เปิดตัวแคมเปญ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา - Beautiful Without Ivory” - บ้านและสวน

เปิดตัวแคมเปญ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา – Beautiful Without Ivory”


แฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำร่วมรณรงค์กับ USAID ในแคมเปญ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา”

 20 กันยายน 2562 – องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (U.S. Agency for International Development-USAID) ผ่านโครงการ USAID Wildlife Asia แถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา – Beautiful Without Ivory” เพื่อยับยั้งผู้หญิงจากการซื้อและสวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากงาช้าง รวมถึงลดการยอมรับทางสังคมที่มีต่อผลิตภัณฑ์งาช้าง

“ช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย เป็นที่มาแห่งความภาคภูมิใจและยังมีบทบาทสำคัญที่เป็นมรดกตกทอดมาอย่างยาวนาน ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย แต่พวกเราต่างรู้ว่า ช้างกำลังถูกคุกคาม มูลค่าของงาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทยนั้นมีมูลค่าหลายสิบล้านดอลล่าร์ ซึ่งงาช้างเหล่านี้ถูกแกะสลักเป็นของตกแต่งต่างๆ รวมทั้งการนำมาทำเป็นเครื่องประดับ งานในวันนี้จึงเป็นการเปิดตัวแคมเปญ 2 แคมเปญ ที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยหยุดการค้างาช้างในประเทศไทย” นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กรุงเทพฯ กล่าว

งานแถลงข่าวนี้จัดขึ้นที่โรงแรมอนันตราสยาม โดยภายในงานได้เน้นถึงความสำคัญของข้อความรณรงค์หลัก “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา” และ “งาช้างไม่ใช่ของสวยงามและไม่เป็นที่ยอมรับ”

ข้อความรณรงค์หลักนี้ถูกถ่ายทอดผ่านวิดีโอความยาว 45 วินาที โดยผู้มีชื่อเสียงด้านแฟชั่นและความงาม 5 คน ซึ่งมีผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ได้แก่ คุณซินดี้-สิรินยา บิชอพ นางแบบและนักแสดงชื่อดัง, คุณพิชญา สุนทรญาณกิจ เซเลบริตี้เชฟ, คุณจริยดี สเป็นเซอร์ พิธีกรและนักธุรกิจ, คุณแพรวัชร ชมิด ผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 และคุณวฤณ จรุงวัฒน์ ช่างภาพและผู้ผลิตคอนเทนต์

งานวิจัยผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากช้างและเสือในประเทศไทยของ USAID Wildlife Asia ที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีผู้ที่เป็นเจ้าของและใช้ผลิตภัณฑ์งาช้างอยู่ประมาณ 500,000 คน ซึ่งสิ่งที่น่าวิตกกังวลคือ ยังมีคนไทยอีกประมาณ 750,000 คน ที่ตั้งใจจะซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างในอนาคต และอีกราว 2.5 ล้านคน ที่ยังคิดว่าการเป็นเจ้าของและใช้งาช้างนั้นเป็นที่ยอมรับในสังคม

ตลาดผู้บริโภคงาช้างกลุ่มหลักในประเทศไทย คือกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการซื้องาช้างเป็นเครื่องประดับเพราะเห็นว่าสวยงาม ดังนั้นแคมเปญ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา – Beautiful Without Ivory” จึงต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มนี้

“การสวมใส่งาช้างนั้นไม่เป็นที่นิยมและไม่เป็นที่ยอมรับแล้วในสังคม มีตัวเลือกอื่นๆ อีกมากมายที่สวยงาม เป็นที่ยอมรับ และมีความยั่งยืนกว่า ในฐานะผู้หญิง เราต้องหยุดการใช้เครื่องประดับที่ทำจากงาช้าง” คุณซินดี้ บิชอพ หนึ่งในแฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์ที่เข้าร่วมการณรงค์ครั้งนี้กล่าว

ในการเปิดตัวแคมเปญนี้ ยังมีการแนะนำวิดีโอแอนิเมชั่นความยาว 60 วินาที ที่จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์ไม่ให้นักท่องเที่ยวซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระลึกและของฝากที่ทำจากงาช้าง ซึ่งวิดีโอชุดนี้ โครงการ USAID Wildlife Asia ทำการผลิตร่วมกับมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ (Golden Triangle Asian Elephant Foundation) ของไมเนอร์ กรุ๊ป โดยวิดีโอนี้จะถูกนำไปเผยแพร่ผ่านทางช่องรายการของเครือโรงแรมอนันตรา เพื่อแจ้งให้นักท่องเที่ยวทราบว่า การนำงาช้างเข้าและออกจากประเทศไทยนั้นผิดกฎหมาย

แคมเปญ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา – Beautiful Without Ivory” นี้  เป็นความร่วมมือระหว่าง USAID Wildlife Asia  และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประชาชนทั่วไปสามารถช่วยกันเผยแพร่ข้อความรณรงค์  “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา” และ “งาช้างไม่ใช่ของสวยงามและไม่เป็นที่ยอมรับ” ด้วยการลงชื่อที่ www.beautifulwithoutivory.org

—————-

เกี่ยวกับโครงการ USAID Wildlife Asiaโครงการ USAID Wildlife Asia ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าสัตว์ป่าซึ่งจัดเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความต้องการของผู้บริโภคสำหรับสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ป่า สนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มความมุ่งมั่นทางกฎหมายและทางการเมือง และสนับสนุนการทำงานร่วมกันในภูมิภาค เพื่อลดอาชญากรรมสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกัมพูชา ลาว ไทย เวียดนามและจีน ชนิดสัตว์ป่าที่โครงการมุ่งเน้น ได้แก่ ช้าง แรด เสือ และลิ่น หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดูที่ www.usaidwildlifeasia.org