บ้านไทย โมเดิร์น ที่เรืองแสงได้ดั่งหิ่งห้อย - บ้านและสวน
บ้านไทย

บ้านทรอปิคัลโมเดิร์นที่เรืองแสงได้ดั่งหิ่งห้อย

“บ้านหิ่งห้อย” เป็นชื่อที่สถาปนิกตั้งให้บ้านหลังคาทรงจั่วสีขาวที่ผสมผสานความเป็นไทยและโมเดิร์นหลังนี้ ซึ่งโดดเด่นด้วยหลังคาอะลูมิเนียมเจาะรูให้โปร่ง แล้วออกแบบไฟแสงสว่างไว้ภายในหลังคาให้เรืองแสงในยามค่ำคืน แต่ภายใต้รูปทรงที่ดูเรียบง่ายนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่สอดคล้องกับภูมิอากาศเขตร้อนชื้นและความเป็นธรรมชาติซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้บ้านอยู่สบาย บ้านไทย

Designer directory : ออกแบบ EAST architect  www.eastarchitects.com  บ้านไทย

เจ้าของ คุณธนวัสส์ ยงค์สงวนชัย

จุดบรรจบของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก

เมื่อความ “ต่างขั้ว” ถูกตีความให้เป็นทั้งความย้อนแย้ง การผสมผสาน และความงาม โดยเผยตัวตนและแฝงความนัยอยู่ภายใต้บ้านรูปทรงจั่วสีขาวโมเดิร์นและไทยเดิมสองหลังที่วางแนวแกนตัดกันอยู่กลางที่ดิน โดยไม่อิงกับแนวถนนหรือแนวขอบเขตที่ดิน แต่อิงกับทิศทางแสงแดดและลมเพื่อให้บ้านอยู่สบายตามธรรมชาติ เป็นหลักการออกแบบพื้นฐานของสถาปนิกที่ให้คำจำกัดความตัวเองว่า “สถาปนิกแห่งป่าฝนร้อนชื้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิรัส พัชรเศวต และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สยาณี วิโรจน์รัตน์ แห่ง EAST architect ที่ออกแบบบ้านทรอปิคัลโมเดิร์นหลังนี้ให้เป็นจุดบรรจบของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ในมิติของภูมิปัญญาดั้งเดิมและความโมเดิร์น

บ้านไทย
ออกแบบหน้าบ้านเป็นผนังคอนกรีตเปลือยดูทึบตันสร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ด้านใน แล้วทำช่องทางเดินสำหรับเข้าบ้าน

บ้านหลังใหม่ที่แยกจากครอบครัวใหญ่

ก่อนจะสร้างบ้านนี้เจ้าของบ้านอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ เมื่อพื้นที่บ้านเดิมเริ่มไม่เพียงพอกับสมาชิก คุณแม่จึงยกที่ดิน 2 ไร่แปลงนี้สำหรับปลูกบ้านใหม่ และด้วยเจ้าของบ้านเป็นแฟนนิตยสาร บ้านและสวน จึงได้พบและชื่นชอบบ้านของอาจารย์พิรัสที่ลงในนิตยสาร อาจารย์พิรัสได้เล่าย้อนไปเมื่อเริ่มออกแบบบ้านว่า “เจ้าของบ้านได้บอกเล่าความต้องการเป็นจดหมายเล่าเรื่องว่า เมื่อเข้ามาในบ้านแล้วอยากพบเจออะไร ชอบอยู่แบบใกล้ชิดธรรมชาติ มีความโปร่งสบายเย็นโดยไม่ต้องเปิดแอร์ และชอบวัสดุธรรมชาติ อยากให้บ้านยกสูงเพราะตอนนั้นเกิดน้ำท่วมกรุงเทพ มีลูกชายและลูกสาวอายุสิบกว่าปี และอยากให้บ้านเผื่ออนาคตเมื่อลูกเติบโตด้วย เท่าที่สัมผัสเนื้อความในตอนนั้นรู้สึกถึงความชื่นชอบในวิถีชีวิตกึ่งตะวันตกและความเป็นคนละเอียดอ่อน”

บ้านไทย
โถงบันไดให้อารมณ์แบบพื้นที่กึ่งภายนอก สามารถเปิดโล่งได้รอบด้าน วางตั่งไม้ไว้ตรงกลางสำหรับนั่งพักคอยและวางของในบรรยากาศไทยๆ
บ้านไทย
ห้องอเนกประสงค์ที่ใช้เป็นห้องทำการบ้านของลูกๆ ตกแต่งด้วยไม้เป็นหลัก สร้างลูกเล่นด้วยหน้าบานตู้ไม้แบบต่างๆ บ้างทึบ บ้างฉลุลายที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย

บ้านที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศ

เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นเพียงหลังคาจั่วสีขาวลอยเด่นในแมกไม้ ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังรั้วที่ปิดมิดชิดสร้างความเป็นส่วนตัว ผู้ออกแบบให้ความสำคัญกับลำดับการเข้าถึงจากสเปซภายนอกสู่ภายในบ้าน โดยออกแบบโถงทางเข้าให้มีลักษณะคล้ายอุโมงค์เพื่อปรับเปลี่ยนความรู้สึกก่อนเข้าไปยังโลกอีกใบที่อยู่ด้านหลังอุโมงค์นี้ “หัวใจของการออกแบบสถาปัตยกรรมจะคำนึงถึงคนที่ใช้งานผสานกับวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมของคนทั่วโลกนั้นสัมพันธ์กับภูมิอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการออกแบบสถาปัตยกรรมจึงต้องเคารพฟ้าและดินเป็นสำคัญ”

ความย้อนแย้งที่ลงตัว

“สำหรับบ้านหลังนี้มีการคิดแบบย้อนแย้งแฝงอยู่ในบ้านที่จัดวางเป็นสองเรือน โดยเรือนของลูกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ออกแบบผสานด้วยอัตลักษณ์เรือนไทยเดิม ส่วนอีกเรือนซึ่งเป็นส่วนของคุณพ่อคุณแม่นั้น ออกแบบด้วยภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ มีการออกแบบหลังคาให้เรืองแสง ด้วยปรัชญาแบบโพสโมเดิร์น ที่ตัวบ้านทำหลังคาสแล็บ (Slab roof) คอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ทำแผงทรงจั่วที่ดูเหมือนเป็นหลังคา แต่ไม่ได้ทำหน้าที่หลังคาจริงๆ ครอบด้านบนอีกชั้น เป็นความตั้งใจที่อยากนำเสนอลักษณะ บ้านไทย ที่มีหลังคาทรงจั่วซึ่งหลายคนมองว่าเชย แต่ออกแบบด้วยวัสดุทันสมัย โดยใช้แผ่นอะลูมิเนียมเจาะรูที่มีความโปร่งแต่ก็แสดงรูปทรงได้ชัดเจน และซ่อนไฟส่องสว่างไว้ด้านใน ทำให้เกิดการรับรู้ใหม่ โดยตั้งชื่อว่า บ้านหิ่งห้อย”

ยื่นห้องชั้นบนออกมา 6 เมตร รองรับด้วยโครงสร้างเหล็กตัววีเพื่อให้อาคารดูเบาลอย
ทำผนังโดยรอบเป็นบานเลื่อนกระจกสูงถึงฝ้าเพดาน ซึ่งสามารถเปิดได้รอบ แม้รูปแบบอาคารจะโมเดิร์น แต่ก็เป็นสเปซแบบใต้ถุนบ้าน
เรือนด้านในออกแบบด้วยแนวคิดโมเดิร์น ชั้นล่างเป็นส่วนแพนทรี่ รับประทานอาหารและนั่งเล่น วางโต๊ะรับประทานอาหารตัวยาวที่สั่งทำพิเศษ
ชั้นบนส่วนที่ยื่นลอยเป็นห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ที่ออกแบบผนังกระจกเข้ามุมแบบไร้กรอบ ที่เปิดโล่งให้เห็นธรรมชาติโดยรอบ

สเปซสองวัฒนธรรม

เมื่อเข้ามาในบ้านส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่แบบกึ่งเปิดโล่ง (Semi-outdoor) แบบเป็นกันเอง ทั้งสเปซแบบชานและใต้ถุนของเรือนไทย แต่เมื่อไปยังอีกเรือนกลับทำผนังกระจกล้อมห้องและใช้ทางเดินเป็นเส้นตรงแจกจ่ายไปยังฟังก์ชันต่างๆ ตามวิธีการวางแปลงแบบตะวันตก ซึ่งเป็นการแฝงความย้อนแย้งของผู้ออกแบบเพื่อสื่อถึงความต่างของวัฒนธรรมที่หลอมรวมกันจนเป็นความงาม “จากการคุยกับเจ้าของบ้านมีความชอบสีขาวเป็นส่วนใหญ่ จึงนำเสนอบ้านนี้ในโทนสีขาว เรือนลูกที่มีความเป็นไทยใช้หลังคากระเบื้องเคลือบดินเผาสีขาว ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบหลัก แม้จะมีโครงเหล็กก็ใช้เทคนิคแบบโครงสร้างไม้เชิงช่างไทย มีการเชื่อมสเปซด้วยชาน ส่วนเรือนพ่อแม่จะเชื่อมต่อสเปซด้วยทางเดิน (Corridor) ซึ่งเป็นวิธีแบบโมเดิร์นดีไซน์”

บ้านไทย
ห้องนอนลูกทำฝ้าเพดานสูงตามความลาดเอียงของหลังคาจั่ว พร้อมเปิดช่องแสงด้านหน้าจั่วให้แสงธรรมชาติเข้ามา ตกแต่งผนังหัวเตียงด้วยคิ้วบัวลายตารางที่สื่อถึงลายฝาปะกนของเรือนไทย
ออกแบบเตียงขนาดยาวกว่าปกติให้เสมือนตั่งที่ใช้วางที่นอน ที่นั่งเอนหลังและหมอนสามเหลี่ยมแบบไทยๆ

ปฏิสัมพันธ์ของคนและสถาปัตยกรรม

“การที่จะทำให้เกิดความประทับใจในสเปซทางสถาปัตยกรรม ต้องทำให้คนเข้าไปสัมผัสและรับรู้ได้ จึงมีการออกแบบทางเดินให้เข้าไปเห็นมุมมองของหลังคาดินเผาที่วางเรียงกัน เห็นสเปซบ้านจากด้านบนในระยะที่ต่างกันก็ทำให้เกิดความประทับใจไม่เหมือนกัน ในเชิงจิตวิทยา มนุษย์กับสถาปัตยกรรมต้องมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา ทางสัญจร(Circulation) ก็เป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์นั้น ซึ่งเป็นทั้งฟังก์ชันและการสร้างประสบการณ์การรับรู้สเปซ และเกิดความงามในการรับรู้นั้น” บ้านไทยโมเดิร์นหลังคาจั่วหลังนี้จึงไม่ได้มีคุณค่าเพียงรูปทรงที่ปรากฏ แต่บอกเล่าแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มาจากภูมิปัญญา ธรรมชาติ และสุนทรียภาพหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

ทางเดินเข้าบ้านทำทางลาดคล้ายอุโมงค์ปิดทึบคล้ายทางเดินเข้าแกลลอรี่ เผยให้เห็นลำต้นนางกวักที่เป็นต้นไม้ประธานของบ้านที่ดูเสมือนภาพในกรอบรูป
พื้นที่ภายในบ้านประกอบด้วย 2 เรือน วางแกนตั้งฉากกัน เชื่อมกันด้วยชานและทางเดิน เรือนด้านหน้าออกแบบด้วยองค์ประกอบและสเปซแบบบ้านไทยเดิมที่มีลักษณะคล้ายใต้ถุนบ้าน
ออกแบบทางเดินยื่นลอยออกมาเพื่อการรับรู้สเปซในมุมมองต่างๆ ซึ่งเป็นทางเดินยาวจากหน้าบ้านไปหลังบ้าน จึงสามารถเดินดูบริเวณบ้านได้ทั่วจากชั้นบน

เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ ศุภกร ศรีสกุล, วศิน ภุมรินทร์

สไตล์ วรวัฒน์ ตุลยทิพย์


เรื่องที่น่าสนใจ

คืนชีวิตให้บ้านเก่ากลายเป็นบ้านไทยใต้ถุนสูงเจือกลิ่นโมเดิร์น

บ้านใต้ถุนสูง ในแบบฉบับกลิ่นอายไทยร่วมสมัย

Baan Lek Villa บ้านกึ่งโฮมสเตย์ดีไซน์ร่วมสมัยเเบบบ้านไทยใต้ถุนสูง