“หทัยหยาดทิพย์” Bleeding Heart ดอกไม้แห่งดวงใจ
ดอกไม้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มนุษย์ใช้บอกความในใจที่มีให้แก่กันมานานหลายร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นรัก ระลึกถึง ขอบคุณ ขอโทษ ฯลฯ โดยเฉพาะความรู้สึกรักในรูปแบบต่างๆ และดอกไม้ยอดนิยมที่ครองใจผู้คนทั่วโลกเป็นอันดับหนึ่งคงจะหนีไม่พ้นดอกกุหลาบ ซึ่งมีรูปทรงดอกที่สวยงาม สีสันอ่อนหวาน ล้วนมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ทั้งสิ้น ดอกไม้รูปหัวใจ
นอกจากกุหลาบแล้วยังมีพรรณไม้อีกนับร้อยชนิดที่นิยมมอบให้กันแทนคําพูด เกิดเป็น “ข้อความจากดอกไม้”หรือ“ภาษาดอกไม้” เมื่อผู้รับทราบความหมาย(ดีๆ)ก็ยิ่งอิ่มเอิบหัวใจ แม้พรรณไม้บางชนิดไม่มีคํานิยามสื่อความหมาย แต่ลักษณะของใบ ดอก ผล กระทั่งเมล็ด ซึ่งคล้ายคลึงรูปหัวใจ ก็มักใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกได้เช่นกัน
เราขอต้อนรับเดือนแห่งความรักด้วยการแนะนําให้รู้จักพรรณไม้ที่มีดอกรูปทรงหัวใจสีชมพูเด่นสะดุดตา เรียกกันว่า ดอกหทัยหยาดทิพย์ ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bleeding Heart หรือ Asian Bleeding-heart บ้างเรียก Lyre Flower, Heart Flower และ Lady-in-a- bath เป็นหนึ่งในสมาชิกวงศ์Papaveraceae เช่นเดียวกับป็อปปี้และฝิ่นมีถิ่นกําเนิดในไซบีเรีย ญี่ปุ่น ตอนเหนือของจีน และเกาหลี ชื่อวิทยาศาสตร์ที่รู้จักกันทั่วไปคือ Dicentra spectabilis (L.) Lem. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Lamprocapnos spectabilis (L.) Fukuhara
พรรณไม้ชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี พุ่มสูงได้ถึง 120 เซนติเมตร มีเหง้าใต้ดิน ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ขอบใบเว้าหรือหยักลึกก้านใบยาว แผ่นใบสีเขียวสด ดอกออกเป็นช่อกระจะ ดอกรูปหัวใจห้อยลงตามความยาวของกิ่งก้านได้ถึง20ดอก กลีบดอกด้านนอกมีสีชมพูและขาวด้านในมีสีขาวลักษณะคล้ายหยดน้ํานูนยื่นออกมาในประเทศญี่ปุ่นออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
Bleeding Heart เป็นไม้ประดับที่ปลูกเลี้ยงง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย ระบายน้ําดี อุดมด้วยอินทรียวัตถุ ต้องการแดดรําไรถึงเต็มวัน ไม่ชอบน้ําขังแฉะ นิยมปลูกประดับสวนทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังไม่ค่อยพบปลูกกันในเมืองไทย
(อ้างอิง : Simon Maughan and Jane Courtier . Beds & Borders The Mix & Match Guide to Beautiful Planting . China : Ivy Press , 2015.)
เรื่องและภาพ : อังกาบดอย