพื่อการค้า การระเบิดแก่งทิ้งจึงเป็นวิธีคิดแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ที่ลืมคำนึงถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ เพราะโครงการระเบิดแก่งหิน ตาม “โครงการร่วมจีน พม่า ลาว และไทย” รวมระยะทาง 631 กม. จากความยาวแม่น้ำโขงตลอดสาย 4,909 กม. ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 8 ของความยาวทั้งสายน้ำ ย่อมส่งผลกระทบกับธรรมชาติ และเกิดความเปลี่ยนแปลงกับวิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งน้ำ ซึ่งพวกเขาแทบไม่ได้รับรู้หรือมีโอกาสได้ร่วมตัดสินใจเลย
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 390 เดือนสิงหาคม 2560)
รางวัลชมเชย
เรื่อง เด็กหญิงใบไม้กับเด็กชายตาน้ำ
โดย นายบรรจง บุรินประโคน
กวีนิพนธ์ 100 บท “ณ ห้วงทรงจำแห่งวันวาร” ผ่านสายตาของผู้เขียน ซึ่งย้อนรำลึกถึงวันเวลาที่งดงามในวัยเยาว์ของเด็กท้องไร่ท้องนา วิ่งเล่นซุกซนยิงนกตกปลาไปตามประสา มีชีวิตอยู่ท่ามกลางสายลม แสงแดด และวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันของอีสานและเขมร บอกเล่าผ่านครอบครัวของเด็กหญิงใบไม้กับเด็กชายตาน้ำ และผู้คนที่หมู่บ้านโนนกระสัง เรื่องราวค่อยพัฒนาตามเวลา เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแต่ละชีวิต มีธรรมชาติอันงดงามเป็นฉากหลังทำหน้าที่ให้กำเนิด ฟูมฟัก และเยียวยา รวมถึงหว่านเพาะสำนึกนิเวศ หล่อหลอมเป็นเด็กหญิงใบไม้ และเด็กชายตาน้ำ ดั่งความบางตอนในงานเขียนนี้
ณ หมู่บ้านสายลมห่มคลุม สายฝนฉ่ำชุ่มคุ้มพฤกษา
หมอกน้ำค้างย่างหยอกคุ้นชินตา ก่อกำเนิดกุมารานาม “ตาน้ำ”
อีกฟากชายคาริมป่าไผ่ สกุณาเล็ก-ใหญ่ต่างร้องร่ำ
ส่งสัญญาณผ่านภาษาเป็นถ้อยคำ เด็กหญิงคมขำเจ้าลืมตา
ส่งเสียงใสแจ๋วขึ้นทักโลก มือน้อยบายโบกคลาย-กำหา
เรียวนิ้วงดงามดั่งปฏิมา เธอชื่อว่า “เด็กหญิงใบไม้”
ทั้งตาน้ำและใบไม้คล้ายความหวัง แห่งหมู่บ้านโนนกระสังคุ้มใหญ่
ผู้เติบโตมาพร้อมทรัพย์สินน้ำใจ ของชาวบ้านผู้ยากไร้กสิกรรม…..
…คิดถึงนาตาแฮกก่อนแรกขวัญ ตายายเคยช่วยกันร่วมหว่านไถ
ขอขมาผีนาภาษาใจ เซ่นพลีหัวนาไร่ตามครรลอง
เป็นธรรมเนียมวิถีบรรพชน แทนคุณฟ้าฝนดินทั้งผอง
เรียกปกปักรักษามาคุ้มครอง จวบจนข้าวอุ้มท้องออกเรียวรวง…
ฝนแรกโปรยปรายส่งสัญญาณถึงการเริ่มฤดูทำนา ชาวนาจะทำพิธี “นาตาแฮก” คือ แรกนาขวัญ เพื่อบูชาพระแม่โพสพให้ผืนดินสมบูรณ์ไว้ทำนาปลูกพืชผัก ผู้คนดำเนินชีวิตไปตามครรลองที่เรียบง่ายของธรรมชาติ ช่วยกันลงแขกดำนา เกี่ยวข้าวแล้วยื่นหม้อข้าวถ้วยแกงแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน จวบเมื่อถึงเวลาสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว ผู้คนก็เริ่มทยอยลาจากบ้านนาเพื่อเข้าสู่เมืองใหญ่
ต่อมาความเปลี่ยนแปลงได้ถาโถมเข้าสู่ชนบท ผืนดินและสายน้ำปนเปื้อนเคมี ฤดูกาลผันแปรไป วัวควายถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรกล หากแต่แม่ของใบไม้และพ่อของตาน้ำยังคงเฝ้าปลูกฝัง “นิเวศสำนึก” ให้กับลูกๆ เพื่อให้รับรู้ถึงบุญคุณที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และเรียนรู้ที่จะเติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคงในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
…ก่อนสอนบอกเด็กหญิงใบไม้ ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เหนือพ่อแม่
ลูกจงเฝ้าเคารพและดูแล ตอบแทนความเผื่อแผ่ด้วยหัวใจ
เช่นกับที่แม่เคยสอนหนู ภูมิปัญญา ความรู้ ใช่อยู่ไหน?
ล้อมรอบตัวของเราไม่ใกล้ไกล ภูเขา ต้นไม้ สายน้ำ ท้องทะเล…
…ทั้งตาน้ำและใบไม้ได้เรียนรู้ จากคุณครูธรรมชาติมากลูกศิษย์
จากแม่พ่อคนไกลตนใกล้ชิด จากความถูก-ผิดอีกหนึ่งครู
คือห้วงทรงจำนรรจ์แห่งวันวาร ที่ผลิบานหว่านเมล็ดหยั่งรากอยู่
เฝ้าหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณอันตราตรู ผ่านความหมายความร้คู วามเป็นไป…