Urban Architects ผู้ร่วมปั้น ICONSIAM สู่ผู้ชนะรางวัลโครงการที่ออกแบบดีที่สุดในโลก
“เราทำด้วยอารมณ์ที่ว่า เราไม่ได้ทำแค่เพื่อโครงการช้อปปิ้งเซ็นเตอร์หรือศูนย์การค้าหนึ่ง แต่เราทำเพื่อให้เกิดโครงการหนึ่ง เพื่อประเทศของเรา”
สถาปนิก อัจฉริยะ โรจนะภิรมย์ กล่าวถึงผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่ของเขาอย่างภูมิใจ ผลงานที่เพิ่งสร้างชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ด้วยการคว้ารางวัล World Retail Awards 2019 ในตำแหน่งชนะเลิศเพียงหนึ่งเดียวสาขา Best Store Design of the Year โดยสภาการค้าปลีกโลก
เรือแห่งรางวัลนั้นล่องมาเทียบท่า “ICONSIAM” อภิมหาโครงการเมืองแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ย่านฝั่งธนฯ ที่คนไทยทุกคนรู้จักกันดี วาลุกา โรจนะภิรมย์ สถาปนิกเจ้าของผลงานร่วมกล่าว “เพราะไอคอนสยามเป็นโปรเจคที่ใหญ่ ทุกคนที่เข้ามาที่นี่ จะพบกับการแสดงออกถึงภูมิปัญญา รวมถึงวิถีชีวิตที่หลากหลาย เมื่อมาอยู่ร่วมกันในวิถีใหม่ นั้นเป็นอย่างไร”
“มันเป็นสิ่งที่ทุกคนร่วมใจกันทำอย่างแท้จริง”
คุณอัจฉริยะและคุณวาลุกา เป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการบริษัท เออร์เบิ้น อาร์คิเต็คส์ จำกัด (Urban Architects co.,ltd.) ผู้โลดแล่นและได้รับการยอมรับอยู่ในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่การค้าอย่างศูนย์การค้า สำนักงาน โรงแรม รีสอร์ท และอาคารอื่นๆ รวมถึงงานออกแบบภายใน กราฟฟิกดีไซน์ และการวางผังใหญ่ในภาพรวม มายาวนานกว่า 30 ปี และมีผลงานเป็นที่รู้จักมากมายทั้งในและนอกประเทศ
ด้วยประสบการณ์และความไว้วางใจจากหลายโครงการที่เคยร่วมกับสยามพิวรรธน์ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ ICONSIAM โอกาสใหญ่จึงมาถึงสถาปนิกทั้งสองอย่างไม่น่าแปลกใจ ซึ่งรางวัลใหญ่ที่โครงการเพิ่งได้รับ ก็เป็นความภาคภูมิใจที่ทั้งคู่กล่าวว่า หาใช่เป็นรางวัลแค่สำหรับสถาปนิกเท่านั้น แต่เป็นความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ต่อผู้มีส่วนร่วมทุกคน และจริงๆ ก็น่าจะเป็นความภูมิใจของคนไทยทุกคนได้ด้วย
ความภูมิใจนั้นส่งถึงเรา ที่จะมาชวนทุกคนทำความรู้จักกับสุดยอดโครงการและรางวัลที่ได้ จากบทสนทนากับผู้ที่อยู่ร่วมและปลุกปั้นโครงการตั้งแต่ริเริ่มโดยตรง ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป
โดยทั่วไปความท้าทายของการออกแบบศูนย์การค้าในปัจจุบันคืออะไร
วาลุกา: การทำธุรกิจศูนย์การค้าหรือช้อปปิ้งเซ็นเตอร์เนี่ย จริงๆ มันเป็นประเภทอาคารที่ท้าทายอยู่แล้วล่ะ แต่นับวันมันจะยิ่งท้าทายมากขึ้น ยากมากขึ้น เพราะว่าไลฟ์สไตล์ของคนมันเปลี่ยนไป จะสังเกตว่า เดี๋ยวนี้การช้อปปิ้งเราก็สามารถซื้อออนไลน์ได้ แล้วสะดวกกว่าหรือบางทีก็ถูกกว่า มันก็เป็นเรื่องท้าทายว่าเมื่อพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป แล้วพวกศูนย์การค้าอยู่รอดอย่างไร
สุดท้ายมันก็จะกลับมาที่จุดเริ่มต้นว่า มนุษย์มันก็คือมนุษย์น่ะ เราไม่สามารถที่จะอยู่ในบ้านแล้วซื้อของอย่างเดียวได้ พี่ว่าคนเรามันต้องออกมาเพื่อจะมาเจอผู้คน มาพบปะกัน มาสัมผัสสินค้า ศูนย์การค้าทุกวันนี้จึงมีแนวโน้มคือ สิ่งที่เรียกว่า “ร้านค้า” ได้เปลี่ยนเป็นเรื่องของ “ประสบการณ์”
อัจฉริยะ: มันจะคู่ขนานกันระหว่างธุรกิจกับการออกแบบเพื่อตอบสนองมนุษย์ มนุษย์มี 2 อย่างคือตอบสนองทางด้านกายภาพกับตอบสนองทางด้านจิตใจ ความท้าทายในโลกปัจจุบันและอนาคต คือเราทำอย่างไรให้ตอบสนองเรื่องอารมณ์มากขึ้น คือเรื่องของประสบการณ์ที่เขาไม่สามารถที่จะนั่งอยู่ที่บ้านแล้วสัมผัสได้ หรือรวมถึงการได้มาเจอเพื่อน เจอครอบครัว เพราะฉะนั้นตัวห้างหรือตัวศูนย์การค้า มันจะเป็นมากกว่าห้าง มันเป็น “Place” หรือ “สถานที่” ที่คนมาสังสรรค์กัน
การทำศูนย์การค้าในไทยกับต่างประเทศ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อัจฉริยะ: มีทั้งแตกต่างและเหมือนกัน ที่เหมือนกันก็คือมนุษย์ มนุษย์ก็อารมณ์เหมือนกันหมด โลภ โกรธ หลง อะไรก็แล้วแต่ ที่แตกต่างคือในบริบท หรือว่าในสังคมแตกต่างกัน ตะวันตกก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ตะวันออกก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เราจะทำความเป็นสากล หรือ International ให้คงความดั้งเดิม หรือ Authentic ได้อย่างไรไม่ว่าจะเป็นที่ไหน โดยเฉพาะความเป็นไทย ไทยก็มีความเป็นไทยที่พิเศษ ไม่เหมือนใครในโลก ประเด็นคือว่าเราจะทำของเรา เราจะทำให้มันดีได้ยังไง
วาลุกา: พี่คิดว่าคนเอเชียการไปช้อปปิ้งเซ็นเตอร์มันเป็นการหย่อนใจ มันเป็นการพักผ่อน จริงๆ ก็มีการสำรวจว่าคนเอเชียไปศูนย์การค้าไม่ได้ไปซื้อของ เราไปเดินเล่น ไปอัปเดตเทรนด์ ไปดูชาวบ้าน ไปทานข้าว ทีนี้พี่คิดว่าโครงการของเรามันสนุกกว่า มันมีอะไรมากมาย
การทำงานกับโครงการ ICONSIAM
วาลุกา: คุณชฎาทิพ (ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด) เธอมีความฝันที่จะทำโครงการนี้ให้เหนือไปกว่า “ศูนย์การค้า”
อัจฉริยะ: ความสำคัญคือ ทำตรงนี้เสร็จ มันจะเป็น “Iconic” ของประเทศ มันมากกว่าศูนย์การค้าแต่มันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ซึ่งเราจะทำอย่างไร นั้นคือโจทย์ข้อที่ 1 โจทย์ข้อที่ 2 คือว่า ทำอย่างไรให้โครงการนี้เหมือน “The Best of The World” บวกผสมกับ “The Best of Thailand”
วาลุกา: เราเริ่มมาจากการจัดการพื้นที่ใช้สอยก่อน อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้เป็นแค่ศูนย์การค้า ไม่ทำช้อปปิ้งอย่างเดียว มันจะต้องมีการเพิ่มโซนต่างๆ พูดได้ว่ามันเป็น “เมือง” เมืองหนึ่ง ถ้าสังเกตดูเราแบ่งฟังก์ชันออกมาเยอะมาก มีศูนย์การค้า มีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ สวน มีพิพิธภัณฑ์ มีหอประชุม เป็นทุกอย่างที่อยู่ในที่ที่เดียว ในฐานะที่เราเป็นดีไซน์เนอร์เราก็จะต้องเอามารวมกัน แล้วแบ่งลำดับของประสบการณ์ที่เกิดขึ้น
มันเหนือกว่าศูนย์การค้า ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก คำว่า “เหนือกว่า” มัน “เหนือกว่า” อย่างไร คือเราจะต้องเป็นแลนด์มาร์ค เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพมหานครกับฝั่งธนฯ นั่นหมายถึงมันต้อง “Timeless” หรือมีความเป็น “Thainess” ที่คนยอมรับ
นำเสนอออกมาในเชิงสถาปัตยกรรมอย่างไร
อัจฉริยะ: เราได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องความเป็นไทย ในแง่ของที่ตั้ง มันคือฝั่งธนฯ ที่จะมองกลับไปฝั่งกรุงเทพฯ เราจึงให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นความสำคัญสูงสุด
เราหลับตานึกถึงแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเรานึกภาพเรื่องกระทง ผสมกับศิลปะไทยเรื่องของผ้าไทยต่างๆ ในแง่ของการเปรียบเทียบเราก็มองทั้งตึกโครงการทั้งหมดเป็นกระทงยักษ์ที่ลอยอยู่ เรามองว่าเทศกาลลอยกระทงนี้คนรู้จักทั่วโลก จุดมุ่งหมายของเราคืออยากให้เป็น “World Tourist Destination” ที่รับคนกรุงเทพฯ รับคนในประเทศไทย รวมถึงคนต่างชาติ แล้วปักหมุดว่า ถ้ามาเมืองไทย ต้องมาตรงนี้ นั่นคือเป้าหมาย
จากจุดตรงนี้เอง เรานำตัวกระทงมาตีความในแง่ของรูปด้านหรือดีไซน์โดยภาพรวม เราใช้กระจก นำเสนอความเป็น “The Best of The World” เพราะในจุดนี้เราใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาเกี่ยวกับงานก่อสร้างค่อนข้างมากด้วย ในแง่โครงสร้าง ตัวกระจกเองสูงถึง 20 กว่าเมตร และการติดตั้งแต่ละชิ้นนั้นไม่เหมือนกันเลย ด้วยดีไซน์ในเรื่องไทยที่เราใส่เข้าไป เป็นเหมือนใบตอง เหมือนพานบายศรี เหมือนการพับของผ้าถุง ที่จะค่อยๆ คลี่คลายอย่างงดงาม ไม่มีกลีบใดเหมือนกัน
ตัวไฮไลท์ที่สุดก็คือ ข้างบนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ มองภาพเหมือนกับว่าเป็นเรือที่ลอยอยู่กลางอากาศ โดยเฉพาะตอนกลางคืน พิพิธภัณฑ์นี้ เป็นมิติที่ศูนย์การค้าโดยทั่วไปนั้นไม่เคยมี เรามีมิติของสิ่งนี้เข้ามาซึ่งสำคัญมาก โดยตำแหน่ง จะเป็นเหมือนการผ่านของซีรีย์ต่างๆ ขึ้นมาถึงข้างบนสุดยอด ซึ่งก็คือ เป็นการแสดง “ภูมิปัญญาไทย”
สุดท้ายแล้ว ถ้าเรามองหาในแง่มุมเรื่องสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า อันนี้เราก็ไม่อาจรู้ว่ามันมีคุณค่าแค่ไหนสำหรับแต่ละคน แต่เราดีไซน์อารมณ์ให้มันเกิดขึ้น กายภาพนั้นเป็นตัวตอบโจทย์ในแง่ของเรื่องสเปซ แต่เรื่องอารมณ์ที่เกิดขึ้นของคนที่มา เขาจะได้สัมผัสประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำกัน ด้านที่หันหน้าสู่แม่น้ำเป็นด้านทิศตะวันออก แสงตอนเช้าจะเป็นแบบหนึ่ง กลางวันแบบหนึ่ง เย็นแบบหนึ่ง นั่งเรือมาก็เป็นแบบหนึ่ง มาจากทางบกก็เป็นแบบหนึ่ง อีกหน่อยมาทางรถไฟฟ้า มันก็ได้อารมณ์คนละแบบ พอตอนเย็น ลานด้านนอกจะได้ร่มทั้งหมด เลยใช้จัดกิจกรรมได้อย่างดี เป็นที่เคาท์ดาวน์ระดับท้องถิ่น จนถึงเป็นที่เคาท์ดาวน์ระดับโลก ถ้าถามว่าบรรลุจุดประสงค์ของโครงการไหม ก็น่าจะ ในแง่ของการตอบโจทย์เรื่อง“World Tourist Destination”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ICONSIAM เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในย่านที่อยู่อาศัยเดิมที่ไม่เคยมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น เราประณีประนอมกับสถานที่ตรงนี้อย่างไร
วาลุกา: พี่คิดว่าเราต้องยอมรับว่าเราปฏิเสธความเจริญไม่ได้ แต่ถ้าเราจะพัฒนาโครงการมันต้อง “Win-Win” กันทั้งคู่ สิ่งที่ทางโครงการนี้ทำ ตั้งแต่วันแรกเลยนะ เรามีการสื่อสารกับชุมชนโดยรอบ ถึงความต้องการและเรื่องผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
เรามองถึงนักท่องเที่ยว ที่จะไม่ไปกระจุกตัวอยู่แต่ในใจกลางเมือง แต่เริ่มหันกลับมาดูแม่น้ำเจ้าพระยา บางครั้งเราหลงลืมแม่น้ำเจ้าพระยา เราหันหลังให้มันมาโดยตลอด เมื่อที่นี่เกิดขึ้น พื้นที่โดยรอบมันจะเกิดธุรกิจใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะเมื่อมองของเรา เราเป็นโครงการที่พื้นที่เปิดโล่งเยอะมาก พื้นที่ริมแม่น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาใหญ่มาก คนมาที่นี่ สามารถมาเดินเล่นแม่น้ำเจ้าพระยา มาออกกำลังกาย และเราก็มีท่าเรือ มีเรือรับส่งฟรี
โดยเฉพาะ ที่นี่เรามีตลาด “สุขสยาม” อยู่ชั้นล่างสุดของโครงการ ปกติถ้าเป็นที่อื่น ก็จะยกขึ้นไปไว้ข้างบนสุดเพื่อดึงคนขึ้นไป แต่ที่นี่ต้องการให้สะดวกที่สุด คนที่ข้ามท่าเรือทำงานกลับมา สามารถเดินทะลุ แวะซื้อกับข้าว จับจ่ายใช้สอยได้เลย แล้วราคาไม่แพงจับต้องได้ เพราะเป็นการดึงเอาร้านค้าชุมชนจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมา เป็นของอร่อยที่คนทั่วไปกินจริงๆ มาไว้ที่นี่ ฉะนั้นตรงนี้เป็นสถานที่ที่ช่วยเหลือจริงๆ ชุมชนที่นี่ก็แฮปปี้มาก เดินมาก็มีของกิน มีอาหาร มันไม่นิ่ง เขาจะหมุนเวียนตลอด อย่างที่พี่ว่าทำโครงการอะไรจะต้องยั่งยืนแล้วทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน
ทั้ง 2 คนเป็นสถาปนิกที่มีหน้าที่หลักในการออกแบบกายภาพ การทำงานร่วมกับแผนกงานอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง
วาลุกา: พี่คิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ทุกคนไม่ได้ทำแค่หน้าที่ของตัวเอง ทำงานโครงการนี้โชคดีนะ ขอบคุณทีมงานเลยว่า คนทำงานที่นี่เยอะมาก มันเป็นเรื่องของใจ เมื่อทุกคนเข้าใจโครงการชัดเจนอย่างที่คุณชฎาทิพพูด ทุกคนซาบซึ้งและทุกคนอยากมีส่วนร่วม
พี่ใช้คำว่าศรัทธา โชคดีที่ทีมงานมีศรัทธาร่วมกัน เหมือนสมัยก่อน ที่เวลาที่เราร่วมกันสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง มันมีพลังบางอย่างแบบนั้น ที่ผลักดันให้เราทำงานด้วยกัน
อะไรคือความสำคัญของรางวัล World Retail Awards 2019 ที่ ICONSIAM ได้รับ
วาลุกา: ความรู้สึกตอนนั้นก็หายเหนื่อย รางวัลนี้ไม่ใช่แค่สำหรับผู้ออกแบบ แต่คือทุกคน ทุกคนคือดีไซน์เนอร์สำหรับโครงการนี้ นี่คือรางวัลของคนกว่า 1,000 คนที่มาช่วยกันทำงาน แน่นอนอยู่แล้วมันก็ทำให้…ในเชิงของประเทศชาตินั้นกลายเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เรารู้สึกว่า มันเป็นสถานที่ที่เราได้พูดถึงความเป็นไทย เรียกว่ามันเป็นนวัตกรรมด้านศูนย์การค้าเพียงแห่งเดียวที่เราได้ผสมผสานทั้งเรื่องนวัตกรรม ศิลปะ เทคโนโลยี การออกแบบ รวมถึงเรื่องของการทำตลาด วิธีการคิด ทุกอย่างอยู่ในตรงนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่เขายอมรับ
อัจฉริยะ: มันเปิดมิติใหม่ของงานออกแบบด้านศูนย์การค้า ที่ทำให้ทุกคนต้องคิดตาม
วาลุกา: ถ้าพูดในเชิงที่เราเป็นสถาปนิก ที่ผ่านมาเรามีความรู้สึกว่า บางคนมองงานสถาปัตยกรรมไทยก็จะรู้สึกว่ามันอยู่นิ่ง ไม่มีการพัฒนา แต่พอเราก็มีมิติความเข้าใจความเป็นไทย เข้าใจจิตวิญญาของมันแล้ว เราสามารถมาพัฒนารูปแบบจิตวิญญาณนั้นได้พัฒนาต่อ มันก็จะไม่คงที่
และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงการออกแบบไทยเริ่มหันกลับมาดูว่าจริงๆ เราก็มีของดี บรรพบุรุษของเราสร้างไว้ มันสามารถนำมาผสมผสานกับสไตล์คนรุ่นใหม่ได้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรมใหม่แบบตะวันตก การร่วมมือร่วมใจกันแบบไทยต่างๆ หรือว่าการทำธุรกิจแบบเข้าใจคนไทยที่มันไปได้กับยุคสมัย
ที่นี่มันเป็นทุกศาสตร์จริงๆ ที่ชวนให้เราทุกคน ต้องหันกลับมามองตัวเราเอง