Chang Green Oasis พื้นที่สีเขียวในงานบ้านและสวนแฟร์ select ที่มอบความร่มรื่น ความรื่นรมย์และความยั่งยืน
บ้านและสวนแฟร์ select สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนรักบ้านต่างมาร่วมเปิดประตูสู่งานดีไซน์ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตและความยั่งยืน ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อมและชุมชนไปพร้อมกัน
โดยเฉพาะที่โซน Chang Green Oasis พื้นที่สีเขียวบรรยากาศร่มรื่นกลางงาน ที่จัดไว้ให้ผู้คนได้มาแวะพักดื่มกาแฟ Asian Blend ล้อมวงพูดคุย ฟังดนตรีรื่นรมย์ และร่วมกิจกรรมเสวนาเรื่องการจัดการขยะอย่างยั่งยืนโดยเหล่าตัวจริง ที่ทำงานผลักดันเรื่องขยะในแวดวงต่าง ๆ ของประเทศไทย
Chang Green Oasis ออกแบบพื้นที่ทั้งโซนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่นำวัสดุเหลือใช้มา Upcycling เป็นผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ และหลังจบงาน ข้าวของเหล่านี้จะถูกนำไป Upcycling อีกครั้ง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ อีก
นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่เกิดขึ้นใน Change Green Oasis จะถูกคัดแยกอย่างถูกต้อง ทำให้สามารถส่งบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไปรีไซเคิลได้ อย่างไม่มีปัญหาการปนเปื้อนของขยะอาหาร
เราจะชวนคุณไปดู 5 ความยั่งยืนที่ Chang Green Oasis ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการจัดโซนในงานแฟร์ที่มอบทั้งความร่มรื่น ความรื่นรมย์และความยั่งยืนไปพร้อมกัน นั้นเป็นไปได้และทำได้เป็นอย่างดีด้วย
01 คัดแยก ‘ขยะ’ เพื่อไม่ให้เป็น ‘ขยะ’
โลกนี้จะไม่มีขยะเกิดขึ้น ถ้าวัสดุทุกอย่างถูกหมุนเวียนใช้ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จบ ในโซน Chang Green Oasis ถังขยะถูกจัดแบ่งไว้อย่างชัดเจนตามประเภทบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องเครื่องดื่มหรือขวดน้ำดื่ม ล้วนถูกคัดแยกอย่างดี เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม
ทุกวันนี้ขยะพลาสติกในประเทศไทยที่มีปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี ถูกรีไซเคิลไปเพียง 5 แสนตันเท่านั้น นั่นหมายความว่าขยะพลาสติกอีก 1.5 ล้านตัน จบชีวิตลงที่บ่อขยะ เน่าสลายช้า ๆ ไปพร้อมกับการสร้างก๊าซเรือนกระจก และเป็นมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเล
02 บรรจุภัณฑ์ ‘Upcycling’ ใหม่เป็นอะไรได้มากกว่าที่คิด
นอกจากเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่จากแม่แจ่ม โมเดลพลัสแล้ว เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งอีกหลายส่วนในโซน Chang Green Oasis สร้างจากของเหลือใช้ทั้ง ถัง ลังไม้และขวดแก้วที่ถูกแปลงโฉมด้วยการ Upcycling เป็นโต๊ะ เก้าอี้ และของประดับตกแต่งที่ยิ่งเสริมสร้างบรรยากาศความเป็นสวนเขียว โอเอซิสแสนร่มรื่นกลางงานบ้านและสวนแฟร์ select
03 เฟอร์นิเจอร์ ‘ไม้ไผ่’ จากแม่แจ่มโมเดลพลัส
โต๊ะและเก้าอี้ไม้ไผ่นั่งสบาย และซุ้มประดับโดยชุมชมแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทีมงานบ้านและสวนแฟร์เดินทางไปทำงานออกแบบ และศึกษาเรื่องไม้ไผ่กับชาวบ้าน เพื่อนำมาใช้ในงานครั้งนี้ รวมถึงครั้งต่อ ๆ ไป
โดยมีโจทย์สำคัญคือเฟอร์นิเจอร์ทั้งชุดและซุ้มประดับต้องสามารถถอดประกอบเป็นชิ้น ๆ เพื่อให้เหมาะกับการขนส่งทางไกลจากบนดอย และ เมื่องานบ้านและสวนแฟร์จบ สามารถนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ได้อีก ไม่ได้จบแค่ใช้งานในงานแฟร์ครั้งเดียว
ไม้ไผ่เหล่านี้ คือผลผลิตจากแม่แจ่ม โมเดลพลัส โมเดลแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดินบนดอย ซึ่งตั้งเป้าลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด คืนพื้นที่ป่าและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว จากการปลูกพืชทดแทน ซึ่งในระยะแรกจะใช้ ‘ต้นไผ่’ เป็นไม้เบิกนำ
04 ‘พรรณไม้’ ของตกแต่งมีชีวิตที่สร้างชีวิตชีวา
และสุดท้ายพืชพรรณมีชีวิต ที่ถูกนำมาประดับตกแต่งเพื่อสร้างโอเอซิสแห่งนี้ ตลอดทั้ง 5 วันของงาน พวกมันช่วยชุบชูจิตใจให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาและแวะพักผ่อน หลังจบงานพืชพรรณพวกนี้ไม่ถูกทิ้งขว้างไปอย่างไม่ใยดีแน่นอน แต่จะถูกส่งต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่ต้องการพรรณไม้ไปสร้างออกซิเจนและความเป็นพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร
จึงคงไม่มากเกินไปหากจะพูดว่าพวกมันคือ ของตกแต่งมีชีวิตที่จะช่วยสร้างชีวิตชีวาต่อไปอย่างไม่รู้จบ
05 เก็บ กลับ รีไซเคิล เพื่อความยั่งยืน
ช่วงเสวนา ‘เก็บกลับรีไซเคิล ทำยังไงให้คนไทยแยกเก่ง’ ที่ชวน 4 พาร์ทเนอร์ในการทำงานผลักดันการคัดแยกขยะมาพูดคุยกันถึงความท้าทาย ในการเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนไทยใส่ใจการคัดแยกขยะมากขึ้น
Precious Plastic Bangkok เล่าว่าพวกเขาทำงานกับโรงเรียนและชุมชน ผ่านกระบวนการเวิร์กช็อปที่ช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของเด็ก ๆ และคนในชุมชนเกี่ยวกับพลาสติก นอกจากนี้ยังมีเครื่องรีไซเคิลพลาสติกขนาดเล็ก ที่สามารถเปลี่ยนขยะในบ้านเป็นผลิตภัณฑ์แสนเก๋ได้อีกด้วย
WON อธิบายว่าพลาสติกบางประเภท อย่างถุงพลาสติกยืด พลาสติกใสห่ออาหาร และบับเบิลกันกระแทก ควรถูกลดการใช้งานลง หรือถ้าใช้ ก็ต้องใช้ซ้ำให้มากที่สุด เพราะพลาสติกประเภทนี้ แม้จะรีไซเคิลได้ แต่ก็ไม่คุ้มค่าเท่าการรีไซเคิลวัสดุประเภทอื่น
เฟรเซอร์ บางกอก อธิบายว่านอกจากความยั่งยืนพลังงาน จากนวัตกรรมอาคารประหยัดพลังงานแล้ว พวกเขายังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและพนักงานที่ทำงานอยู่ในคอมมูนิตี้เดียวกันคัดแยกขยะเช่นกัน และทุกคนก็ได้เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้ว แค่ทิ้งขยะให้ถูกถังนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย
และ ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล กำลังสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ Bringback-Recycle.com ที่จะช่วยให้การแยกขยะของทุกคนไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และยังเล่าถึง ‘เก็บ กลับ รีไซเคิล’ โปรเจกต์คัดแยกขยะในองค์กร ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาจากเหล่าพนักงาน ที่สนุกกับขับเคลื่อนการหามิติความยั่งยืนในบริบทที่ทำงานของตัวเอง