15 บ้านสวยสุดป๊อปจาก Instagram บ้านและสวน
สำหรับใครชอบดูรูป บ้านสวย หลากหลายสไตล์ ดีไซน์ที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นคันทรี โมเดิร์น ทรอปิคัล มินิมัล ลอฟต์ ที่ Instagram บ้านและสวน ได้รวบรวมงานดีไซน์เหล่านี้ไว้ในหนึ่งเดียวกัน เรียกได้ว่าถูกใจคนรักบ้านชอบแต่งบ้านอย่างแน่นอน
สำหรับปี 2020 ในหมวด บ้านสวย ที่หยิบเนื้อหาจากนิตยสารและเว็บไซต์บ้านและสวน ไปเผยแพร่ใน Instagram ซึ่งเป็นอีกช่องทางในโซเชียลมีเดียให้แฟนๆ ได้ชมแบบบ้านได้อย่างจุใจ ซึ่งตลอดทั้งปีที่ผ่านนี้ มีแบบบ้านที่ได้รับความนิยมจากแฟนๆ อยู่มากมาย แต่เรารวมรวบยอดมาให้ 15 หลังที่ผู้ชมร่วมกดไลก์ให้คะแนนความชอบ จะมีหลังไหนถูกใจกันบ้าง ไปชมพร้อมๆกันเลย
กดติดตาม IG บ้านและสวนได้ตรงนี้
คลังแบบบ้านที่เยอะที่สุดในเมืองไทย
1 | บ้านพักตากอากาศสไตล์ไทยโมเดิร์นของ ป๊อด โมเดิร์นด็อก ศิลปินคนดัง ที่ปลีกตัวมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในช่วงวันธรรมดากับคุณแม่ พร้อมทำงานศิลปะท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมชาติของเขาใหญ่ ภายในบ้านที่ออกแบบให้เปิดโล่ง สามารถรับลมได้ดี จึงอยู่อาศัยได้อย่างสบายกายและใจ
เจ้าของ: คุณธนชัย อุชชิน
สถาปนิก: Erix Design Concepts โดยคุณณัฐภาคย์ พัฒนาพรหมชัย
2 | บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่ออกแบบสถาปัตยกรรมให้อยู่กับธรรมชาติอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และนำประโยชน์จากธรรมชาติ มาเกื้อกูลต่อชีวิตที่อยู่อาศัยได้อย่างเห็นผล โดยได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญของชุมชนใกล้เคียงมาเป็นจุดเริ่มต้น เติมด้วยฟังก์ชันที่ตอบรับความต้องการของเจ้าของบ้าน และเรียกขานบ้านหลังนี้ว่า บ้านทำ-มะ-ดา
เจ้าของ : คุณสายันต์ ทิพย์แสง และคุณอารมณ์ วิรัชศิลป์
สถาปนิก : คุณประกิจ กัณหา แห่ง Studio Miti
ตกแต่งภายใน : บริษัท เอเดค อินทีเรียส์ จำกัด
3 | บ้านพื้นถิ่นอีสานร่วมสมัยที่เลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่าย ผ่านงานดีไซน์ที่ตีความจาก “วิถีความเป็นอยู่” ของผู้คนในท้องถิ่นอีสานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดเด่นคือปรับการใช้งานพื้นที่แบบใต้ถุนให้เป็นพื้นที่ผังเปิดต่อเนื่องกันระหว่างบ้านกับสวน
เจ้าของ: คุณจัตวา ชุณหบุญญทิพย์ และคุณอนุสรา แท่นพิทักษ์
ออกแบบ: S Pace Studio
4 | บ้านหลังคาจั่วทรงแคบที่สร้างตามลักษณะที่ดิน สถาปนิกเลยเลือกวางตัวอาคารติดกับกำแพงในแนวขนานกับทิศตะวันออกและตะวันตก ซึ่งด้านที่ติดกับบ้านหลังเดิมนั้นกลับเป็นด้านทิศตะวันตก กลายเป็นความท้าทายที่ต้องจัดวางพื้นที่ใช้สอยหลักของบ้านให้มีปฏิสัมพันธ์กับบ้านเดิมไปพร้อม ๆ กับแก้ปัญหาเรื่องแสงแดดในช่วงบ่ายที่มักเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในวัน
เจ้าของ : เปรมจิตร ซาเนียร์ ฟอร์เซลล่า
ออกแบบสถาปัตยกรรม : บริษัท ใจอาร์คิเทคแอนด์อินทีเรีย จำกัด
วิศวกรโครงสร้าง : นาถปรัชญ์ ปิ่นปราณี
5 | บ้านชั้นครึ่งยกพื้นสูง ตัวบ้านใช้วัสดุหลักอย่างปูนและไม้ โดยออกแบบให้มีบรรยากาศโปร่งโล่งที่สุด เพื่อให้มองออกไปเห็นทิวเขาและทุ่งนาขั้นบันได สอดรับการการออกแบบพื้นที่ภายในจากทางเข้าหลักที่ส่วนรับแขก พักผ่อน และส่วนรับประทานอาหารที่อยู่ชั้นล่าง ซึ่งเปิดมุมมองไปยังทิศตะวันตกเบื้องหน้าให้การใช้ชีวิตในบ้านได้สัมผัสกับวิวสวยๆ อย่างเต็มตา
เจ้าของ : คุณนิโคลัส-คุณเนตรภัทร เฮเกอร์
สถาปนิก : สำนักงานสถาปนิกนิวัตร ตันตยานุสรณ์ โดยคุณปวรรธน์ ตันตยานุสรณ์
6 | บ้านที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้าน ดิบเท่ชัดเจนจากของแต่งบ้าน ถ่ายทอดมาสู่รูปแบบของตัวบ้านที่ดูสอดคล้องกัน เป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นลอฟท์ที่มีกลิ่นอายของงานสถาปัตยกรรมเมืองร้อน เช่นหลังคาทรงจั่วสูง ชายคาและกันสาดที่ยื่นยาวบังแดด ฝน และความโปร่งสบายแบบไทยๆ ทําให้บ้านหลังนี้ดูทันสมัยและผ่านกาลเวลาได้โดยไม่รู้สึกน่าเบื่อ
เจ้าของ: คุณสุรัฐชัย-คุณนุตร์ เชนยะวณิช
ออกแบบ: คุณนุตร์ เชนยะวณิช และคุณจิรายุทธ ชัยจํารูญผล
7 | บ้านในสวนมะพร้าวพื้นที่พักผ่อนที่หลานชายผู้เป็นสถาปนิกสร้างให้คุณตา โดยใช้พื้นที่ร่มรื่นขนาด 100 ตารางวา กลางสวนมะพร้าวติดริมคลองหนองสลิด เป็นบ้านปูนแบบชั้นเดียว พื้นที่ใช้สอย 75 ตารางเมตร ในรูปทรงเหมือนกล่องตัวยู (U) ต่อกันทั้งหมด 4 ก้อนเชื่อมต่อกัน เปิดวิวสู่คลองซึ่งต่อเนื่องกับทางเดินไม้ แยกฟังก์ชันของพื้นที่ในบ้านไว้ฝั่งขวา ส่วนชานโล่งกึ่งกลางแจ้งไว้สำหรับรับแขกอยู่ฝั่งซ้าย ทุกห้องในบ้านเน้นให้มีช่องเปิดที่หันเข้าหามุมที่ดีที่สุดก็คือฝั่งคลอง
เจ้าของ: คุณคำนึง ยินดีสุข
ออกแบบ: คุณภุชงค์ สถิรพิพัฒน์กุล OTATO Architect
8 | บ้านโมเดิร์นหลังนี้อยู่ในทำเลที่มองเห็นทิวเขาซึ่งล้อมรอบด้วยไร่ออร์แกนิก ตัวบ้านยกใต้ถุนสูง โครงสร้างชั้นล่างเป็นปูน ชั้นสองเป็นโครงสร้างเหล็กที่เรียบง่าย ถึงแม้ว่ารูปแบบอาคารจะดูทันสมัยแต่ก็ไม่ได้แปลกแยกไปจากบริบทรอบด้านที่เป็นไร่สวนท่ามกลางธรรมชาติเลยสักนิด
เจ้าของ: คุณอมรรัตน์ จันต๊ะ
สถาปนิก: Physicalist โดยคุณกาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์
9 | บ้านไม้ที่ผ่านการออกแบบให้เหมาะกับการอยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน ผสมสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในรูปแบบเรือนปักษ์ใต้ร่วมสมัย ที่สื่อถึงความเป็นไทยและเชื่อมโยงคนสามรุ่นไว้ด้วยกัน
สถาปนิก : ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ และคุณอรวี เมธาวี
ก่อสร้าง : บุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต
เจ้าของ : ครอบครัวรอดสุด
10 | บ้านไม้ริมคลองที่สร้างบนที่ดินย่านบางขุนเทียน ริมคลองบางมดที่ยังดำรงวิถีชีวิตริมน้ำ โดยออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทย ด้วยหลักการของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยภาคกลางซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ใช้กันมาหลายร้อยปี จึงเป็นสถาปัตยกรรมที่เข้าใจเรื่องแดด ลม ฝน และสร้างสมดุลในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข นำมาต่อยอดให้เหมาะกับวัสดุสมัยใหม่ ทั้งการยกใต้ถุนสูงหนีน้ำท่วม หนีปลวก การทำหลังคาทรงสูงให้อากาศไหลเวียน ชายคายื่นยาว มีช่องหน้าต่างและช่องคอสองช่วยระบายความร้อน มีชานไว้ตากผ้า ตากปลา มีระเบียงซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งใต้ชายคาไว้นั่งเล่นรับลม และผ่อนความร้อนก่อนถึงตัวบ้าน มุงหลังคาด้วยไม้ซึ่งมีคุณสมบัติไม่อมความร้อน และมีสวนรอบบ้านช่วยสร้างร่มเงาและรักษาความชุ่มชื้นให้พื้นดินเย็นตลอดเวลา
เจ้าของ : คุณพงศกร ตุ้มปรึกษา
สถาปนิก : บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด
11 | บ้านโมเดิร์นที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นใจกลาง คอร์ตกลางบ้านถูกจัดวางลงในผังของบ้านนี้เป็นสิ่งเเรก ด้วยต้องการบ้านที่เงียบสงบ สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ มีเส้นสายที่แลดูวิจิตรแต่ถ่อมตน การลำดับพื้นที่แบบ Japanese Zen จึงถูกเลือกนำมาใช้ และต้นไม้ใหญ่สองต้นที่วางตัวเป็นประธานอยู่ในทั้งสองคอร์ตก็เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของพื้นที่เลยทีเดียว
สถาปนิก : คุณปกรณ์ อยู่ดี โดย INLY STUDIO
12 | บ้านสองชั้นที่ผสมผสานวัสดุธรรมดา ทั้งบล็อกช่องลม ไม้ ผนังปูนเปลือย หลังคากระเบื้องลอนที่เหมือนจะไม่โดดเด่นอะไร แต่เมื่อออกแบบให้อยู่ด้วยกันภายใต้สเปซที่จัดวางให้บ้านโปร่งโล่ง ระบายอากาศ ไม่ร้อน และเฟอร์นิเจอร์เก่า ทำให้โดยรวมของบ้านหลังนี้น่าอยู่น่าสัมผัสจริงๆ
เจ้าของ : คุณภาณุพงศ์–คุณบุษกร หริรักษ์
13 | จุดเด่นของบ้านนี้คือการใช้วัสดุที่มีกลิ่นอายแบบอินดัสเทรียล แต่ให้ความรู้สึกอบอุ่น เพราะมีการใช้ไม้เป็นองค์ประกอบที่ชัดเจน รวมถึงการจับคู่สีของวัสดุที่ไม่ทำให้บ้านดูเวิ้งว้าง สไตล์ของบ้านหลังนี้จึงดูเรียบง่ายแต่มีลูกเล่น ของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านบอกว่าเป็นการท้าทายตัวเองที่จะนำมาใช้อย่างไรให้สวยและเข้ากัน เพราะของบางชิ้นได้จากเอ๊าต์เล็ตบ้าง บางชิ้นก็เหลือมาจากการทำงานให้ลูกค้าบ้าง ส่วนไม้พื้นที่เป็นไม้ปาร์เกต์และไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆส่วนใหญ่เป็นไม้เต็งเก่าอายุเกินสิบปี ซึ่งซื้อต่อมาจากพี่ที่เคารพกันในราคามิตรภาพ จึงอยากใช้ให้คุ้มค่า
เจ้าของ : คุณอรรณพ สมานญาติ และคุณวรานันท์ ช่วงฉ่ำ
ออกแบบ : คุณอรรณพ สมานญาติ
14 | บ้านของ คุณหนึ่ง-ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ ที่ออกแบบบ้านให้เหมือนรีสอร์ต การใช้ชีวิตปกติในบ้านจึงกลายเป็นการออกไปเที่ยวดื่มด่ำบรรยากาศดวงอาทิตย์ตกทุกวัน เด่นด้วยมุมสวนขั้นบันไดในคอร์ตกลางบ้านที่สร้างสเปซแบบอัฒจันทร์ไม่ให้บังวิวกัน เป็นบ้านโอบล้อมด้วยธรรมชาติที่มีทั้งสวนและทะเลสาบอยู่รอบๆ
เจ้าของ: คุณณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์
ออกแบบสถาปัตยกรรม/ตกแต่งภายใน/แสงแสว่าง: WARchitect โดยคุณธาวิน หาญบุญเศรษฐ และคุณพศวัต อปริมาณ
ออกแบบสวน: บริษัทกิ่ง ก้าน ใบ จำกัด โดยคุณธวัชชัย ศักดิกุล และคุณพลอยทับทิม สุขแสง
15 | บ้านเหล็กสีดำเท่ที่ยกเอาตู้ตอนเทนเนอร์มาใช้งานเป็นศาลา และดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์ใบอื่น ๆ ให้เป็นสตูดิโอทำงานและโครงชั้นบนของบ้าน ขณะที่ต้นไม้ดั้งเดิมในพื้นที่ยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี หลอมรวมทุกอย่างทั้งสวนป่า บ้านเหล็ก และสตูดิโอเข้ามาไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
เจ้าของ: คุณอารักษ์-คุณสุรีย์พร-คุณน้องเล็ก พรประภา
ออกแบบและตกแต่งภายใน: Walllasia โดยคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์
ออกแบบและจัดทำภูมิทัศน์: Walllasia โดยคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และคุณประวิทย์ พูลกำลัง
เรื่อง JOMM YB
ภาพ คลังภาพบ้านและสวน