10 วิธีสร้างบ้านให้ใช้พื้นที่ได้คุ้มค่า ไม่เปลืองงบประมาณ
รวมวิธีสร้างบ้านให้ใช้พื้นที่ดินได้คุ้มค่าสูงสุด ไม่เปลืองที่ ลดงบประมาณการก่อสร้าง บ้านประหยัดงบ
เมื่อเริ่มต้นสร้างบ้าน เจ้าของบ้านส่วนใหญ่คงต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะใช้พื้นที่อย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งความคุ้มค่านี้ไม่ได้หมายถึงการสร้างให้ประหยัดที่สุดหรือมีราคาถูกที่สุด แต่คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามที่คุ้มค่ากับพื้นที่ที่มีอยู่ รวมถึงการวางแผนใช้พื้นที่ให้มีประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่ใต้บันได พื้นที่ใต้พื้นบ้าน ที่เก็บของ ก็จะไม่เปลืองงบประมาณที่ต้องมาทำเพิ่มภายหลัง มาดูกันว่า บ้านประหยัดงบ มีข้อควรพิจารณาอะไรก่อนลงมือก่อสร้างบ้าง
1. วางแผนงบประมาณก่อนสร้างบ้าน
การสร้างบ้านไม่ได้มีเฉพาะค่าก่อสร้างตัวบ้านเท่านั้น ยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายอย่างซ่อนอยู่ บางอย่างตัดได้ บางอย่างตัดไม่ได้ มาดูกันว่าเราต้องเตรียมกระเป๋าให้หนากันแค่ไหน เพื่อจะได้สร้างบ้านให้สมดุลกับงบประมาณ บ้านประหยัดง
สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน
- 66% งานก่อสร้างบ้าน (งานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม ไฟฟ้า และสุขาภิบาล)
- 22% งานตกแต่งภายใน
- 4% งานตกแต่งสวน
- 5% ค่าออกแบบสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมไฟฟ้า และสุขาภิบาล
- 2% ค่าออกแบบตกแต่งภายใน
- 0.5% ค่าออกแบบสวน
- 0.5% งานยื่นขออนุญาตสร้างอาคาร งานขอน้ำ ไฟฟ้า เลขที่บ้าน
หมายเหตุ : สัดส่วนนี้คิดจากบ้านราคา 5 ล้านบาท ตกแต่งภายใน 1.7 ล้านบาท และตกแต่งสวน 3 แสนบาท
ค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง
- ค่าถมที่ ปรับที่ดิน ในกรณีต้องปรับระดับที่ดินให้สูงขึ้น
- หน้าที่ดินไม่มีท่อระบายน้ำสาธารณะ จึงจำเป็นต้องวางท่อระบายน้ำต่อไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ
- หน้าที่ดินไม่มีเสาไฟฟ้า หรือมีเสาไฟฟ้า แต่กำลังไฟไม่เพียงพอ จำเป็นต้องขอขยายเพิ่มจากการไฟฟ้า
- ก่อนออกแบบบ้าน ควรรังวัดที่ดินจริงเพื่อตรวจสอบให้ตรงกับโฉนด โดยติดต่อสำนักงานเขตที่ดิน
- วัสดุก่อสร้างมักมีการปรับราคาอยู่เสมอ ซึ่งอาจทำให้งบประมาณบานปลาย โดยตรวจสอบได้จาก ราคากลาง
2. วางผังบริเวณบ้านอย่างไร ไม่เปลืองที่
การวางผังบริเวณบ้านเป็นการวางแผนการใช้ที่ดิน เพื่อกำหนดตำแหน่งสิ่งก่อสร้าง เส้นทางสัญจร ทางเข้าทางออก ระดับความสูงพื้นดิน การระบายน้ำ ความสัมพันธ์กับแนวเขตรอบที่ดิน การออกแบบผังบริเวณจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า โดยมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เช่น กฎหมาย ทิศทางแดดลม พื้นที่ข้างเคียง และความต้องการใช้สอยพื้นที่ของเจ้าของบ้าน มาดูกันว่าวางตำแหน่งบ้านตรงไหนให้ได้ประโยชน์ที่สุด โดยยกตัวอย่างการสร้างบ้านขนาดกลางบนที่ดินประมาณ 100 ตารางวากัน บ้านประหยัดงบ
สร้างบ้านชิดด้านไหนดีที่สุด
มีวิธีการวางตัวบ้านให้เหมาะสมกับพื้นที่อยู่หลายตัวอย่าง (ตัวอย่างนี้ไม่ใช่ข้อสรูป เนื่องจากแต่ละกรณีมีปัจจัยแตกต่างกัน) เช่น
- หากข้างบ้านเป็นตึกสูง มีความพลุกพล่าน ไม่น่ามอง แนะนำให้ทำบ้านชิดด้านนั้นและวางแปลนให้เป็นส่วนบริการ ที่จอดรถ หรือโถงบันได เพื่อบล็อกมุมมอง และสร้างความเป็นส่วนตัวให้ในบริเวณบ้าน
- วางบ้านชิดที่ดินด้านที่โดนแดดแรง คือด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ เพื่อให้เหลือที่ว่างด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือซึ่งโดนแดดน้อย แล้ววางแปลนด้านนี้เป็นส่วนพักผ่อนที่ต้องการมุมมองที่ดี
- สร้างบ้านชิดด้านหน้าบล็อกความวุ่นวายจากถนน สร้างพื้นที่เปิดโล่งและเป็นส่วนตัวไว้หลังบ้าน
- สร้างบ้านชิดด้านหลังจะเห็นตัวบ้านชัดเจน เหมาะกับบ้านที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แต่กรณีนี้จะต้องทำถนนตามเข้าไปด้วย ซึ่งต้องใช้งบประมาณและเสียพื้นที่จัดสวน
- โดนล้อมด้วยตึกหรือต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ทำได้ด้วยการสร้างขอบเขตโดยรอบ จึงนิยมสร้างบ้านเกือบทุกด้านให้ชิดขอบเขตที่ดินมากที่สุด โดยทำผนังทึบรอบบ้าน เพื่อให้เหลือพื้นที่สำหรับเปิดคอร์ตในบ้านที่เป็นส่วนตัว
- สร้างบ้านชิดด้านซ้ายหรือด้านขวา เพื่อเหลือที่ว่างอีกด้านที่เข้าถึงจากถนนหน้าบ้านได้ง่าย เหมาะกับการวางแผนต่อเติมในอนาคต
- พื้นที่ว่างที่เหลือ สิ่งที่เราต้องการจริงๆ จากการว่าจะสร้างบ้านตรงไหนคือ เราจะมีพื้นที่ว่างเหลือตรงไหน และใช้ประโยชน์จากที่ว่างได้อย่างไร เช่น ใช้ที่ว่างปลูกต้นไม้เพื่อบังแดด หรือเว้นที่ว่างไว้เผื่อการต่อขยายในอนาคต ทั้งนี้ตามกฎหมายอาคารอาศัยต้องมีพื้นที่ว่างที่ไม่มีสิ่งปกคลุมไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
สร้างบ้านชิดแนวเขตเลยได้ไหม จะได้ไม่เปลืองที่
- การสร้างชิดเขตที่ดินได้มีกรณีเดียว คือ ถ้าอาคารสูงไม่เกิน 15 เมตร เป็นผนังทึบ และเจ้าของที่ดินข้างเคียงยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
- สำหรับอาคารสูงไม่เกิน 15 เมตร ระยะห่างจากเขตที่ดินน้อยที่สุดที่สร้างได้คือ 50 เซนติเมตร โดยต้องทำเป็นผนังทึบเท่านั้น
3. ที่ดินแคบยาวควรวางผังอย่างไร
ที่ดินที่มีลักษณะแคบยาวมักมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ด้านใน และการเชื่อมต่อพื้นที่ของปลายสองด้านที่ไกลกัน หลักการแก้ไขคือ การกำหนดเส้นทางสัญจรแนวนอนให้สั้น เป็นแนวตรงเพื่อลดระยะทางการเดิม และให้ทางสัญจรแนวตั้งอยู่กลางอาคาร เพื่อเข้าถึงพื้นที่ทั้งสองด้านได้ง่ายและไม่ไกลเกินไป
เส้นทางสัญจร เช่น ทางเดิน โถงบันได ถนน เป็นพื้นที่ที่ใช้งานเป็นครั้งคราว มีทั้งส่วนที่รวมเป็นส่วนเดียวกับพื้นที่ห้อง และเป็นเส้นทางสัญจรเฉพาะ ดังนั้นหากมีการทำเส้นทางสัญจรมากก็จะสิ้นเปลืองพื้นที่ใช้งานและงบประมาณไปด้วย
4. พื้นที่ว่างริมรั้ว 0.5-1 เมตรทำอะไรดี
พื้นที่ว่างรอบบ้านตามที่กฎหมายกำหนดให้เว้นอย่างน้อย 50 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร ตามแต่ละกรณีนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ให้ช่างเข้าไปทำงานระหว่างก่อสร้างได้ ป้องกันสิ่งของตกลงไปข้างบ้าน ป้องกันการลามไฟเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เป็นช่องทางให้คนหนีเพลิงไหม้ได้ เป็นทางระบายน้ำ เป็นพื้นที่ให้เข้าไปซ่อมบำรุงอาคารได้ จึงไม่ใช่พื้นที่เปล่าประโยชน์ และเป็นเหตุผลที่ไม่ควรสร้างอะไรปิดกั้นหรือต่อเติมจนชิดรั้ว โดยเฉพาะบ้านที่เริ่มเก่ามักต้องเข้าไปซ่อมแซมกันเกือบทุกปี และก็เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้านเอง
5. ออกแบบตัวบ้านให้มีฟังก์ชัน 2 in 1
หากบ้านมีพื้นที่จำกัดหรือต้องการกระชับพื้นที่บ้าน การออกแบบตัวบ้านให้มีฟังก์ชันหลากหลาย และเป็นส่วนเดียวกับตัวบ้าน ก็จะช่วยประหยัดพื้นที่และลดงบประมาณเมื่อเทียบกับการมาทำเพิ่มเติมภายหลัง มาดูไอเดียการออกแบบฟังก์ชัน 2 in 1 กัน
- ผนังบังแดด+ที่เก็บของ ทำผนังให้เป็นตู้หรือชั้นเก็บของไปในตัว ด้วยการทำพื้นและก่อผนังยื่นออกไปตามความลึกตู้ที่ต้องการ ก็ช่วยประหยัดพื้นที่และโครงสร้างในการทำตู้ และผนังที่ยื่นยังช่วยบังแดดและลดความร้อนเข้าตัวบ้านได้ด้วย
- ราวกันตก+ที่นั่ง ทำราวกันตกพร้อมทำที่นั่งเป็นชิ้นเดียวกัน นอกจากใช้งานได้มากขึ้นยังประหยัดพื้นที่ด้วย
- พื้นยกระดับ+ที่นั่ง ทำพื้นต่างระดับ เช่น พื้นเฉลียง ให้สูง 40 – 45 เซนติเมตร ก็ใช้เป็นที่นั่งเอกเขนกได้
- ขั้นบันได+ที่เก็บของ พื้นที่ใต้ขั้นบันไดซึ่งเป็นพื้นที่ว่าง สามารถทำเป็นที่เก็บของได้ โดยไม่ต้องทำโครงสร้างใหม่
6. สร้างขนาดห้องให้พอดี ไม่เปลืองงบ
การออกแบบขนาดพื้นที่ใช้งานให้พอเหมาะกับจำนวนคนก็จะใช้พื้นที่ได้คุ้มค่า ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไปและอยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม โดยขอยกตัวอย่างการวางแปลนของห้อง 5 ห้องหลักๆ ในบ้าน
7. แก้ปัญหาบ้านเล็กไม่ให้อึดอัด
แนวทางการออกแบบบ้านขนาดเล็กให้ดูกว้างไม่อึดอัดทำได้หลายวิธี เช่น
- การออกแบบโถงโล่งแบบดับเบิลสเปซเชื่อมพื้นที่แนวตั้งระหว่างชั้น เพื่อให้ดูโล่ง เปิดให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้มากขึ้น และมีการระบายอากาศที่ดี
- ถ้าไม่สามารถทำโถงโล่งแบบดับเบิลสเปซได้ แนะนำให้เพิ่มความสูงฝ้าเพดาน โดยให้สูงอย่างน้อย 2.80 เมตร แต่ระวังอย่าให้สูงมากเกินไป เพราะจะต้องเดินขึ้นบันไดมากขึ้นเช่นกัน
- ทำช่องประตูหน้าต่างให้สูงถึงฝ้าเพดาน ช่วยให้พื้นที่มีความต่อเนื่องกัน ทั้งพื้นที่ระหว่างห้องและระหว่างภายนอกกับภายใน
8. ออกแบบใต้บันไดให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
พื้นที่ใต้บันไดของหลายบ้านอาจเสียเปล่าเพราะเข้าไปใช้งานไม่สะดวก ลองมาดูไอเดียการออกแบบบันไดให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะใต้บันไดที่ต้องการทำเป็นที่เก็บของ ควรทำลูกตั้งลูกนอนแบบทึบ ก็จะไม่ต้องเปลืองงบมาปิดทึบภายหลัง
- ชานพักของบันไดรูปตัวไอ (I) และตัวยู (U) ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงกลางบันไดเสมอไป ถ้าออกแบบชานพักในตำแหน่งที่สูงขึ้นโดยให้ท้องชานพักสูงอย่างน้อย 1.70 เมตร ก็จะได้พื้นที่ใต้บันไดที่เข้าไปใช้งานได้สะดวกโดยไม่ต้องก้ม
- ทำพื้นใต้บันไดลดระดับ 60 – 80 เซนติเมตร ให้เดินเข้าได้สะดวกก็จะใช้ประโยชน์ใต้บันไดได้มากขึ้น หากทำเป็นห้องเก็บของภายในบ้านก็ทำบันไดลงไปอีก 3-4ขั้น หรือทำเป็นห้องเก็บของนอกบ้านก็ได้ เช่น เก็บอุปกรณ์ทำสวน
9. วางแผนเผื่ออนาคต
ลองวางแผนการใช้พื้นที่บ้านและที่ดินใน 5 – 10 ปี ต่อไป เช่น การปรับเปลี่ยนฟังก์ชันของห้อง การจะมีสมาชิกเพิ่ม หรือการต่อเติมบ้าน เพื่อออกแบบบ้านและเตรียมโครงสร้างเผื่อไว้รองรับการปรับเปลี่ยน หรือใช้วัสดุที่รื้อได้ง่าย อาจวางแผนการก่อสร้างและใช้พื้นที่แบ่งเป็น 2-3 เฟส จะทำให้การออกแบบภาพรวมของบ้านอยู่ในทิศทางเดียวกัน และสามารถบริหารงบประมาณได้
10. ยกพื้นบ้านสูงเท่าไหร่ให้ได้ประโยชน์
การสร้างบ้านในเขตร้อนชื้นแนะนำให้ยกพื้นบ้านสูงจากพื้นดิน เพื่อหนีน้ำท่วม หนีสัตว์เลื้อยคลาน แต่จะยกสูงเท่าไหร่จึงคุ้มค่า เหมือนได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาแบบฟรีๆ ซึ่งพื้นที่ใต้พื้นบ้านนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เก็บอุปกรณ์ทำสวน วางปั๊มน้ำ ซ่อนคอนเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ เดินงานระบบ หรือวางถังเก็บน้ำ
- ยกพื้นสูง 40 – 50 เซนติเมตร จะประหยัดโครงสร้างที่สุด เพราะคานพื้นจะอยู่ติดดินจึงไม่ต้องทำคานคอดินหรือผนังปิดรอบฐานอาคาร เหมาะกับบ้านที่ไม่ต้องการยกพื้นสูง
- ยกพื้น 60 – 80 เซนติเมตร หากโครงสร้างคานพื้นหนา 50 เซนติเมตร จะมีช่องว่างระหว่างพื้นกับท้องคาน 10 – 30 เซนติเมตร ซึ่งไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ และหากต้องการปิดรอบฐานอาคาร ต้องทำคานคอดินหรือหล่อผนังปิดโดยรอบ จึงถือว่าเป็นการยกพื้นที่เปลืองโครงสร้าง แถมยังใช้ประโยชน์ใต้พื้นไม่ได้ด้วย
- ยกพื้น 1.20 – 1.50 เมตร เป็นความสูงที่สามารถเข้าไปใต้พื้นได้ จึงสามารถซ่อนงานระบบสุขาภิบาล ระบบปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ได้
- ยกพื้น 1.80 – 2 เมตร สามารถวางถังเก็บน้ำขนาดไม่ใหญ่ไว้ใต้พื้นบ้านได้ ทำเป็นที่เก็บของ และคนเข้าใช้พื้นที่ได้โดยไม่ต้องก้มมาก แต่การยกพื้นสูงก็ทำให้ต้องเดินขึ้นบันไดมากขึ้น
- การปรับระดับพื้นดินให้สูงไล่ระดับ เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เข้าถึงบ้านที่ยกระดับพื้นสูงได้ง่ายขึ้น
- เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
- ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
- นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ พฤษภาคม 2564 คอลัมน์ สถาปัตยกรรม