เพ้นต์เฮ้าส์ หรูใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - บ้านและสวน
เพ้นต์เฮ้าส์

เพ้นต์เฮ้าส์หรูระฟ้าของนักธุรกิจชาวเยอรมนี ที่อบอวลด้วยกลิ่นอายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะเป็นครอบครัวนักธุรกิจชาวเยอรมนีที่มาอาศัยอยู่ในเมืองไทยหลายสิบปีแล้ว ที่นี่จึงเป็นบ้านหลังที่สองซึ่งครอบครัวเลือกอยู่ในรูปแบบของ เพ้นต์เฮ้าส์ บนตึกสูงใจกลางเมือง ใกล้ย่านธุรกิจเพื่อให้สะดวกกับการทำงานและการเดินทางที่คล่องตัว แต่ด้วยความต้องการพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างมากจึงใช้วิธีการเชื่อมต่อระหว่างชั้นที่ 40 กับ 41 เพื่อจัดสรรให้เป็นบ้านพักอาศัยและออฟฟิศทำงานรวมกันอยู่ในพื้นที่ราว 1,000 ตารางเมตร

DESIGNER DIRECTORY : สถาปนิก : Gooseberry Design โดยคุณณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก www.gooseberry-design.com

คุณเอก-ณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก สถาปนิกแห่ง Gooseberry Design ผู้เคยออกแบบบ้านให้ครอบครัวนี้มาก่อนแล้วจึงค่อนข้างรู้ความต้องการชัดเจน ว่าเป็นครอบครัวชาวตะวันตกที่หลงใหลในวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์แบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีแต่ก็ชื่นชอบงานคราฟต์ที่เน้นฝีมือจากช่างท้องถิ่น รักในสัจจะของวัสดุแท้ๆ ที่ไม่ต้องปรุงแต่งมาก มักใช้เวลาพักผ่อนไปกับแสงแดดและสายลมธรรมชาติ ที่สำคัญยังโปรดปรานการจัดปาร์ตี้สังสรรค์ที่บ้านอยู่บ่อยๆ

พื้นที่เปิดโล่งเพื่อเน้นการใช้งานได้อเนกประสงค์และเชื่อมต่อถึงกันได้หมดระหว่างส่วนรับประทานอาหาร ครัว และเคาน์เตอร์บาร์ โดยส่วนรับประทานอาหารจัดวางไว้บริเวณใต้เพดานกระจกสกายไลต์ ซึ่งติดม่านกรองแสงไว้แต่สามารถเปิดชมท้องฟ้ายามเย็นได้
ในดีไซน์ที่หรูหราก็ยังแฝงความดิบเท่ของสัจจะจากวัสดุตกแต่งอย่างอิฐ ไม้ และเหล็ก
ต่อเนื่องมาจากผนังอิฐในส่วนของห้องครัวเป็นมุมเคาน์เตอร์บาร์ ซึ่งเน้นวัสดุไม้ธรรมชาติผสมกับแผ่นเหล็กฉลุลายงวงช้าง โดยมองเห็นความโดดเด่นของดีไซน์ไม้ที่ฝ้าเพดานซึ่งพลิ้วไหวได้เบาๆ เมื่อมีลมธรรมชาติพัดผ่าน
เพราะให้ความสำคัญกับห้องครัวมากเป็นพิเศษ เจ้าของบ้านจึงเลือกใช้ชุดครัวพรีเมียมจาก German Standard ที่มีฟังก์ชันใช้งานครบครัน แต่ก็มีหน้าบานที่สามารถปิดซ่อนชั้นเก็บของต่างๆ ให้ดูเรียบร้อยสะอาดตาเมื่อไม่ใช้งาน เหลือให้เห็นเฉพาะลวดลายงวงช้างที่สั่งทำขึ้นมาโดยเฉพาะ กับหน้าบานกระจกโทนสีแดงบริเวณเคาน์เตอร์

“ผมเริ่มจากแบ่งพื้นที่ใช้งานหลักๆ ออกเป็นสองส่วน คือบ้านและออฟฟิศทำงานบริเวณชั้นล่าง และใช้ชั้นบนเป็นพื้นที่ส่วนกลางซึ่งมีห้องนั่งเล่น โฮมเธียเตอร์ ครัว บาร์ และห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่ โดยผสมผสานดีไซน์ระหว่างตะวันตกกับตะวันออกแต่ให้ดูเป็นทรอปิคัลมากหน่อย เพราะบริบทของบ้านอยู่ในเอเชียเขตร้อน วัสดุหลักของการตกแต่งเน้นให้เป็นธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งมาก ทำให้เกิดการผสานกันระหว่างวัสดุที่ราคาถูกมากๆ อย่างอิฐก้อนละ 50 สตางค์มาใช้ร่วมกับชุดครัวระดับพรีเมียม โดยอาศัยดีไซน์มาทำให้เกิดความกลมกลืน”

เมื่อเปิดหน้าบานของชุดครัวขึ้นก็จะเห็นชั้นเก็บของใช้ต่างๆ ที่อยู่ภายใน ซึ่งคุณเอกตั้งใจนำวัสดุอิฐราคาไม่แพงเข้ามาผสมผสานกับชุดครัวพรีเมียมนี้เพื่อสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้บ้าน

การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยแต่ละมุมมีเฟอร์นิเจอร์ช่วยกำหนดฟังก์ชันไว้อย่างชัดเจน แต่ทุกมุมเปิดโล่งให้มองเห็นกันได้หมด โดยเฉพาะส่วนหลักบริเวณห้องครัว เคาน์เตอร์บาร์ และโต๊ะอาหารขนาดยาวซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบ้าน

เพราะเจ้าของบ้านมักมีเพื่อนๆ มาเยือนบ่อยครั้ง และเขาเองก็สนุกกับการเข้าครัวเตรียมอาหารอยู่เสมอ จึงให้ความสำคัญกับชุดครัวสมัยใหม่ของ German Standard ที่มีเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ พร้อมฟังก์ชันที่สามารถเก็บซ่อนทุกสิ่งภายใต้หน้าบานกระจกให้ดูเรียบร้อยสะอาดตาเมื่อไม่ใช้งาน  ขณะเดียวกันพื้นที่ครัวยังเชื่อมต่อไปสู่โต๊ะรับประทานอาหาร เคาน์เตอร์บาร์ และมุมนั่งเล่นใกล้ๆ ได้ง่าย รวมถึงระเบียงกว้างด้านนอกที่สามารถนั่งผ่อนคลายหรือรองรับกิจกรรมกลางแจ้งได้หลากหลาย

“สำหรับพื้นที่ส่วนกลางนี้ ผมออกแบบเพดานให้เด่นด้วยงานไม้ที่นำมาสร้างแพตเทิร์นให้ดูเบาและเคลื่อนไหวได้เล็กน้อยเวลามีลมพัดผ่าน ทำให้มุมมองที่ปะทะสายตาดูน่าสนใจขึ้นรองๆ มาจากผนังอิฐโชว์แนวในส่วนของห้องครัว”      

เจ้าของบ้านเลือกงานประตูไม้แกะสลักเก่าของอินเดีย มาใช้กับห้องนั่งสมาธิซึ่งดูไปกันได้ดีกับผนังอิฐโชว์แนว ส่วนภายในจำลองงานประติมากรรมแบบเขมรมาไว้ตามความชอบส่วนตัว
การจัดแสงไฟภายในห้องนั่งสมาธิเน้นความนุ่มนวลและผ่อนคลาย ท่ามกลางบรรยากาศแบบขรึมขลังจากงานประติมากรรมของเขมร
ความเรียบง่ายของห้องนอนใหญ่ที่นำเตียงไม้สี่เสาจากบ้านเดิมมาใช้ แต่ไปเน้นมุมมองที่เปิดโล่งบริเวณผนังกระจกปลายเตียงซึ่งเชื่อมต่อไปสู่ท้องฟ้ากว้างด้านนอก

อ่านต่อหน้า 2