10 จุดการรีโนเวตบ้านที่ไม่ควรพลาด
การรีโนเวตบ้านเก่ามักไม่มีวิธีการตายตัว เพราะต้องปรับไปตามสภาพและปัญหาของบ้านแต่ละหลัง จึงต้องใช้ประสบการณ์กันพอตัว แล้วถ้าหากเราเป็นเจ้าของบ้านมือใหม่ล่ะ จะเริ่มจากตรงไหนดี?
สำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่ที่จะเริ่มรีโนเวตบ้าน ควรเริ่มจากการสำรวจบ้านเดิมว่าส่วนใดควรเก็บรักษาไว้ และ ส่วนใดควรรื้อทิ้ง จากนั้นมากำหนดขอบเขตว่าจะรีโนเวตทั้งหลัง, รีโนเวตบางส่วนแล้วจัดฟังก์ชันใหม่ หรือเพียงซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้ดีขึ้น แม้แต่ละบ้านจะมีวิธีแก้ปัญหาต่างกัน แต่ก็มี 10 จุดการรีโนเวตที่มักเจอแทบทุกบ้านที่มือใหม่ควรรู้ รีโนเวทบ้าน
1. การยกพื้นภายใน
รีโนเวทบ้าน ด้วยการยกพื้นภายในบ้านบางส่วนให้สูงขึ้นมีหลายกรณี อาจทำเพื่อต้องการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ เช่น ยกพื้นเพื่อแทนเตียงนอน หรือแก้ปัญหาการเดินท่อน้ำไว้ใต้พื้นของห้องครัว ซึ่งควรระวังเรื่องระดับฝ้าเพดานที่จะเตี้ยลง รวมถึงกระทบต่อระดับประตูหน้าต่าง บันได ปลั๊กไฟ และเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน ถ้ายกพื้นเป็นบริเวณกว้าง ไม่ควรเทพื้นคอนกรีตให้สูงขึ้นเพราะแม้สูงขึ้นเพียง 10-15 เซนติเมตร น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนอาจทำให้โครงสร้างเดิมเสียหายได้ เพราะคอนกรีต 1 ลูกบาศก์หนักประมาณ 2,400 กิโลกรัม วิธีที่ไม่ทำให้โครงสร้างเดิมรับน้ำหนักมากเกินไปคือ การทำพื้นโครงสร้างเหล็กยึดกับเสาและคานของบ้าน ปูด้วยวัสดุแผ่นพื้นอย่างแผ่น ไฟเบอร์ซีเมนต์ แล้วติตตั้งวัสดุปูพื้นระบบแห้งซึ่งมีน้ำหนักไม่มากและทำงานได้เร็ว
2. การเปลี่ยนวัสดุปูพื้น
การเปลี่ยนวัสดุปูพื้นไม่ใช่เรื่องยาก และมีวัสดุหลายชนิดที่สามารถปูทับพื้นเดิมได้โดยไม่ต้องรื้อ เช่น ไม้ลามิเนต กระเบื้องไวนิล รวมถึงกาวซีเมนต์ที่ปูกระเบื้องใหม่ทับกระเบื้องเดิมได้เลย แต่มีสิ่งที่ควรพิจารณาคือ ถ้าต้องการทำพื้นให้ระดับเท่าเดิม จำเป็นต้องรื้อวัสดุพื้นเดิมออกก่อน โดยไม่ควรใช้วัสดุปูพื้นใหม่ที่หนากว่าเดิมมากนัก เช่น ถ้าพื้นเดิมปูกระเบื้องซึ่งมีระยะการปูรวมกระเบื้องหนา 1-3 เซนติเมตร จะไม่สามารถเปลี่ยนมาปูพื้นหินซึ่งมีระยะการปูรวมหินซึ่งหนา 5-7 เซนติเมตรได้ ส่วนการปูพื้นใหม่ทับพื้นเดิมจะทำให้ระดับพื้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงต้องพิจารณาบริเวณหน้าประตูและหน้าบันได เพราะเมื่อระดับพื้นเปลี่ยนไปอาจทำให้เดินสะดุด ซึ่งอาจแก้ไขด้วยการเว้นพื้นที่หน้าประตูและหน้าบันไดให้มีระดับเท่าเดิม หรืออาจตัดความยาวประตูก็ได้
3. การเพิ่มพื้นโครงเหล็ก
หากมีโครงสร้างเดิมแล้วต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้งาน อย่างโถงโล่งของตึกแถวที่สูงถึงชั้นลอยหรือพื้นที่ใต้หลังคา สามารถทำได้ด้วยการวางตงเหล็กทุกระยะ 30-40 เซนติเมตร ยึดกับโครงสร้างอาคารเดิม แล้วปูวัสดุแผ่นพื้น เช่น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์หนา 16-18 มิลลิเมตร จากนั้นติดตั้งวัสดุปูพื้นระบบแห้ง เช่น ไม้ลามิเนต กระเบื้องไวนิล
4. การย้ายบันได
บ้านที่มีการย้ายบันไดมักมีสาเหตุจากมีการเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่ทำให้บันไดเดิมขวางพื้นที่ใช้งาน หรือมีการเปลี่ยนเส้นทางสัญจรใหม่ ซึ่งมีจุดที่ควรพิจารณาคือ บริเวณที่มีการทำบันไดใหม่ควรมีโครงสร้างคานมารับน้ำหนักแม่บันได โดยมีตัวอย่างการทำโครงสร้างรับแม่บันได เช่น การทำคานพื้นชั้นบนและคานพื้นชั้นล่างมารับแม่บันได อีกกรณีคือ ทำแม่บันไดเดี่ยวฝังในผนังแล้วยื่นขั้นบันไดออกมา และบริเวณที่มีการเจาะช่องบันไดจะต้องทุบพื้นออก จึงต้องพิจารณาประเภทของพื้นและวิธีการเสริมคานด้วย
5. การเจาะผนังเป็นช่องเปิด
- ตรวจสอบประเภทของโครงสร้างผนัง หากเป็นผนังรับน้ำหนัก เช่น ผนังคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่ ผนังหล่อสำเร็จรูปหรือที่เรียกว่าผนัง Precast และผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก ไม่ควรเจาะผนังเองเพราะทำให้ผนังเสียการรับน้ำหนัก มีผลกับโครงสร้างบ้านโดยตรง จำเป็นต้องให้วิศวกรมาตรวจสอบก่อน แต่ถ้าเป็นผนังที่ไม่รับน้ำหนัก เช่น ผนังก่ออิฐ ผนังโครงคร่าว สามารถเจาะผนังได้โดยปลอดภัย การสังเกตผนังประเภทนี้คือ จะมีโครงสร้างเสาและคานรับน้ำหนักโดยรอบผนัง
- เจาะผนังอาจเจองานระบบไฟฟ้าหรือประปาฝังอยู่ในผนัง หากมีแบบก่อสร้างบ้าน ควรตรวจสอบการเดินงานระบบเสียก่อน ไม่เช่นนั้นปัญหาอาจจะบานปลายได้
- เมื่อมีการเจาะผนังถึงพื้นหรือฝ้าเพดาน อย่าลืมว่าต้องมีการเก็บงานพื้นและฝ้าเพดานส่วนที่เคยเป็นผนังด้วย
- ผนังที่เป็นวัสดุก่ออิฐต้องทำเสาเอ็นและคานเอ็นโดยรอบ เพื่อป้องกันผนังฉีก หากเป็นผนังโครงคร่าว ต้องเสริมโครงคร่าวโดยรอบช่องเปิด
6. การเพิ่มผนังใหม่
หากเป็นผนังก่ออิฐซึ่งมีน้ำหนักมากควรทำอยู่ในแนวคานพื้นเท่านั้น แต่ถ้าต้องการกั้นผนังส่วนที่ไม่มีคานพื้นรองรับ ควรทำเป็นผนังเบาที่ใช้โครงคร่าวกรุวัสดุแผ่นซึ่งมีน้ำหนักเบา และสามารถเสริมฉนวนในช่องว่างผนังช่วยป้องกันเสียงและความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
7. การย้ายตำแหน่งปลั๊กและสวิตช์ไฟ
การเดินสายไฟสามารถเดินได้ 2 แบบ คือ การเดินสายลอยด้วยการร้อยท่อหรือติดกิ๊บ และการเดินสายร้อยท่อฝังผนัง การย้ายหรือเพิ่มปลั๊กและสวิตช์ไฟสำหรับบ้านรีโนเวต หากไม่ต้องการทำให้ผนังเดิมเสียหาย แนะนำให้เดินสายลอยแล้วจัดสายให้เป็นระเบียบจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่หากต้องการความเรียบร้อยก็สามารถเดินสายฝังผนังได้ ถ้าเป็นผนังปูนต้องสกัดผนังเป็นแนว เดินท่อไฟ แล้วค่อยฉาบปิดให้เหมือนเดิม ถ้าเป็นผนังโครงคร่าวต้องเปิดผนังออก เดินท่อไฟ แล้วค่อยปิดผนังและโป๊ยาแนว เมื่อเสร็จแล้วจำเป็นต้องทาสีใหม่ทั้งผนัง แต่ถ้าไม่อยากยุ่งกับผนังเดิม ก็สามารถออกแบบผนังตกแต่งให้อยู่ในแนวเดินสายไฟก็ทำได้เช่นกัน
8. การเปลี่ยน-รื้อประตูหน้าต่าง
การเปลี่ยนประตูหน้าต่างควรตรวจสอบระบบการติดตั้งเดิมเป็นระบบเปียกหรือระบบแห้ง หากประตูหน้าต่างเดิมเป็นอะลูมิเนียม ไวนิล และไม้เทียม มักติดตั้งด้วยระบบแห้ง สามารถถอดเปลี่ยนยกชุดทั้งวงกบได้ไม่ยาก แต่ถ้าบ้านยุคเก่าที่ใช้ประตูหน้าต่างไม้จริงติดตั้งกับผนังปูน มักติดตั้งด้วยระบบเปียก ซึ่งมีการตอกตะปูหรือยึดสกรูฝังในเสาเอ็นรอบวงกบ หากต้องการเปลี่ยนวงกบต้องสกัดปูนรอบวงกบออก ทำให้ผนังเสียหายและต้องทำเสาเอ็นรอบช่องเปิดใหม่ หลายคนจึงหลีกเลี่ยงการถอดวงกบไม้ออก ซึ่งเดี๋ยวนี้มีระบบประตูหน้าต่างที่ออกแบบมาสำหรับครอบทับวงกบไม้เดิมได้ แต่ก็มักมีข้อจำกัดเรื่องความหนาและขนาดช่องเปิดที่แคบลงกว่าเดิม
9. การปรับปรุงห้องน้ำ
ห้องน้ำถือเป็นส่วนที่ยุ่งยากที่สุดของการ รีโนเวทบ้าน เพราะมีทั้งงานระบบและความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการปรับปรุงห้องน้ำมีหลายกรณี เช่น
- การย้ายตำแหน่งหรือเปลี่ยนรุ่นอุปกรณ์ในห้องน้ำ จะต้องคำนึงเรื่องแนวท่อน้ำ จุดจ่ายน้ำดีและระบายน้ำเสียที่เหมาะสม หากไม่ต้องการรื้อเปลี่ยนผนังใหม่ทั้งผืน อาจออกแบบก่อผนังด้านล่างอีกชั้นให้เป็นแท่นวางของ แล้วเดินแนวท่อใหม่ในผนังนี้ อีกทั้งในอนาคตหากต้องซ่อมบำรุง ก็จะมีการสกัดเฉพาะผนังส่วนนี้เท่านั้น
- การย้ายตำแหน่งสุขภัณฑ์ สามารถทำได้โดยการอุดรูเดิมและอุดรอบท่อที่เจาะใหม่ ด้วยซีเมนต์ซ่อมแซมโครงสร้าง หรือ ปูนเกร้าท์ (Cement Grout) ซึ่งมีความเหลว จะสามารถไหลไปอุดโพรงได้ดี ไม่หดตัว และทาน้ำยากันซึมอีกชั้นก่อนปูกระเบื้อง
- หากต้องทำห้องน้ำบนพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ควรเปลี่ยนพื้นสำเร็จรูปช่วงนี้เป็นพื้นคอกนกรีตหล่อในที่โดยให้วิศวกรเป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง เนื่องจากไม่ควรเจาะรูที่พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป เพราะอาจทำให้เหล็กเส้นภายในแผ่นพื้นขาดซึ่งเป็นอันตรายมาก จึงไม่สามารถเจาะช่องท่อต่างๆ ได้
- การทำห้องน้ำบนโครงสร้างเหล็ก สามารถทำได้โดยต้องทำระบบกันซึมให้ดี ซึ่งระบบกันซึมมีทั้งชนิดปูและชนิดทา โดยปูหรือทาให้ขึ้นไปบนผนัง 20-30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำซึมตามขอบมุม
10. การปรับปรุงหลังคา
การปรับปรุงหลังคาอาจเพื่อความสวยงาม หรือแก้ปัญหารั่วซึม ซึ่งพอจะยกตัวอย่างเป็นกรณีได้ดังนี้
- เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาที่ไม่เปลี่ยนโครงสร้าง วัสดุมุงหลังคาใหม่ควรมีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากับวัสดุมุงหลังคาเดิม สามารถมุงในความลาดชันเดิมได้ และมีระยะแปสำหรับติดตั้งกระเบื้องมุงหลังคาเท่าเดิม ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างหลังคา เพื่อทำการซ่อมแซมก่อนมุงหลังคาใหม่
- การเปลี่ยนสีหลังคาเดิม สามารถทำได้ด้วยการทาสีสำหรับทาหลังคา โดยซ่อมแซมหลังคาส่วนที่เสียหาย และทำความสะอาดไม่ให้มีฝุ่น ตะไคร่ และสิ่งสกปรก ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สีติดทนนาน เป็นอีกวิธีในการเปลี่ยนโฉมบ้านในราคาไม่แพงมาก
- การปูวัสดุหลังคาใหม่ทับหลังคาเดิม ในกรณีที่ไม่สะดวกรื้อวัสดุมุงหลังคาเดิม เช่น ทาวน์เฮ้าส์ที่ทำหลังคายาวต่อเนื่องกัน มีความเสี่ยงในการเปลี่ยนหลังคาส่วนตรงรอยต่อระหว่างบ้าน จึงมีผู้ผลิตออกแบบวัสดุหลังคาที่ปูทับได้เลย โดยควรใช้ช่างที่ผ่านการอบรมมาโดยเฉพาะ
- เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
- ภาพประกอบ pstaryu
- ภาพปก https://unsplash.com/