บ้านคอนกรีตเสริมเหล็กสีสดที่เต็มไปด้วยศิลปะของผู้สืบสานโนราโรงครู
“โนรา” หรือ “มโนราห์” เป็นที่รู้จักดีว่าเป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ การลงมาเยือนสงขลาเพื่อเยี่ยมชมบ้านของผู้สืบสานโนราครั้งนี้ ทำให้รู้จักโนราในมิติที่มากกว่าศิลปะการแสดง แต่เป็นความสัมพันธ์แห่งชีวิตในการอยู่ร่วมกัน หลอมรวมด้วยวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกสู่ใจและสานต่อด้วยศิลปะ พิธีกรรม และสถาปัตยกรรมอย่างน่าชื่นชม
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: ทวีคูณสถาปนิก โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง
บ้านหลังนี้สร้างใหม่บนที่ดินเดิมของครอบครัว โดยรื้อบ้านไม้เดิมออกและแปรสภาพเป็นวัสดุในการสร้างบ้านใหม่ ซึ่งออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง (อาจารย์เขียน) อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และสถาปนิกผู้ก่อตั้ง ทวีคูณสถาปนิก ได้เล่าถึงความเป็นมาว่า บ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก
“เมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ จนต้องหนีน้ำไปอยู่กันที่สงขลาบ้านเกิดของภรรยาหลายเดือน ในบริเวณบ้านมีบ้านไม้สองหลังที่คุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัวน้องภรรยาอยู่ด้วยกัน จึงเกิดความคิดอยากสร้างบ้านที่สามารถรวมญาติให้มาอยู่ด้วยกันอย่างสบาย”
เมื่อเข้ามายังบริเวณหน้าบ้าน จะพบศาลาโล่งปูพื้นไม้ที่มีลมพัดเย็นสบาย ซึ่งคุณแม่บอกว่า “ใช้นั่งเล่นนอนเล่นและกินข้าวที่นี่กันแทบทุกมื้อ” เข้าไปด้านในเป็นลานโล่ง อาจารย์เขียนเล่าถึงการวางผังว่า
“ลานโล่งกว้างนี้ตั้งใจเปิดให้เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะในเวลาที่มีพิธี ‘โนราโรงครู’ จะมีการสร้างเรือนไม้ไผ่เครื่องผูกสำหรับประกอบพิธี 3 วัน 3 คืน เป็นวันรวมญาติที่ทุกคนมาช่วยงานและร่วมพิธี ซึ่งเปิดให้ชาวบ้านเข้ามาดูการแสดงได้ และจะรื้อถอนเมื่อเสร็จพิธี ในพื้นที่นี้มีอาคาร 2 หลัง คือ บ้านหลังใหญ่สำหรับครอบครัวมาอยู่พร้อมหน้ากัน ส่วนด้านในเป็นบ้านของคุณยายและมีห้อง ‘ครูหมอโนรา’ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษโนราที่เป็นปู่ย่าตายายของครอบครัวเรา”
บ้านหลังใหญ่เป็น บ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ที่สะดุดตาด้วยการใช้สีสดตัดกัน โดยได้แรงบันดาลใจจากสีสันเครื่องแต่งกายของโนรา และการผสมผสานองค์ประกอบงานเหล็ก ไม้ และคอนกรีต
“เป็นการออกแบบที่ใช้วัสดุรียูส (Reuse) ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งไม้ ท่อคอนกรีต เหล็กดัดจากบ้านเก่า และตะแกรงเหล็กฉีกที่เป็นของใช้แล้วจากที่อื่น แล้วนำมาออกแบบใหม่ให้มีคุณค่าและเข้ากับบริบทของบ้านนี้”
ภายในบ้านเน้นพื้นที่เปิดโล่งที่เชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งสองชั้น “เมื่อเข้ามาภายในบ้าน บริเวณตรงกลางจะเป็นโถงทางเข้ามีที่นั่งรับแขก โซนฝั่งซ้ายเป็นส่วนนั่งเล่นและห้องนอนคุณแม่ ส่วนโซนฝั่งขวาเป็นส่วนรับประทานอาหาร ซึ่งออกแบบเป็นโต๊ะยาวขนาดใหญ่ทำด้วยไม้ของบ้านเดิม เพราะการรับประทานอาหารทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะฝีมือแม่ยายที่ทำอาหารอร่อย ทำให้ทุกคนมีความสุข ลงไปด้านล่างมีชั้นใต้ดินเป็นออฟฟิศสำหรับเพื่อนหรือลูกศิษย์มาทำงานหรือทำกิจกรรม ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอน และห้องโถงใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเตรียมไว้เป็นระเบียงเปิดโล่งสำหรับคุณพ่อ ได้พักผ่อนและแขวนกรงนกไว้แข่งและดูเล่นที่นิยมกันในภาคใต้ แต่พอคุณพ่อเสียชีวิตจึงกั้นเป็นห้องโถงอเนกประสงค์แทน”
“Whoever you are, I’ll save your every penny with qualities and values” ประโยคที่เขียนบนผนังบ้านเป็นคติของอาจารย์เขียนที่ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโดยใช้ต้นทุนต่ำ ด้วยการออกแบบที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์เป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า ซึ่งแสดงให้ประจักษ์ในทุกส่วนของบ้านหลังนี้
สะตอกุ้งผัดกะปิ น้ำพริกกะปิเคียงผักลวก ชะอมทอดไข่ ผัดเผ็ดหมูป่า และอาหารอีก 2-3 อย่าง เป็นฝีมือคุณแม่ที่จัดเตรียมไว้บนศาลาหน้าบ้าน ทำให้เราได้สัมผัสวัฒนธรรมการกินในบรรยากาศเป็นกันเอง ไปพร้อมๆ กับเรื่องเล่าของ “โนรา” ที่คนบ้านนี้ร่วมกันสืบสาน เผยแพร่ และส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป
โนราโรงครู
โนรามีการแสดง 2 รูปแบบ คือ โนราเพื่อความบันเทิง และโนราเพื่อประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “โนราโรงครู” เป็นพิธีกรรมเชิญครูหรือบรรพบุรุษของโนรามายังโรงพิธีเพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา เพื่อรับของแก้บน และเพื่อครอบเทริด (เครื่องประดับศีรษะของตัวนายโรงหรือโนราใหญ่ ทำเป็นรูปมงกุฎอย่างเตี้ย) หรือผูกผ้าแก่ผู้แสดงโนรารุ่นใหม่
Norah’s Culture Home บ้านผู้สืบสาน “โนราโรงครู” (บ้านสวย ต.ค. 62)
เจ้าของ: ครอบครัวทวีคูณ (บ้านแสงเกลี้ยง บ้านอ่อนเจริญ บ้านอ่อนศรี และบ้านชิตพิทักษ์)
ออกแบบ: ทวีคูณสถาปนิก โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง www.taweecool.com
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ