บ้านโครงสร้างเหล็ก สไตล์โรงนาฝรั่งของสายเอ๊าต์ดอร์
บ้านโครงสร้างเหล็ก กรุผนังกระจกใสแบบเรือนกระจก ได้แรงบันดาลใจมาจากโรงนาฝรั่งหลังคาทรงจั่วผสมผสานกับบ้านแบบสแกนดิเนเวียนที่เรียบง่ายและอบอุ่น
บ้านโครงสร้างเหล็ก สไตล์โรงนาฝรั่งหลังนี้เป็นของ คุณปุ๊ – อิศเรศ จันทรวดี อดีตผู้กำกับและผลิตรายการสารคดีที่เปลี่ยนอาชีพตัวเองมาค้าขายเสื้อผ้าแนววินเทจ และปัจจุบันเลือกที่จะทำอาหารไทยโบราณแบบ Chef’s Table โดยใช้วิวริมบึงน้ำสวยๆ ที่หน้าบ้านตัวเองเป็นทำเลหลัก ส่วนชีวิตที่เว้นจากนั้นคือเข้าป่าไปกางเต็นท์และนอนฟังเสียงธรรมชาติ “ผมเลิกขายเสื้อผ้าและมาทำอาหารได้ 6 ปีแล้ว ตอนนี้เปิดร้านอยู่ 4 วัน คือวันพฤหัสถึงอาทิตย์ ที่เหลือก็จะเข้าป่าตลอด ดีว่าที่นี่อยู่ใกล้สวนผึ้งใกล้เมืองกาญจน์ก็เลยสบาย ผมชอบอยู่กับธรรมชาติในป่า เมื่อไรที่หมดพลัง มีปัญหาคิดไม่ออก ผมจะวางทุกอย่างและไปหาคำตอบในป่า รองลงมาก็คืออยู่ที่บ้านใหม่หลังนี้ อยู่ท่ามกลางข้าวของที่เรารัก เพราะทุกชิ้นมีประวัติศาสตร์ชีวิตของเราอยู่ในนั้น ตอนจะคัดทิ้งก็ทิ้งไม่ลง กลายเป็นว่าย้ายทุกอย่างจากบ้านหลังที่แล้วมาอยู่หลังนี้ด้วยกันหมดเลย”
จากบ้านหลังเดิมสู่บ้านหลังใหม่
บ้านหลังเดิมที่คุณปุ๊พูดถึงก็คือจุดเริ่มต้นของร้านขายเสื้อผ้าที่กลายเป็นร้านอาหารชื่อ The Attic Diary Café อาคารโครงเหล็กกรุกระจกโปร่งตรงชุมทางสยามยิปซี บางซ่อน ที่ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว ระหว่างที่ปิดร้านนั้นไปคุณปุ๊มีไอเดียอยากทำร้านอาหารกล่องอร่อยๆ ที่เชียงใหม่ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องโควิด – 19 จึงหยุดไว้ก่อน จนกระทั่งมีน้องสนิทผู้มีพระคุณชวนให้มาดูพื้นที่รกร้างว่างเปล่าข้างโรงงานรถยนต์ในจังหวัดนครปฐม ที่มองจากระดับสายตาตอนนั้นแล้วเห็นแค่แนวป่ากระถินณรงค์เต็มไปหมด
“ผมลองเปิดแผนที่ในกูเกิ้ลดูก็เห็นว่าที่ตรงนี้ติดน้ำด้วย เลยลองเดินลุยแนวป่าเข้ามาจนเจอบึงน้ำ เห็นแล้วก็ชอบเลย ตอนแรกคิดเล่นๆ แค่ว่าจะทำทางเดินไม้ให้มาดูวิวน้ำตรงนี้ แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นสร้างบ้านดีกว่า และหันตัวบ้านไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อเปิดวิวไว้ดูดวงอาทิตย์ตกลงตรงบึงน้ำสวยๆ นี้เลย”
ตอนแรกเขาคิดจะยกย้ายโครงสร้างเหล็กเดิมจากบางซ่อนมาตั้งไว้ที่นี่ แต่ความผุพังเสียหายที่มีมากเกินไปทำให้ต้องตัดสินใจทิ้งทั้งหมด แล้วเริ่มสร้างบ้านหลังใหม่ โดยใช้เวลาถมที่ดินชุ่มน้ำนี้ให้แน่นไว้ก่อนถึง 2 ปี แล้วจึงนำรูปแบบบ้านโรงนาฝรั่งผสมผสานบ้านแบบสแกนดิเนเวียที่ชอบมาใช้เหมือนเดิมจนดูราวกับว่าได้ย้ายบ้านหลังเดิมมาไว้จริงๆ
บ้านใหม่ในสเปซคุ้นเคย
จากทุ่งกว้างๆ กว่าร้อยไร่ คุณปุ๊เลือกสร้างบ้านบนที่ดินราว 2 ไร่ติดกับบึงน้ำ โดยลงเสาฐานด้วยปูนและต่อด้วยโครงสร้างเหล็กกรุผนังกระจกใสแบบเรือนกระจก วางแปลนฟังก์ชันของมุมใช้งานต่างๆ แบบบ้านเดิม แต่ขยายพื้นที่ให้กว้างขวางและสบายมากขึ้น วัสดุหลักๆ นอกจากเหล็ก กระจก และอิฐมวลเบา ซึ่งเป็นวัสดุพื้นฐานที่ราคาไม่แพงแล้ว ก็มีการเพิ่มไม้สนในส่วนของพื้น ผนัง และฝ้าเพดาน ด้วยความชอบส่วนตัวที่คุณปุ๊บอกว่า ไม้สนให้กลิ่นหอมและดับกลิ่นชื้นได้ดี
“ผมใช้ไม้สนมือสองจากอเมริกาและฟินแลนด์ ของอเมริกาจะมีร่องรอยตะปูเยอะหน่อย ส่วนใหญ่ก็ใช้เป็นฝ้าเพดาน ส่วนผนังห้องนอนใช้ไม้สนของฟินแลนด์ที่มีกลิ่นสดชื่นเฉพาะตัว แต่มีผนังตรงโถงที่ผมลองทาสีขาวไปเพราะอยากให้สว่างตาตอนกลางคืน ปรากฏว่าผลตอบรับดีมากครับ แมลงมากันเป็นล้าน (หัวเราะ) ส่วนที่ไม่ใช่ไม้อย่างโครงเหล็กหรือผนังอิฐมวลเบาก็ทาด้วยโทนสีเขียวตุ่นที่ผมชอบ
“แปลนในบ้านนี่เหมือนเดิมเลย เพราะฮวงจุ้ยของผมก็คือความคุ้นชินเดิมๆ เคยเข้าบ้านแล้วเดินเลี้ยวแบบไหนห้องครัว ห้องนอน อยู่มุมไหนก็มุมเดิมเลย แต่กว้างขวางขึ้น เฟอร์นิเจอร์ก็ของเดิมทั้งหมด ไม่มีซื้อเพิ่ม แค่คิดว่าจะวางตรงไหนให้ดีที่สุดในที่ที่เรามองเห็นแล้วสบายใจ ไม่ได้มีพื้นฐานการตกแต่งอะไรเลย หลายอย่างก็ยังไม่เข้าที่เข้าทาง มีของยังไม่ได้จัดแขวนอีกเยอะ เพราะยังไม่มีเวลา ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือต้นไม้ ยิ่งบ้านกระจกโปร่งๆ แบบนี้ยิ่งต้องมีต้นไม้มาช่วยเติมธรรมชาติเขียวๆ ต้องเน้นไม้ใบที่ทนๆ อย่างไทรใบสักและยางอินเดีย เวลาผมไม่อยู่นานๆ ก็จะหล่อน้ำใส่ขวดทิ้งไว้ ระหว่างที่ผมเข้าป่าไปทุกอาทิตย์”
ส่วนที่เปลี่ยนไปอีกอย่างคือหลังคาสกายไลต์ที่มีขนาดเล็กลงกว่าบ้านหลังเดิม เพราะที่นี่ไม่ได้มีทางรถไฟพาดทับหลังคาทำให้ได้แสงธรรมชาติเข้าบ้านเต็มที่จึงไม่ต้องมีสกายไลต์ขนาดใหญ่ แต่ก็ยังทำระเบียงดาดฟ้าเล็กๆ ไว้ข้างบนสำหรับไปนอนเล่นดูดาวกับน้องมาชู สุนัขพันธุ์แจ็ครัสเซลล์เทอร์เรียวัยเกือบ 2 ปี
ระเบียงไม้เต็งขนาดกว้างสำหรับจัดวางโต๊ะรับประทานอาหารให้ลูกค้าได้ชื่นชมกับบรรยากาศของบึงน้ำได้อย่างใกล้ชิด
มีความสุขกับปัจจุบัน
นอกจากผนังกรุกระจกโปร่งในฝั่งบึงน้ำแล้ว ผนังบ้านอีกด้านที่อยู่ฝั่งถนนนั้นกรุด้วยไม้ทาสีเขียว ที่มีประตูโรงรถสีเขียวโดดเด่นด้วยสัญลักษณ์นกฟีนิกซ์ตัวโตซึ่งคุณปุ๊อธิบายไว้ว่า
“ผมใช้ชีวิตแบบเริ่มใหม่มาหลายครั้ง มันเหมือนๆ กับนกฟีนิกซ์ ผมเลยออกแบบลายนกฟีนิกซ์นี้ขึ้นมาเอง เป็นสัญลักษณ์เตือนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวนกที่เหมือนนาฬิกาทรายเมื่อร่วงหล่นลงมาก็พลิกกลับไปเริ่มใหม่ ปีกสองข้างของนกก็เหมือนช่วยพยุงเวลาอีกด้านหนึ่งตกลง ส่วนหัวนกที่เป็นเหมือนอักษร A คือทำอะไรก็ตามให้ได้ดีสักเรื่องไปเลย ง่ายๆ ก็ได้ เหมือนอย่างตอนนี้ที่ผมใช้ชีวิตแต่ละวันให้สนุกและมีความสุขที่สุด ไม่ว่าจะเข้าป่าหรืออยู่ที่บ้านหลังนี้ ทำอาหารให้ลูกค้ากิน อยู่จนดึกดื่นห้าทุ่มแล้วค่อยขึ้นนอน เพราะห้องนอนมีไว้นอนอย่างเดียว เท่านี้ก็ลงตัวและสบายที่สุดแล้วครับ”
เจ้าของ-ออกแบบ : คุณอิศเรศ จันทรวดี และม.ล.นรากร วรวรรณ
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์