5 เรื่องต้องรู้ ก่อนซื้อ ปลั๊กแปลงขา
ข้อควรพิจารณาในการเลือกซื้อ ปลั๊กแปลงขา ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้งานควรเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาฝากกัน
1.หัวปลั๊กแปลง ใช้แปลงขา..ไม่ใช่แปลงแรงดันไฟฟ้า
หัวปลั๊กแปลง มีหลากหลายรูปแบบ เช่น “หัวเดียว”เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการแปลงขาปลั๊กไฟ (กลมหรือแบน) แบบใดแบบหนึ่ง หรือ “ชุดหลายหัว” ที่มีหัวปลั๊กแปลงหลายรูปแบบอยู่ในตัวเดียวกัน เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ทั้งประเทศในแถบเอเชียหรือยุโรป และพึงระลึกอยู่เสมอว่าหัวปลั๊กแปลง มีไว้เพื่อแปลงรูปแบบของขาปลั๊กเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแปลงแรงดันไฟฟ้า อย่าเข้าใจผิดเด็ดขาด!
2.วัสดุ..ต้องทนความร้อนและไม่ติดไฟง่าย
วัสดุที่ใช้ทำปลั๊กแปลงขา ควรทำจากวัสดุคุณภาพสูง มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ เช่น พลาสติก ABS หรือพอลิคาร์บอเนต (PC) ซึ่งทนความร้อนและแรงกระแทกได้ดีกว่าพลาสติก PVC ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ กรณีเกิดความร้อนสูง ขณะใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ใช้กับหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือหม้ออบลมร้อนที่กินไฟมาก
3.ขาเต้ารับ..ควรทำจากทองเหลือง/ทองแดง
ขาเต้ารับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรภายในหัวปลั๊ก ควรทำจากทองเหลืองหรือทองแดง เพราะนำไฟฟ้าได้ดีกว่าเหล็กชุบสีหรือโลหะอื่นๆ ไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสม จึงช่วยลดปัญหาปลั๊กละลายหรือไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ส่วนบ้านที่มีเด็กเล็ก อาจใช้รุ่นที่มีม่านนิรภัย (Safety Shutter) เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วมือแหย่รู
4.หัวปลั๊ก..ขากลมหรือขาแบน
หลายท่านอาจไม่ซีเรียส เพราะคิดว่าถ้าเสียบหัวปลั๊กเข้ากับเต้ารับ แล้วใช้งานได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าเสียบเต้ารับไม่แน่น อาจมีความร้อนเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกเต้าเสียบหรือหัวปลั๊กขากลมแทนขาแบน เพราะเป็นมาตรฐาน มอก. ของประเทศไทย บางรุ่นมีฉนวนหุ้มที่โคนขาปลั๊กทั้ง 2 ขา เพื่อป้องกันนิ้วไม่ให้สัมผัสขาปลั๊กโดยไม่ตั้งใจ
5.อย่างมองข้าม..ตัวเลขที่ระบุบนหัวปลั๊กแปลง
หัวปลั๊กแปลงที่ดีต้องบอกพิกัดไฟสูงสุดที่สามารถรองรับได้ เช่น 250V 10A 2000W หมายความว่า รองรับแรงดันไฟฟ้าสูงสุด 250 โวล์ต ทนกระแสไฟได้สูงสุด 10 แอมแปร์ และรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 2000 วัตต์ อาจเลือกรุ่นที่มีระบบฟิวส์ที่ช่วยตัดกระแสไฟฟ้าเกิน หรือมีสวิตช์ไฟเปิด-ปิด แสดงสถานะการทำงาน เพื่อป้องกันไฟกระชากจากการถอดหัวปลั๊กแปลงออกจากเต้ารับ นอกจากนี้หัวปลั๊กแปลงรุ่นใหม่ๆ อาจมีช่องเสียบ USB เพิ่มมา สำหรับใช้ชาร์จอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ
เรื่อง : พจน์ ผลิตภัณฑ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
ปลั๊กพ่วง ปลั๊กไฟ…เลือกอย่างไรดี