ถูกที่สุด คือ แนวคิดของ บ้านริมน้ำรีโนเวต หลังนี้ ซึ่งมาจากอู่แก๊สและสวนเกษตรเก่า

บ้านริมน้ำรีโนเวต จากอู่ติดตั้งแก๊สและสวนเกษตรเก่า ในแบบประหยัดงบ

บ้านริมน้ำรีโนเวต แห่งนี้เป็นสวนเกษตรในรุ่นอากงอาม่า ถูกปรับเปลี่ยนเป็นอู่ติดตั้งแก๊สรถยนต์ขนาดใหญ่ในรุ่นคุณพ่อ และถูกพัฒนาครั้งใหญ่กลายเป็นบ้านพักอาศัยริมแม่น้ำนครชัยศรี โครงสร้างอู่เดิม เสา พื้น หลังคา ถูกต่อเติมปรับเปลี่ยนใหม่เป็นที่อยู่อาศัย รวมทั้งเพิ่มฟังก์ชันของคาเฟ่ ร้านอาหารริมน้ำ และสถานที่จัดเวิร์คชอปสำหรับเด็ก ผสานกับสวนโดยรอบ ในชื่อน่ารักๆ ว่า Farmily โดย อาจารย์กอล์ฟ-ถวัลย์ วงษ์สวรรค์ และครอบครัว

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณถวัลย์ วงษ์สวรรค์

 

อาจารย์กอล์ฟและคุณพ่อหน้าบ้านหลังใหม่
เมื่อมองจากสะพานลงมา เราจะเห็น บ้านริมน้ำรีโนเวต หลังนี้ได้อย่างชัดเจน เป็นบรรยากาศที่น่าสบายริมน้ำนครชัยศรี
เปิดคอร์ตกลางอู่ติดตั้งแก๊สเก่า เพื่อนำแสงและความโปร่งโล่งลงมาตรงกลาง
บ้านริมน้ำรีโนเวต
ส่วนต่อเติมที่ทำเป็นคาเฟ่รองรับแขกในปัจจุบัน

นครชัยศรี ที่ดินของครอบครัว

เมื่อคุณพ่อของอาจารย์กอล์ฟได้รับที่ดินสวนเกษตรต่อมาจากอากงอาม่า และเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวติดตั้งแก๊สรถยนต์และรถขนส่งสินค้า จึงทำโรงรถขนาดใหญ่ เทพื้นปูน ทำโครงหลังคา เพื่อใช้เป็นอู่ที่จอดรถในร่ม รองรับรถขนส่งสินค้าได้พร้อมกันถึง 6 คันจำนวนสองอาคาร ขณะที่ที่ดินบางส่วนก็ยังเป็นสวนเกษตร ได้แก่ มะนาวและส้มโอ ภายหลังธุรกิจติดแก๊สเริ่มเปลี่ยนแปลงคุณพ่อจึงชักชวนอาจารย์กอล์ฟ ให้กลับมาอยู่ด้วยกันและพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำนครชัยศรีนี้อีกครั้ง ถือเป็นการเริ่มโครงการ บ้านริมน้ำรีโนเวต และกิจการ Farmily

วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุราคาไม่แพงเพื่อประหยัดงบ ทั้งอิฐช่องลม ตะแกรงเหล็กที่ใช้ทำกรง เมทัลชีท และซาแรนกันแดดการเกษตร
ห้องกิจกรรมด้านหน้า ดัดแปลงเก้าอี้จากคลินิกมาใช้งาน

เริ่มต้นจากข้อจำกัด

“ข้อดีคือพื้นที่บ้านเราอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี แต่ข้อเสียคือเราไม่ได้วางแผนการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตไว้ เพราะตอนที่คุณพ่อทำธุรกิจอู่ติดตั้งแก๊สรถยนต์ขนาดใหญ่ มันเติบโตเร็วมาก จำเป็นต้องสร้างอาคารเพื่อขยายและรองรับธุรกิจ อาจไม่ได้วางแผนไว้เพื่อการอยู่อาศัยที่มีสุนทรียภาพใดๆ และสองที่สำคัญมากคือ เราไม่มีตังค์เลย!!! (หัวเราะ) เพราะเดิมเรามีบ้านและออฟฟิศอยู่แล้ว แต่ผมกับภรรยาคุยกันว่ามันคงจะดีถ้าลูกเราได้เติบโตชานเมือง ได้เล่นดิน เล่นทราย ได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ ก็เลยกลับมาพัฒนาที่ดินดั้งเดิมของเรากัน แต่ด้วยพื้นที่และอาคารใหญ่มาก เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้ถูกที่สุด จีงเริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างอาคารริมน้ำเดิมก่อน โดยมีแนวคิดหลัก 3 ข้อคือ ถูกที่สุด ถูกที่สุด และถูกที่สุด” (หัวเราะ) อาจารย์กอล์ฟอธิบายอย่างอารมณ์ดีแต่ทั้งหมดคือความจริงที่ต้องแก้ปัญหา

พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่เสมือนเป็นระเบียงและใต้ถุน ชั้น 2 ดัดแปลงไม้อัดทาสีมาตกแต่งพื้นที่ใช้งานส่วนตัวของครอบครัว
ส่วนภายในของคาเฟ่เพื่อรองรับกิจกรรมกลุ่ม และเฟอร์นิเจอร์มือสองตามงบประมาณที่จำกัด

เนื่องจากอาจารย์กอล์ฟเป็นสถาปนิก และอาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบภายใน วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเริ่มจากการจัดวางผังใหม่ ปรับปรุงส่วนอู่รถยนต์เดิมเป็นส่วนพักอาศัย และสวนด้านข้างเป็นฟาร์มและผลไม้ แบ่งพื้นที่อาคารโรงจอดรถเดิม ชั้นล่างด้านหน้ามีส่วนออฟฟิศเล็กๆ และพื้นที่เวิร์คชอปสำหรับเด็ก ถัดเข้ามาเป็นส่วนแพนทรี่และครัวทำอาหาร ด้านติดริมแม่น้ำเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร และพื้นที่สำหรับปาร์ตี้ โดยมีคอร์ตยาร์ดปลูกต้นใหญ่กลางบ้านเชื่อมพื้นที่ทุกส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งหลังคากลางบ้านเจาะช่องแสงขนาด 6×6 เมตร แก้ปัญหามืดทึบเดิม ทำให้อาคารทึบตันที่ดูคล้ายอาคารสาธารณะมีความอบอุ่นแบบบ้านแฝงเข้ามา

คอร์ตและระเบียงบ้านชั้น 2 หลังคาปรับเป็นลอนโปร่งแสงบางส่วน

ประหยัดงบ ด้วยวัสดุอุตสาหกรรมและวัสดุการเกษตร

นับเป็นวิสัยทัศน์ของคุณพ่ออาจารย์กอล์ฟ ที่มองว่าอาจมีการพัฒนาโรงรถริมน้ำนี้ในอนาคต จึงใช้โครงสร้างอาคารขนาดใหญ่เดิมที่เป็นโรงงาน 3 ชั้น มาประกอบใหม่ ทำให้โครงสร้างมีความแข็งแรงสามารถต่อเติมปรับปรุงจากอาคารจอดรถชั้นเดียว ต่อเติมเป็นอาคาร 2 ชั้น โดยใช้โครงสร้างของเสาและคานเดิม แต่ด้วยความใหญ่ของอาคารขนาด 20×20 เมตร ซึ่งหากคิดพื้นที่ก่อสร้าง 2 ชั้น รวมกับระเบียงริมน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ก่อสร้างรวมเกือบ 1,000 ตารางเมตร เมื่อคิดเป็นงบประมาณก่อสร้างก็นับว่าสูงพอควร

อาจารย์กอล์ฟจึงเลือกใช้วัสดุทางอุตสาหกรรมและวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง ตั้งแต่โครงเหล็กที่ใช้เป็นโครงสร้างและการตกแต่ง หรือตะแกรงเหล็กธรรมดา ไปจนถึงการใช้ซาแรนหรือมุ้งเกษตร มาเป็นฝ้าเพดานบริเวณชั้น 2 แต่ก็มีเสริมไม้เข้ามาในบางส่วน เช่น การปูพื้นไม้บริเวณระเบียงชั้น 2 ที่กลายมาเป็นฝ้าเพดานของคาเฟ่ชั้นล่าง เพื่อลดทอนความแข็งของโครงสร้างเหล็ก จุดที่ช่วยประหยัดงบประมาณ อีกส่วนก็คือการใช้เฟอร์นิเจอร์มือสองของเดิม ทั้งของตัวเองและของน้องสาวซึ่งส่งต่อมาจากคลินิกทำฟัน เนื่องจากน้องสาวของอาจารย์กอล์ฟได้รีโนเวตคลินิกใหม่ แฟ้มใส่ประวัติคนไข้จึงกลายมาเป็นชั้นวางของในพื้นที่ส่วนกลาง เก้าอี้คนไข้รอตรวจกลายมาเป็นเก้าอี้รองรับกิจกรรมเวิร์คชอป นอกจากนี้ยังตระเวนซื้อของลดราคาหรือปรับเปลี่ยนของมือสองมาใช้งานใหม่ อาจไม่ถูกใจทั้งหมดแต่เป็นการแก้ปัญหาด้านงบประมาณได้อย่างพอเหมาะพอดี

เรือที่คุณพ่ออาจารย์กอล์ฟต่อใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้ในงาน บ้านริมน้ำรีโนเวต หลังนี้ 

ประยุกต์ความรู้ที่มี เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง

งานยากอีกส่วนคือการตอกตอม่อลงในแม่น้ำ สร้างเขื่อนกันตลิ่งทรุด เนื่องจากที่ดินอยู่ติดสะพานข้ามแม่น้ำ จึงทำให้เกิดกระแสน้ำวนกัดเซาะตลิ่ง จึงมีแนวคิดจะรักษาแนวที่ดินเดิมไว้ แต่เมื่อไปติดต่อบริษัทที่รับตอกเข็มในแม่น้ำแจ้งราคามาสูงมาก คุณพ่อของอาจารย์กอล์ฟ จึงต่อเรือขึ้นมาเองเพื่อใช้ในงานนี้ จากที่มีความรู้ในวิศวกรรมหลายด้าน ทั้งโครงสร้าง แก๊สรถยนต์ รวมถึงเคยทำกิจการอู่ต่อเรือที่ภูเก็ตมาก่อน คุณพ่อจึงได้ต่อเรือแบบคาตามารัน (Catamaran) ที่มีโครงกระดูกงูเรือเป็นคานคู่ เพื่อความแข็งแรงและช่วยการทรงตัว พร้อมติดเครื่องยนต์ใช้บรรทุกรถแบ็กโฮเพื่อกดเสาเข็มลงในน้ำ ซึ่งเบ็ดเสร็จแม้ค่าใช้จ่ายจะเท่ากับค่าจ้างที่บริษัทตอกเข็มเสนอมา แต่ได้เรืออีกหนึ่งลำมาใช้งานหรือขยายกิจการในอนาคตด้วย

แฟมิลี่รูมใช้เป็นห้องนั่งเล่นและมีแพนทรี่เล็กๆ ทางเดินด้านในเป็นทางไปสู่ห้องนอนและห้องทำงาน 
พื้นที่รับแขกที่นำอุปกรณ์แคมปิ้งมาใช้งานเป็นมุมหนึ่งของบ้าน

แบ่งพื้นที่อเนกประสงค์เป็นส่วนๆ

“บ้านเรามีพื้นที่ส่วนเกินกว่าการใช้งานราว 70 เปอร์เซ็นต์ คือระเบียงที่เห็น เป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์และอินดอร์ ทำให้บ้านดูโปร่งโล่ง ไม่อึดอัด ส่วนพื้นที่ติดแอร์จะเป็นส่วนอยู่อาศัยและปาร์ตี้สเปซเท่านั้น พื้นที่ชั้น 2 ด้านหน้าจะเป็นส่วนที่อยู่อาศัย ด้านข้างเป็นห้องนอนแขก 2 ห้อง อีกด้านเป็นส่วนนั่งเล่นกึ่งเอ๊าต์ดอร์จัดในรูปแบบแคมป์ ห้องแฟมิลี่รูมมีขนาด 6×5 เมตร ประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่นและกินข้าว มีแพนทรี่เล็กๆ ห้องด้านริมสุดเป็นเวิร์คกิ้งสเปซ เป็นห้องเรียนลูกและห้องสมุด ส่วนห้องนอนไม่ได้เน้นอะไร เป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3×4 เมตรตามระยะเสาโครงสร้าง” อาจารย์กอล์ฟอธิบายเพิ่มเติม

จริงๆ แล้วการใช้พื้นที่ส่วนใหญ่มักจะทำกิจกรรมภายนอกห้องมากกว่า เนื่องจากที่พักอาศัยโดยรวมมีพื้นที่เปิดโล่งมาก อากาศถ่ายเทได้สะดวกจากลมที่พัดพาความชื้นจากแม่น้ำ ในส่วนพื้นที่ริมน้ำเราเตรียมทดลองเปิดเป็นคาเฟ่และร้านอาหาร ส่วนปีกซ้ายอาคารจะเป็นห้องสำหรับทำกิจกรรมเวิร์คชอปเด็กที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สวนมะนาวของครอบครัวที่ปลูกมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ 
ครอบครัวของอาจารย์กอล์ฟ คุณแป้ง ภรรยา น้องเชอร์เบท และน้องพอล

Farmily ธุรกิจน่ารักๆ ของครอบครัว และบ้านริมน้ำรีโนเวตในวันนี้

อาจารย์กอล์ฟเล่าว่า การได้กลับมาใช้ชีวิตครอบครัวใหญ่อีกครั้ง ได้อยู่กับอากงอาม่า ลูกๆ ได้ใช้ชีวิตเรียนรู้ในธรรมชาติ บนที่ดินบรรพบุรุษเดิม ได้ปลูกผักกินเอง นี่คือคอนเซ็ปต์การใช้ชีวิตของครอบครัวของเขา และกลายเป็นที่มาของธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ที่ให้ภรรยาดูแล “Farmily” มาจากคำว่า “Farm” และ “Family” นอกเหนือจากคาเฟ่ ร้านอาหาร และพื้นที่ทำเวิร์คชอปสำหรับเด็ก เรามีแผนพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ให้กลายเป็นฟาร์มครอบครัว ปลูกผักผลไม้ไร้สารพิษไว้กินเอง ทำอาหารตามปลูก ไม่ใช่อาหารตามสั่ง เพราะปลูกอะไรก็กินอันนั้น เราจะนำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพกินกันในครอบครัว และให้คนที่มาเยี่ยมร้านเราได้รับประทานเพื่อสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ยังจะมีเวิร์คชอปประดิษฐ์ของเล่นสำหรับเด็กผู้ชาย รวมทั้งกิจกรรมทำขนมไทยอร่อยๆ และงานประดิดประดอยสำหรับเด็กผู้หญิงที่กำลังวางแผนกันอยู่

บ้านริมน้ำรีโนเวต และกิจการ Farmily กับวิถีแห่งสายน้ำที่แม่น้ำนครชัยศรี

“คำจำกัดความของที่นี่ ก็คือชื่อ Farmily นั่นเอง เราเชื่อว่าครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ได้เชื่อว่าหน้าตาของบ้านต้องมีบุคลิกเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะบ้านคือพื้นที่การอยู่อาศัยของคนในครอบครัว บ้านหลังนี้จึงเต็มไปด้วยพื้นที่ทำกิจกรรม ไม่ได้จำกัดว่าตรงนี้เป็นห้องรับแขก ห้องกินข้าว แต่มันคือพื้นที่สำหรับครอบครัวผม ครอบครัวของเพื่อนพี่น้องที่แวะเวียนมาเยี่ยมเรา” อาจารย์กอล์ฟกล่าวถึงความหมายของ บ้านริมน้ำรีโนเวต ที่อบอุ่นหลังนี้ทิ้งท้าย ในยามบ่ายคล้อยพร้อมกับ ลมจากแม่น้ำนครชัยศรีซึ่งกำลังรอต้อนรับผู้มาเยือนในอนาคต


เรื่อง: สมัชชา วิราพร

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล

สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์


ดูไอเดียต่อที่คลิกนี้ บ้านชั้นเดียวริมน้ำ

อยู่บ้านริมน้ำ ป้องกันตลิ่งถูกกัดเซาะอย่างไร

อ.กอล์ฟ พิธีกรรายการบ้านและสวน The Renovation พาไปดูบ้านริมน้ำที่หัวตะเข้