CHIVI HOUSE บ้านอิฐ ที่เติบโตไปพร้อมกับเรา
บ้านอิฐ หลังเล็กชานเมืองดานังของเวียดนาม ดูเป็นมิตรด้วยวัสดุธรรมชาติ ที่ตอบรับกับสภาพอากาศในเขตร้อนชื้น อีกทั้งยังทำให้บ้านเปลี่ยนแปลงและเติบโตตามกาลเวลาไปพร้อมกับผู้อยู่อาศัย
ออกแบบ: Hinz Studio, Vietnam
หากกล่าวถึงผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มาแรงในบรรดาประเทศเเถบอาเซียน “ประเทศเวียดนาม” ย่อมติด 1 ใน 3 อันดับแรกอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ การออกแบบสถาปัตยกรรมของเวียดนาม ยังมีรูปแบบและการใช้วัสดุใกล้เคียงกับบ้านเรา อาทิ บ้านอิฐ ซึ่งส่งผลมาจากปัจจัยด้านต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ ตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร
โครงการ Chivi House บ้านสองชั้นขนาดพอเหมาะ ผลงานจาก Hinz Studio สตูดิโอออกแบบสัญชาติเวียดนาม ที่มีประสบการณ์การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมด้วยอิฐมาแล้วหลายโครงการ ชื่อ Chivi House เกิดจากการรวมกันของชื่อลูกสาวทั้งสองคนของเจ้าของบ้าน (Chi และ Vi) ด้วยขนาดกะทัดรัดเพียง 137 ตารางเมตร เเละตั้งอยู่บริเวณหัวมุมของทางสามแยกพอดี ทำให้สถาปนิกเลือกดึงประโยชน์ของที่ตั้งมาใช้กับสเปซของบ้านให้ได้มากที่สุด ด้วยการวางตำแหน่งฟังก์ชันทางสัญจรอย่างบันได และห้องน้ำให้ชิดกับผนังด้านที่อยู่ติดกับที่ดินเพื่อนบ้าน โดยให้ผนังด้านนี้เป็นผนังทึบทั้งหมด
ส่วนด้านหน้าบ้านและด้านที่ติดถนนได้ออกแบบช่องเปิด และก่อผนังอิฐ ที่มีการเว้นจังหวะให้เกิดช่องลมเพื่อ ให้ลมและแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้านได้ตลอดทั้งวัน ขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นส่วนตัวให้สมาชิกในบ้านได้อย่างดีเยี่ยม นับเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องของที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในย่านพักอาศัยที่แสนสงบ และปลอดภัย ช่วยให้บ้านหลังนี้ไม่จำเป็นต้องติดเหล็กดัดองค์ประกอบที่บดบังทั้งมุมมองและทำให้บรรยากาศของบ้านดูไม่เป็นอิสระ
และด้วยความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่อยากให้บรรยากาศของบ้านเรียบง่ายที่สุด การจัดวางฟังก์ชันจึงเน้นความโปร่งโล่งของสเปซ โดยจัดในลักษณะโอเพ่นเเปลนด้วยการรวมพื้นที่ห้องนั่งเล่นห้องครัว และส่วนรับประทานอาหารให้เป็นพื้นที่เดียวกัน รวมถึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวเท่าที่จำเป็น เพื่อแบ่งฟังก์ชั่นแทนการใช้ผนัง จึงช่วยลดการบดบังสายตา ที่จะทำให้ผู้ใช้พื้นที่รู้สึกอึดอัด อีกทั้งยังต้องการให้เด็ก ๆ สามารถวิ่งเล่นในบริเวณเดียวกับที่พ่อแม่นั่งพักผ่อนอยู่ได้อย่างอิสระและรู้สึกปลอดภัย
ด้านการออกแบบสเปซภายในบ้านทางสถาปนิกเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเติบโตสำหรับลูกสาวของเจ้าของบ้านเป็นหลัก โดยเน้นการเจาะช่องแสงทั้งแนวตั้ง และช่องเปิดแนวนอน เพื่อดึงธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสเปซภายในบ้านให้มากที่สุด ทั้งแสง ลมธรรมชาติ เเละต้น ไม้ที่ขึ้นกระจายอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่เท่าที่จะทำได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ๆ
สำหรับจุดเด่นของบ้านคงหนีไม่พ้นวัสดุสำคัญอย่าง “อิฐ” ที่ทำหน้าที่ทั้งสร้างบรรยากาศและโครงสร้างให้บ้าน ภายนอกโดดเด่นด้วยผนังอิฐสูงกว่า 7 เมตร โดยผนังอิฐออกแบบให้เป็นผนังสองชั้นมีช่องอากาศอยู่ตรงกลาง (air gab) นอกจากจะเป็นฉนวนกันความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้เป็นอย่างดี ทำให้ภายในบ้านเงียบสงบเหมาะกับการพักผ่อน
การใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้จากท้องถิ่นช่วยให้บ้านหลังนี้เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมและที่ตั้ง โดยการเลือกใช้วัสดุ ที่มาจากธรรมชาติและเราสามารถส่งคืนวัสดุเหล่านั้นกลับสู่ธรรมชาติได้ในสภาพเดิมนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับงานสถาปัตยกรรมเขตร้อน
ส่วนลวดลายของผนังอิฐนั้นทางสถาปนิกมีความตั้งใจให้ผนังของบ้านมีความไม่ประณีตอยู่ในที เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับเนื้อแท้ของวัสดุอย่างอิฐปูนเปลือย ไม้ และหิน ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่จะเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เช่นเดียวกับการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลผ่านต้นไม้ ที่กำลังผลัดใบหรือสายลมที่พัดพาไอเค็มจากทะเลทางทิศตะวันออกเข้ามาสร้างความรู้สึกสดชื่น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณของการเติบโต เช่นเดียวกันกับลูกสาวทั้งสองคนที่จะเติบโตและสร้างความทรงจำไปพร้อม ๆ กับบ้านหลังนี้นั่นเอง
ภาพ: Quang Tran
ออกแบบ: Hinz Studio
เรียบเรียง: Ektida N.