บ้านโมเดิร์นทรอปิคัลที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ
บ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล สุดอบอุ่นของครอบครัวคนไทยเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเน้นการออกแบบพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว โดยต้องมีพื้นที่รองรับกิจกรรมร่วมกันได้อย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันสมาชิกแต่ละคนก็ต้องมีพื้นที่ของตัวเองที่เป็นส่วนตัวเช่นกัน รวมถึงยังไม่ละทิ้งเรื่องทิศทางลมและแสงแดดที่มีทางให้ลมเข้า- ออกได้ เพื่อให้เกิดการระบายอากาศที่ดี
บ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน – ภูมิสถาปัตยกรรม : Eco Architect Co.,Ltd. โดยคุณคำรน สุทธิ / เจ้าของ : คุณวิชิต สัจจะธรรมรัตน์
เชื่อว่าต้องเป็นที่จดจำอย่างแน่นอน หากใครมีโอกาสผ่านไปเห็นบ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัลที่โดดเด่น และสะดุดตาด้วยเส้นสายทางสถาปัตยกรรมที่น้อยแต่มีรายละเอียดแฝงอยู่หลังนี้ นอกจากตัวบ้านที่ชวนให้ประทับใจแล้ว ภายในบ้านก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการออกแบบ การจัดวางฟังก์ชัน ไปจนถึงการเลือกวัสดุเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของ คุณวิชิตและคุณเมย์-ณภัคมน สัจจะธรรมรัตน์ เจ้าของบ้านให้ได้มากที่สุด โดยมี คุณแก้ว – คำรน สุทธิ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Eco Architect Co.,Ltd. ซึ่งเคยออกแบบโครงการอื่นๆให้เจ้าของบ้าน มารับหน้าที่ออกแบบ“บ้านสุขใจดี” ภายใต้แนวคิด “บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ” บ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล
บ้านต้องมีพื้นที่รองรับกิจกรรมสำหรับญาติพี่น้องและเพื่อน
จุดเริ่มต้นของการออกแบบและสร้างบ้านหลังนี้ เกิดจากบ้านเดิมของคุณวิชิตนั้นมีขนาดเล็กและเริ่มไม่ตอบโจทย์เวลามีแขกหรือญาติมาเยี่ยม เนื่องจากคุณวิชิตเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดีย ซึ่งให้ความสำคัญกับความเป็นครอบครัวอย่างมากและมักไปเยี่ยมเยือนหรือนัดพบกันที่บ้านอยู่เป็นประจำ ทำให้เมื่อตัดสินใจทำบ้านบนพื้นที่กว่า 150 ตารางวา จึงนำจุดนี้มาเป็นอีกหนึ่งความต้องการในการออกแบบบ้านให้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมสำหรับญาติพี่น้อง และเพื่อนได้อย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันสมาชิกในครอบครัวก็ต้องมีพื้นที่ของตัวเองที่เป็นส่วนตัวเช่นกัน สถาปนิกจึงเริ่มด้วยการวางมาสเตอร์แพลนให้เข้ากับบุคลิกความเป็นคนอินเดียที่ให้ความสำคัญกับเครือญาติ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งเรื่องทิศทางลมและแสงแดดที่มีทางให้ลมเข้า- ออกได้ และมีหน้าต่างอย่างน้อย 2 ด้านเพื่อให้เกิดการระบายอากาศที่ดี นอกจากนี้ยังออกแบบให้ในบ้านมีแสงธรรมชาติในช่วงกลางวันเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า
“ก่อนการออกแบบก็ไปหาข้อมูลอย่างจริงจังถึงลักษณะและไลฟ์สไตล์ของคนอินเดีย ได้คำตอบว่าเขาจะให้ความสำคัญกับความเป็นครอบครัวค่อนข้างสูง จึงมองว่าการรวมญาติจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น เลยออกแบบให้ชั้นล่างเป็นเหมือน Public Space ให้มากที่สุด คือ เมื่อมีคนหลายรุ่นมาเจอกันก็จะมีพื้นที่ของแต่ละรุ่น แต่ยังมีมุมที่ทำกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น ออกแบบมุมที่นั่งส่วนตัวสำหรับผู้ใหญ่ไว้คุยกัน โดยทุกชั้นมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับให้สมาชิกในครอบครัวมาพูดคุยกัน และวางตำแหน่งห้องนอนไว้รอบๆ เพื่อให้แต่ละคนได้มีพื้นที่ส่วนตัวกันอย่างชัดเจน โดยพยายามไม่วางฟังก์ชันให้ขวางกัน เพื่อให้ลมวิ่งกระจายได้ทุกห้อง”
ทุกพื้นที่ของบ้านสามารถรับลมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
เมื่อการจัดวางฟังก์ชันลงตัวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญคือ การออกแบบบ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ โดยตั้งใจให้ทุกพื้นที่ของบ้านสามารถรับลมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ และเปิดหน้าต่างเพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้เพื่อสร้างความปลอดโปร่งและระบายความร้อนภายในบ้านได้อย่างยั่งยืน แต่เนื่องจากหน้าบ้านหันไปทางทิศใต้ ทำให้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถาปนิกจึงออกแบบระเบียงยื่นออกมาจากตัวอาคารแล้วทำเปลือกอาคาร (Facade)เป็นแผงระแนงไม้สักที่เลื่อนเปิด – ปิดและปรับองศาได้ตลอดแนว ซึ่งพื้นที่ระเบียงนี้เป็นการเว้นช่องว่างเพื่อลดความร้อนและไม่ให้ความร้อนกระทบกับบ้านโดยตรง นอกจากนี้ยังเป็นกันสาดสำหรับห้องชั้นล่างไปในตัวด้วย นั่นจึงทำให้สมาชิกในบ้านหลังนี้สามารถใช้ทุกพื้นที่ของบ้านได้อย่างเต็มศักยภาพตลอดทั้งวัน
สำหรับการตกแต่งภายในเน้นความเรียบง่ายและสบายตาในสไตล์ Natural Earth Tone อย่างการเลือกใช้สีขาวและสีน้ำตาลจากไม้เพื่อสร้างบรรยากาศให้บ้านดูอบอุ่น มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นตามฟังก์ชันเท่าที่จำเป็น และเน้นเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว จึงทำให้บ้านดูโปร่งโล่งสบายตาซึ่งตรงกับความตั้งใจของคุณวิชิตที่ต้องการให้บ้านเป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวและญาติพี่น้องที่รองรับการใช้งานและสร้างความสุขทางใจได้อย่างสมบูรณ์
เรื่อง : Ektida N., ศรายุทธ
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : พนิดา น้อยบัวทิพย์
นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนกันยายน 2563
MAN CAVE ถ้ำลับของคนรักงานอดิเรก
บ้านโมเดิร์นทรอปิคัล ดีไซน์ปิดล้อมเป็นส่วนตัว เเต่ภายในโปร่งสบายเเละประหยัดพลังงาน
ทุบบ้านเก่าอายุเกือบ 40 ปี สร้างใหม่เป็น “บ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคัล” บนพื้นที่เดิม