บ้านเหล็กสีดำ ซ่อนความโปร่งสบายที่อบอุ่น
บ้านเหล็กสีดำ สไตล์โมเดิร์นที่มีแนวหลังคาตัดเฉียงกั้นปิดด้วยรั้วเหล็กสีดำหลังนี้อาจดูดุดัน น่าเกรงขาม และแฝงด้วยความลึกลับอยู่ในที แต่ถ้าสังเกตให้นานอีกสักหน่อยคุณจะเริ่มเห็นเส้นโค้งที่อ่อนโยนซ่อนตัวอยู่บริเวณประตูทางเข้าบ้านเล็กๆ นั้น ซึ่งพอจะทำให้สัมผัสได้ว่าภายใต้โทนสีดำที่แสนเข้มขรึมนี้อาจไม่ได้ดุดันอย่างภาพที่เห็นก็เป็นได้
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Spaceman Studio
เพราะเมื่อรั้วเหล็กสีดำยาวได้เลื่อนเปิดออกแล้วเดินเข้าไปใน บ้านเหล็กสีดำ สไตล์โมเดิร์น ผ่านลานจอดรถก็จะได้พบกับคอร์ตโปร่งหน้าบ้านที่มีต้นเหลืองเชียงรายตั้งอยู่โดดเด่นชวนให้แหงนหน้าขึ้นไปมองจนเจอกับเส้นกรอบสี่เหลี่ยมของผนังบ้านที่ล้อมรอบคอร์ตนี้ไว้กลายเป็นมุมสวยๆ โดยมีท้องฟ้าสดใสเป็นฉากหลัง
คุณโป้ง-วริศว์ สินสืบผล สถาปนิกผู้ออกแบบเล่าถึงที่มาของการสร้าง บ้านเหล็กสีดำสไตล์โมเดิร์น หลังนี้ไว้ว่า “เรามองเรื่องความเป็นส่วนตัวให้เจ้าของบ้านผสมไปกับความต้องการใช้วัสดุที่เน้นเนื้อแท้ ไม่ต้องการผนังฉาบปูนทาสีเพื่อไม่ต้องคอยทาสีบ่อยๆ ผมก็เลยใช้โครงสร้างเป็นเหล็กทั้งหมด แล้วตกแต่งผนังด้วยทรายล้างซึ่งเป็นวัสดุที่ทนแดดทนฝนได้ดี ไม่ต้องดูแลรักษามาก ส่วนสีดำก็คล้ายกับเป็นการอำพรางความเป็นบ้านที่อบอุ่นและโปร่งสบายซึ่งซ่อนตัวอยู่ด้านใน”
ด้วยที่ดินขนาด 100 ตารางวานี้มีลำรางธรรมชาติอยู่ด้านหลัง ตามกฎหมายแล้วต้องมีระยะถอยร่นเข้ามาไม่น้อยกว่า 6 เมตร ทำให้เหลือพื้นที่ในบ้านไม่มาก เจ้าของบ้านจึงต้องการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ถึงกระนั้นก็ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวและการเปิดช่องแสงธรรมชาติเข้าบ้านเป็นหลักด้วย
ด้วยเหตุผลนี้สถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่สวนกว้างๆ ไว้หลังบ้านซึ่งกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้เกิดขึ้น เพราะมีการเชื่อมต่อสเปซภายนอกเข้ามาสู่ภายในส่วนนั่งเล่นซึ่งเปิดโปร่งด้วยเพดานสูงแบบ Double Volume สำหรับรับแสงธรรมชาติเข้ามาภายในให้มากที่สุดผ่านผนังกระจกบานสูงจากพื้นจรดเพดาน และวางผังชั้นล่างให้เป็น Open Plan เพื่อให้เจ้าของสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางได้สบาย ทั้งพักผ่อนส่วนตัว สังสรรค์กับเพื่อน และซ้อมดนตรี โดยวางตำแหน่งครัวหนักไว้หลังบ้านให้เชื่อมต่อไปสู่พื้นที่สวนด้านหลังได้
“การจัดโซนนิ่งในบ้านเป็นไปตามการใช้งานเลย เพราะบ้านนี้ค่อนข้างเปิดรับเพื่อนๆ จนเหมือนเป็นศูนย์กลางที่หลายคนเข้าถึงได้ ส่วนนั่งเล่นจึงต้องกว้างและเปิดโล่งที่สุด แม้ว่าจะมีห้องนอนคุณแม่อยู่ชั้นล่างแต่ก็จะถูกคอร์ตด้านหน้าช่วยบล็อกความเป็นส่วนตัวและแยกออกจากพื้นที่ส่วนกลางอย่างชัดเจน หน้าที่ของส่วนนั่งเล่นจึงคล้ายๆ ชานบ้านไทยสมัยก่อนที่รองรับการใช้งานของทุกคนได้โดยยังคงมองเห็นความเคลื่อนไหวรอบๆ บ้านไปด้วย มีครัวและสวนอยู่ด้านหลังซึ่งสามารถเปิดประตูขยายสเปซเชื่อมโยงออกไปได้ ส่วนบันไดในบ้านก็ยังคงเป็นโครงเหล็กสีดำแนบติดไปกับผนังด้านหนึ่ง และเมื่อขึ้นบันไดไปชั้นบนก็จะค่อยๆ เพิ่มความเป็นส่วนตัวไล่ระดับจากห้องหนังสือหรือห้องทำงานไปถึงห้องนอนด้านในที่มีความเป็นส่วนตัวสูงสุด”
ส่วนงานตกแต่งภายในเป็นฝีมือของ คุณจั๋ง-ปรัตถกร ประมุขกุล ที่ต่อยอดโครงสร้างเหล็กสีดำด้วยการผสมความดิบเท่สไตล์ลอฟต์ผ่านรูปแบบการวางแนวท่อสายไฟและงานระบบต่างๆ แล้วจึงเบรกความแข็งของงานเหล็กด้วยชั้นบิลท์อินที่เป็นไม้ ผสมด้วยพื้นหินขัดเทอร์ราซโซซึ่งเป็นวัสดุยอดนิยมของตึกแถวโมเดิร์นในยุคแรกๆ ของไทย
คุณจั๋งให้เหตุผลว่า “เพราะเจ้าของชอบการผสมผสานดีไซน์ระหว่างของเก่าสไตล์อินดัสเทรียล สไตล์จีนโบราณ และความทันสมัยแบบยุโรป เราก็เลยนำประตูเหล็กยืดมาใช้กั้นส่วนจอดรถกับโถงหน้าบ้าน ใช้หินเทอร์ราซโซปูพื้นด้านในและยังออกแบบให้เป็นโต๊ะอเนกประสงค์ต่อเนื่องในมุมแพนทรี่ด้วย ซึ่งใช้เป็นทั้งโต๊ะรับประทานอาหาร รับแขก และคุยงานก็ได้ แทนที่จะใช้เป็นเคาน์เตอร์ครัวแบบฝรั่งอย่างเดียว รวมถึงเติมพวกชั้นวางของ ตู้หนังสือในห้องทำงานสีเขียว กับโครงเตียงเหล็กในห้องนอนเพื่อให้ดีไซน์และฟังก์ชันลงตัวพอดีกับพื้นที่”
ดังนั้นแม้ว่าภายนอกจะดูเป็นบ้านสีดำที่ปิดทึบ แต่ภายในกลับกลายเป็นบรรยากาศที่โปร่งโล่งขนาบด้วยคอร์ตต้นไม้หน้าบ้าน แถมด้วยวิวธรรมชาติที่เขียวสดชื่นจากเหล่าไม้ใบในสวนขนาดใหญ่หลังบ้าน จึงสามารถมองเห็นแสงธรรมชาติสวยๆ แม้จะนั่งอยู่ภายใน เหมือนที่เจ้าของบ้านบอกไว้ว่า “ผมว่าบ้านสีดำให้ความรู้สึกนิ่งดีนะ และเมื่อเข้ามาภายในซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโปร่งแล้วก็ยิ่งรู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่นปลอดภัย คล้ายกับรังที่ไว้หลบหนีความวุ่นวายจากภายนอก และผมยังนึกถึงคำที่คนไทยเราใช้ว่าปลูกบ้านเหมือนปลูกต้นไม้ เพราะตอนที่เราได้เข้ามาอยู่มาเติมเต็มส่วนต่างๆ ในบ้าน ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ได้เกิดเรื่องราวความรัก มันทำให้บ้านยิ่งมีความเป็นบ้านที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับผม”
เจ้าของ : คุณปองกูล สืบซึ้ง
สถาปนิก : คุณวริศว์ สินสืบผล
มัณฑนากร : คุณปรัตถกร ประมุขกุล แห่ง Spaceman Studio
เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
xx xxxxx xxx xxx xxx xxxxxx xx xx xxxxx xxxx xxxx xxxx xxx xxxx xxxx xxxx xxx xxxxx xxx xx xxxxx xxxx xxx xxx