Run Ga Run เทคนิคแพรวพราวของงานคราฟต์ที่กล้าใช้หัวหอมแดงมาย้อมสีผ้า
หมวกใบเล็กของร้าน “Run Ga Run” กับความพิเศษด้วยการตัดเย็บสุดเนี้ยบ เเละงานปักมือไม่ซ้ำเเบบจากชาวเขา ทำให้ได้หมวกที่มีเพียงลายเดียวในโลกเเต่หลากหลายสีสัน ชักชวนให้เราอยากไปทำความรู้จักกับเจ้าของเเบรนด์ จนทราบว่าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของเเบรนด์นี้ ล้วนผ่านการออกแบบเเละทำมาจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งพิถีพิถันกันตั้งแต่กระบวนการปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมสีเลยทีเดียว
เราตามคุณรุ่ง – รุ่งอรุณ ยารังฝั้น ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Run Ga Run ร้านหมวกและเครื่องแต่งกายจากโซน Art Market ในงานบ้านและสวนแฟร์ ไปถึงโรงย้อมที่อำเภอแม่อาย เหนือสุดของจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่เธอบอกกับเราว่า สินค้าทุกชิ้นของร้านทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่กระบวนการปลูกพืชซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้า ก่อนนำไปใช้ตัดเย็บหมวกเเละเครื่องเเต่งกายต่าง ๆ ที่สำคัญงานคราฟต์เหล่านี้ ยังมีที่มาจากฝีมือของคนในชุมชน ชาวเขา และภูมิปัญญาของคุณพ่อกับคุณแม่ของเธอเอง
•“สาธุ” : ฝ้าย-ใยกัญชง-สีธรรมชาติ สู่เสื้อผ้าที่ถักทอจากสัญชาตญาณ
•งานคราฟต์พื้นบ้านที่ดีไซน์ให้หยิบใช้แบบไม่เขิน
•จับงานคราฟต์มาแต่งบ้านอย่างไรให้โดดเด่น
รุ่งอรุณที่โรงย้อม สู่งานตัดเย็บโดยช่างญี่ปุ่น เเละลายปักจากดอยสูง
ต้นคำแสดพุ่มใหญ่ที่กำลังออกผลดกแดงอยู่หน้าบ้าน เช่นเดียวกับต้นฝ้ายกะตุ่ยที่กำลังออกดอกอยู่ในสวนด้านหลังแซมอยู่กับพืชผักต่าง ๆ ความงดงามของต้นไม้บอกให้รู้ได้ทันทีว่าดินของที่นี่ยังคงสมบูรณ์ยิ่งนัก ขณะนี้เราอยู่กันที่โรงย้อมสีขนาดเล็กที่เปิดโล่ง เตาไฟ และหม้อย้อมอยู่ตรงมุมด้านข้างอย่างเป็นระเบียบ ผ้าฝ้ายผืนใหญ่หลากสีตากพาดอยู่บนราวไม้ไผ่ ผนังเปิดให้เราเห็นสวนเกษตรอินทรีย์ที่ทอดยาวอยู่หลังบ้าน ซึ่งการทำเกษตรนี้เป็นอีกหนึ่งอาชีพของครอบครัวคุณรุ่ง โดยมีคุณพ่ออุดม เเละคุณแม่อุษา ยารังฝั้น เป็นผู้ดูแลเเละผลัดเปลี่ยนมารับหน้าที่ย้อมผ้าสีธรรมชาติในโรงย้อมของลูกสาวด้วย
“ที่นี่จะมีทีมย้อมเป็นคนงานจากสวน และคุณแม่มาช่วยย้อมสีให้ แต่ก่อนคุณแม่ทำงานเย็บผ้า ครอบครัวเราขายผ้าให้ชาวเขาบนดอย ซึ่งเป็นผ้าที่ซื้อมาจากกรุงเทพฯ โดยขายให้กับชาวเขาเผ่าลีซอ เเละมูเซอ พวกเขาจะนำผ้าใหม่ที่ซื้อไปไปตัดชุดสำหรับงานฉลองสิ้นปี ซึ่งต้องใส่เสื้อผ้าใหม่ทุกปี โดยเฉพาะหนุ่มสาวยิ่งจำเป็นมากที่จะต้องสวมสื้อผ้าใหม่ให้ดูสวยงามโดดเด่นถูกใจคู่ครองที่หมายตา คุณแม่เองก็เคยเป็นช่างตัดเย็บ รุ่งก็คงซึมซับมาจากตรงนั้น เลยสนใจเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตอนไปเรียนต่อก็ชอบเรื่องสีธรรมชาติมาก ๆ งานวิจัยก่อนจบก็ทำเกี่ยวกับเรื่องสีธรรมชาติ ช่วยให้รู้จักเเละเข้าใจวิธีการมาตั้งแต่ตอนนั้น” คุณรุ่งเล่าเท้าความ
“จากนั้นรุ่งก็ไปทำงานด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นอยู่หลายปี จนกระทั่งรู้สึกว่าต้องกลับมาดูแลครอบครัวสักที จึงเริ่มทดลองทำธุรกิจที่ตนเองถนัดคือ เครื่องแต่งกายจากสีธรรมชาติ แรก ๆ ก็ขึ้นลงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ อยู่เป็นปีเลยค่ะกว่าจะลงตัว มีคุณโก้ พีรพงษ์ รัตนสีนุรางกูร เป็นครูสอนและค่อยผลักดันให้ตรงนี้เดินหน้า แล้วจึงลาออกจากงานประจำ กลับมาเริ่มต้นงานใหม่ที่โรงย้อมตรงนี้”
คุณรุ่งเล่าให้ฟังต่อว่าจะใช้ที่นี่ย้อมสีผ้าผืน เเละเส้นด้ายสำหรับงานปัก ถักโครเชต์ ทั้งยังเป็นห้องทดลองย้อมสีใหม่ ๆ ของเธอ แล้วส่งไปทอเป็นผืน ตัดเย็บเเละออกแบบที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อนส่งมาปักที่อำเภอเชียงดาวโดยชาวเขาเผ่าปะหล่อง หรือดาราอั้ง และชาวบ้านที่อำเภอแม่อาย แล้วส่งกลับไปปักป้ายแบรนด์ที่เชียงใหม่อีกรอบ จนได้เป็นสินค้าของแบรนด์ Run Ga Run ที่มาจากชื่อของเธอเอง แม้ว่ากระบวนการผลิตจะย้อนกลับไป-มา แต่คุณรุ่งก็มองว่าผลงานของเธอได้ช่วยชุมชน ชาวเขา ชาวบ้าน ให้ได้มีรายได้จากตรงนี้ผ่านฝีมือของพวกเขาเอง
หยิบสีลงบนผืนผ้าด้วยเทคนิคสุดแพรวพราว
“คำแสดจะให้สีส้ม ตอนที่ผลแก่จัดลูกจะแตกออก เราจึงเก็บเมล็ดข้างในมาย้อมสี แต่ถ้าเป็นสีเทาจะมาจากจากยูคาลิปตัส ครั่งที่ให้สีชมพูจะหายากสักหน่อยเพราะเก็บได้ปีละครั้งเท่านั้น ส่วนใบสมอไทยจะให้สีเทา แต่รุ่งจะมีเทคนิคการเปลี่ยนสีให้เป็นสีเขียว หรือถ้าจะย้อมเขียว เราจะย้อมสีเหลืองก่อน แล้วนำผ้าไปแช่มอร์แดนท์อีกรอบให้เป็นสีเขียว โดยจะได้สีเขียวที่มีเฉดสีแตกต่างกันไป หรือหากนำผ้าสีเหลืองไปย้อมครามก็จะได้สีเขียวที่ต่างไปอีกเฉดหนึ่ง ถ้าอยากได้สีเขียวขี้ม้าจะต้องย้อมเหลืองก่อนแล้วผสมกับน้ำสนิมเหล็ก เป็นหมือนการผสมสีที่ผสมได้เรื่อย ๆ ส่วนเทคนิคการย้อมซ้ำ เกิดจากการที่รุ่งเคยแก้สีเสื้อของลูกค้าที่ซีดเพราะตากแดดจัด เมื่อนำไปย้อมซ้ำ มันกลับไม่ได้สีเดิม เเต่จะเกิดสีใหม่ได้เรื่อย ๆ ”
สีธรรมชาติ ย้อมไปแล้วอยากย้อมซ้ำใหม่เมื่อไหร่ก็ทำได้ เเต่สีเคมีทำเเบบนี้ไม่ได้
ไม่ใช่แค่วัตถุดิบจากป่าเขาเท่านั้นที่ให้สีบนเสื้อผ้า “หัวหอมแดง” จากก้นครัวก็สามารถนำมาย้อมผ้าให้เกิดสีเหลืองได้เช่นกัน คุณรุ่งทดลองย้อมครั้งแรกโดยผสมกับมอร์แดนท์ให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี จนเกิดเป็นสีเหลืองมาสตาร์ด ซึ่งตัวเธอเองก็ไม่คาดคิดว่าจะได้ผลลัพธ์แบบนี้เช่นกัน
รู้และเข้าใจในความไม่สม่ำเสมอของธรรมชาติ
“สีไม่สม่ำเสมอ ถือว่าเป็นธรรมชาติ เมื่อก่อนเคยซีเรียส เพราะติดเทคนิคจากอุตสาหกรรม พอเอาเข้าจริง เราก็เข้าใจว่ามันคุมไม่ได้ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งฤดูกาล วิธีการเก็บเกี่ยว อย่างสีที่เราได้จากใบสมอไทย ถ้าเก็บเช้าก็จะได้อีกสีหนึ่ง ถ้าเก็บเย็นก็จะได้อีกสีหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกลไกการสังเคราะห์แสงทำให้ได้สีที่เเตกต่าง หรือเเม้กระทั่งปัจจัยน้ำขึ้น-น้ำลงก็อาจทำให้สีที่ได้จากการนำใบไม้มาย้อมมีความแตกต่างกัน จากปัจจัยเหล่านี้ รุ่งกับแม่ได้มานั่งวิเคราะห์กันว่าจะเก็บวัตถุดิบธรรมชาติในตอนเช้า หรือตอนเย็นดี จะเก็บหน้าฝนก็จะเจือจาง หน้าแล้งก็จะเข้ม ทำให้ควบคุมสีที่เข้มเสมอกันในผ้าหลาย ๆ ผืนได้ยากเหมือนกัน”
เพราะเข้าใจในข้อจำกัดของสีธรรมชาติ หมวก กระเป๋า เสื้อผ้าของ “Run Ga Run” แต่ละแบบจึงมีแค่ชิ้นเดียว หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 3 ชิ้นเท่านั้น แทบทุกสีจะเป็นที่นิยม ด้วยเอกลักษณ์ที่ย้อมสีจัด ไม่ได้ทำเป็นสีพาสเทล สวมใส่แล้วจะดูสดใส ถ้าไม่ได้สีสดต้องย้อม 3-4 รอบ ให้ได้สีเข้มออกมาสวยอย่างที่ต้องการ
ผ้าย้อมครามออร์แกนิก ส่งตรงจากไร่ที่ปลูกเอง
นอกจากสีที่ได้จากเปลือกไม้ ใบไม้ เมล็ด เเละแก่นไม้เเล้ว ที่นี่ยังเป็นโรงงานสกัดครามขนาดย่อมที่คุณพ่ออุดมรับหน้าที่เป็นเรี่ยวแรงหลักของกิจการนี้
“ไร่ครามจะอยู่อีกที่ ห่างจากบ้านเราไปไม่ไกลนักค่ะ เป็นไร่ครามออร์แกนิกแท้ ๆ ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้ปลูกเอง เวลาจะย้อมผ้าก็ต้องไปซื้อครามมาจากพ่อค้าอีกที แล้วเจอปัญหาผสมปูนเยอะทำให้สีเพี้ยนไม่ตรงกับแบบที่ต้องการ รุ่งเลยทดลองปลูกครามที่ไร่ดูค่ะ แล้วได้ผลดีเกินคาด คุณพ่อก็มาช่วยดูแลตรงนี้ ตั้งแต่ลงกล้าคราม ตัดใบ เก็บเกี่ยว หมักใบ กลั่นสี จนได้เนื้อครามสำหรับย้อมผ้า ทำกันในโรงย้อมแห่งนี้ ”
“คราม” ปลูกในดินทรายไม่อุ้มน้ำ จึงปลูกได้ดีในดินทางอีสาน แต่ภาคเหนือจะนิยมปลูก “ฮ่อม” ในพื้นที่อากาศเย็นมีความชื้นสูงฮ่อมจะเติบโตได้ดี ข้อจำกัดเรื่องสภาพอากาศทำให้คุณรุ่งเลือกปลูกครามแทนฮ่อม และใช้แปลงนาของคุณพ่อเป็นห้องทดลองครั้งแรก ก่อนขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการจำหน่าย มือหนาของชายสูงวัยที่ทิ้งคราบสีครามให้เห็นยังคงหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ด้วยความตั้งใจที่จะเปิดโรงสกัดสีครามธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ให้เราได้ชม
“ใบคราม 40 กิโลกรัมจะได้สีครามประมาณ 1-2 กิโลกรัม ถ้าคนที่เขาทำขายปกติ 10 กิโลกรัม จะได้สีถึง 2 กิโลกรัม เพราะถูกผสมปูนเข้าไปด้วย สีครามจะออกเป็นอมเทา แต่ครามบ้านเราจะได้เนื้อสด ๆ แท้ 2 กิโลกรัมเท่านั้น วิธีการสกัดน้ำครามเริ่มตั้งเเต่การเก็บเกี่ยวใบครามแล้วทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นนำไปหมักแช่น้ำไว้ แล้วค่อยตักใบออกให้เหลือแต่น้ำ รออีกประมาณ 1 วัน เพื่อให้ตกตะกอน แล้วใช้เครื่องอัดอากาศเข้าไปในเนื้อคราม หรือจะใช้แรงคนถีบค่อย ๆ อัดอากาศลงไปก็ได้ ส่วนสีจะเข้มหรืออ่อนขึ้นอยู่กับการอัดอากาศเข้าไปในถังหมักครามอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นสกัดน้ำออกจนเหลือแค่เนื้อครามเท่านั้นก็เป็นอันใช้ได้แล้ว” คุณพ่ออุดมเล่าให้เราฟังต่ออีกว่า เศษกิ่งครามจากถังหมัก ไม่ได้ถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ เเต่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับสวนผักได้ด้วย
หลังจากชมขั้นตอนการหมักคราม คุณแม่อุษาก็รับช่วงต่อ ด้วยการลงมือย้อมผ้าฝ้ายสีครามให้เราชม ซึ่งเป็นกรรมวิธีแบบย้อมเย็น คุณเเม่บอกเคล็ดลับการเช็คว่าครามที่หมักจุลินทรีย์ไว้นั้น พร้อมสำหรับงานย้อมเเล้วหรือยัง โดยให้ลองชิมดูก่อน หากมีรสพอเหมาะในแบบที่เธอรู้และเข้าใจแต่ไม่สามารถอธิบายได้ก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนการย้อมครามมีขั้นตอน ดังนี้
ครั้งนี้เราเดินทางย้อนกลับไปดูต้นครามในสวนตามคำแนะนำของคุณพ่อในช่วงเย็นของวัน ท่ามกลางไร่นารอบ ๆ ที่เปลี่ยนเป็นแปลงปลูกมันฝรั่งเพราะถูกนายทุนกว้านซื้อที่ดินไปหลายร้อยไร่ ยกเว้นสวนเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ที่ยังคงความงดงามตามธรรมชาติอยู่เช่นเดิม
Run Ga Run คราฟต์ไทยเดินทางสู่ระดับอินเตอร์ในงาน PUPUP ASIA 2019 จัดขึ้นที่ประเทศไต้หวันที่ผ่านมา ซึ่งคุณรุ่งบอกว่าหากเป็นไปได้เธอจะนำงานฝีมือของชาวเขา รอยปักของชาวบ้านในบ้านเกิดของเธอ และผ้าสีธรรมชาติเทคนิคการย้อมใหม่ ๆ ไปเปิดตลาดให้คนที่นั่นได้สวมใส่กันอย่างแน่นอน ชมสีสันของผ้าย้อมสีธรรมชาติได้ที่ www.facebook.com/rungarunstore
มอร์แดนท์คืออะไร
Mordent หรือ สารช่วยย้อม เป็นสารเคมีหรือสารธรรมชาติที่ช่วยให้สีธรรมชาติติดในเส้นใยของผ้าแน่นขึ้น ยาวนานขึ้น มอร์แดนท์จะรวมตัวกับโมเลกุลของสีและเนื้อผ้าทำให้สีไม่ละลาย และบางชนิดมีผลต่อสีทำให้สีเปลี่ยนไปจากเดิม สารที่นิยมใช้ทำมอร์แดนท์ ได้แก่ น้ำสนิม สารส้ม น้ำปูนใส น้ำโคลน น้ำมะนาว เเละน้ำขี้เถ้า
เรื่อง : JOMM YB
ภาพ : นันทิยา บุษบงค์