Wellness home 10 จุดอ่อนบ้าน ทำร่างพัง จิตป่วยโดยไม่รู้ตัว - บ้านและสวน

10 จุดอ่อนบ้าน ทำร่างพัง จิตป่วยโดยไม่รู้ตัว

ใครซึมเศร้า เบื่ออาหาร หน้าหมอง แสบตา เวียนหัว โดยไม่รู้สาเหตุ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็ก ให้ลองสังเกต 10 จุดในบ้านต่อไปนี้ที่อาจเป็นต้นเหตุให้ป่วยแบบเรื้อรัง ซึ่งเป็นข้อมูลดีๆจาก ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) ที่ใส่ใจสุขภาวะของการอยู่อาศัย มาสำรวจตัวเองและบ้านไปพร้อมๆกันเลย

1.สีทาบ้าน ทำให้แสบตา แสบจมูก วิงเวียน

ถ้าอยู่ในบ้านเฉยๆ ก็รู้สึกแสบตา แสบจมูก วิงเวียน บางทีอาจมีสาเหตุจากสีทาบ้านก็เป็นได้ เพราะส่วนประกอบของสีทาบ้านจะมีค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound) หรือ VOCs หากเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ระบบภูมิคุ้มบกพร่อง ระบบประสาทถูกทำลาย เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหน้ามืด แสบตา หายใจลำบาก และหากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้หมดสติ แต่ถ้าสะสมในร่างกายเป็นเวลานานจะทำให้เยื่อหุ้มปอดถูกทำลายในที่สุด wellness

การเลือกใช้สีที่ดีต่อสุขภาพ ต้องมีส่วนผสมที่ลดปริมาณสิ่งปนเปื้อนจากวัสดุประสาน (Adhesive) วัสดุยาแนว (Sealant) รองพื้น สี และวัสดุเคลือบผิวภายในอาคารที่มีกลิ่นแรง สร้างความรำคาญ และเป็นผลร้ายต่อสุขอนามัย ควรเลือกใช้วัสดุที่มีการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายต่ำ (Low-VOCs) โดยค่าของ VOCs มี 2 ระดับที่แนะนำ คือ Low VOCs = 5-50 g/l และ Zero VOCs = น้อยกว่า 5 g/l รู้แล้วอย่าลืมดูค่า VOCs ก่อนซื้อสีมาทาบ้านนะ

2.เลือกแสงไฟผิด ก็เบื่ออาหารได้

หลายคนใช้แสงสีขาว Daylight หรือแสงขาวนวล Cool White ในห้องรับประทานอาหาร ซึ่งทำให้อาหารมีสีซีดจาง ดูไม่น่ารับประทานจนเกิดอาการเบื่ออาหารได้ ดังนั้นแสงไฟของห้องรับประทานอาหาร หรือไฟแสงสว่างเหนือโต๊ะรับประทานอาหาร ควรเลือกหลอดไฟที่มีแสงสีส้ม หรือ Warm White ซึ่งมี ค่าอุณหภูมิสีของแสง (The color temperature) 3000 K หลอดชนิดนี้จะเน้นสีของอาหารให้ดูน่ารับประทาน กระตุ้นความอยากอาหารให้กับเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวของเราได้ดี

การออกแบบคุณภาพของแสงไฟที่ดี นอกจากระดับค่าอุณหภูมิสีของแสงแล้ว ยังมี ค่าดัชนีชี้วัดความถูกต้องของสี (colour rendering index) และ ค่าการกระพริบของหลอดไฟ (flicker) ซึ่งค่าดัชนีความถูกต้องของสีสูงจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของพื้นที่โดยรอบที่เราอยู่ (perception of space) ถ้าแสงที่มีค่าดัชนีความถูกต้องของสีต่ำ จะจำแนกความแตกต่างระหว่างวัตถุหรือการรับรู้ของพื้นที่โดยรอบผิดเพี้ยนไป โดยตรวจสอบค่าดัชนีความถูกต้องของสีที่หลอดไฟได้จากการดูค่า CRI ซึ่งยิ่งค่าสูงก็ยิ่งดี หลอดไฟทั่วไปจะมีค่า CRI ที่ 70-80 แต่สำหรับการออกแบบแสงที่ต้องการมาตรฐานสูง ค่า CRI ของหลอดไฟควรอยู่ที่ 95-100 หรือไม่ควรต่ำกว่า 90

3.โคมไฟตรงหัว ทำให้หัวร้อน หน้าหมองหมดสวย

หลายคนนั่งอยู่ในบ้านแต่รู้สึกร้อนหัว หรืออ่านหนังสือแล้วเกิดเงามาบัง นอกจากทำให้เสียสายตาแล้วยังดูหน้าหมองหมดสวยเพราะมีเงาตกที่หน้าตลอดอีกด้วย มีสาเหตุมาจากการติดตั้งตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานไม่เหมาะสม โดยมีข้อพิจารณาในการออกแบบตำแหน่งของโคมไฟ ดังนี้

  • ตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานต้องไม่ตรงตำแหน่งเตียง เพราะความร้อนจากโคมไฟที่ส่องตรงศีรษะ จะมีผลต่อการเจ็บป่วยได้ และเพื่อไม่ให้ทำงานบนเตียง หรือนอนอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังจากการจัดสรีระผิดปกติบ่อยๆ
  • ตำแหน่งโคมไฟฝ้าเพดานต้องไม่ตรงตำแหน่งที่นั่ง เพราะความร้อนจากโคมไฟที่ส่องตรงศีรษะ จะมีผลต่อการเจ็บป่วยและจะทำให้เกิดเงาเมื่อก้มอ่านหนังสือ และหน้าตาดูหมองไม่สวยอีกด้วย

4.แอร์เป่าลงหัว-นั่งนอนใต้แอร์ ทำให้ป่วย

หลายคนตื่นมาด้วยอาการเจ็บคอ บางคนนั่งดูทีวีในบ้านอยู่ดีๆ ก็ปวดหัวขึ้นมา อาจเกิดจากตำแหน่งเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ เนื่องจากตำแหน่งการเป่าลมเย็นมีผลต่ออุณหภูมิที่เกิดภายในห้อง ทั้งตำแหน่งการเป่าลมเย็น (Supply Air) ตลอดจนอากาศหมุนกลับ (Return Air) ที่จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม จึงได้มีข้อกำหนดเพื่อสุขภาพที่ดี และลดการเจ็บป่วย ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์บริเวณหัวเตียงหรือตำแหน่งนั่ง เนื่องจากเป็นจุด Return ของอากาศเสียภายในห้องเข้าสู่เครื่องปรับอากาศ ทำให้เราสูดอากาศไม่ดีที่สุดของห้องเข้าไป อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้
  • หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์บริเวณปลายเตียงหรือตำแหน่งนั่ง เนื่องจากเป็นจุดที่ลมเย็นเป่าเข้าสู่เตียง ทำให้เราสูดอากาศเย็นเข้าไป อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้
  • ควรติดตั้งให้ลมเย็นเป่าด้านข้างของเตียงนอน เนื่องจากจะทำให้ลมเย็นพัดผ่านตัวด้านข้าง ไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ทั้งยังบำรุงรักษาและทำความสะอาดได้สะดวก

5.พรมสะสมฝุ่น สร้างภูมิแพ้

สังเกตหรือไม่ว่าหลายคนเป็นภูมิแพ้แบบไม่รู้สาเหตุ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการปูพรมในบ้านนี่เอง การปูพรมส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยโดยตรง คือ เป็นแหล่งสะสมของฝุ่น ไรฝุ่น เชื้อรา แบคทีเรีย ทั้งยังมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือกลิ่นอับ และมีสารเคมีระเหยจากวัสดุพรมและกาวที่ใช้ติดตั้ง ซึ่งดีที่สุดคือ ไม่ต้องมีพรมในบ้าน แต่หากยังคงอยากมีพรมตกแต่งบ้านอยู่ ขอแนะนำหลักเกณฑ์ในการเลือกพรม ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองร้อนชื้น และการใช้งานแบบคนไทย wellness

  • มีคุณสมบัติต้านทานความชื้นและเชื้อรา เลือกวัสดุที่ระบายความชื้นได้เร็ว ไม่ดูดซับความชื้นเก็บไว้ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น นาโนเทคโนโลยี สามารถผลิตให้ตัววัสดุมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราและความชื้นได้
  • ใช้พรมชนิดขนสั้น ช่วยลดการสะสมฝุ่นและความชื้น และยังดูแลรักษาง่ายอีกด้วย
  • วัสดุทำพรมไม่เป็นอาหารเชื้อรา หลีกเลี่ยงพรมที่ทำจากขนสัตว์ หรือเส้นใยจากพืช เพราะเป็นแหล่งอาหารที่ดีให้กับเชื้อรา เป็นสาเหตุหลักของภูมิแพ้เลยทีเดียว ปัจจุบันมีการคิดค้นวัสดุใหม่ เช่น ใยสังเคราะห์ ใยพีวีซี ที่ผลิตและควบคุมสารต่างๆ ให้ไม่สะสมฝุ่น และไม่สะสมความชื้น

6.ปิดบ้านอับ สร้างเชื้อรา สะสมสารเคมีในบ้าน

หากพบว่ามีเชื้อราขึ้นกระเป๋า ขึ้นเสื้อผ้า หรือตามเฟอร์นิเจอร์ แถมยังมีกลิ่นอับในบ้าน สาเหตุหลักมาจากการไม่เปิดประตูหน้าต่างให้ลมพัดผ่าน เพราะอาจกลัวฝุ่น แมลง หรือรู้สึกไม่ส่วนตัว การไหลเวียนของอากาศที่ดีจะช่วยพัดพาความชื้นภายในอาคาร รวมถึงหยดน้ำที่เกิดจากการควบแน่นในส่วนต่างๆ ของผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ให้ระเหยไปได้ เมื่อลดความชื้นได้จะช่วยลดแนวโน้มการเกิดเชื้อราได้นั่นเอง

นอกจากนั้น สารเคมีที่ติดมากับเฟอร์นิเจอร์ สีทาภายในบ้าน สารเคลือบผิว รวมถึงของใช้และของตกแต่ง ล้วนมีสารเคมีติดมาด้วยทั้งนั้น หากไม่มีการหมุนเวียนอากาศออกไปบ้าง จะเกิดการสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดอาการแสบตา คัดจมูก การเปิดบ้านระบายอากาศบ้างจึงช่วยลดความเข้มข้นของสารเคมีให้เจือจางลง ลดผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาว

7.เสียงดังรบกวน จนเครียด อารมณ์เสีย

เคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า เวลาที่ได้ยินเสียงดังๆ เราจะสะดุ้ง ตกใจ และถ้าฟังเสียงดังนั้นไปนานๆ จะรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาเฉยๆ หรือทำงาน อ่านหนังสือไม่รู้เรื่องเลย นั่นเป็นเพราะเสียงมีผลต่อการรับรู้ของสมองและร่างกาย ถ้าเสียงที่ได้ยินนั้นอยู่ในช่วงที่ดีต่อการรับรู้ของสมองจะทำให้มีสมาธิและรู้สึกผ่อนคลาย แต่หากเป็นเสียงดังเกินไป หรือที่เรียกว่า “เสียงรบกวน” จะมีผลต่อความรู้สึก ระบบประสาท และสุขภาพของเราไปด้วย

บ้านของเรามีเสียงดังรบกวนมาจากอะไรบ้าง? ดูจากแหล่งที่มาของเสียงแยกได้ 2 แหล่ง คือ เสียงนอกบ้าน ทั้งเสียงรบกวนที่มาจากข้างบ้าน ถนน และเสียงในบ้านจากห้องติดกันที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ห้องดูทีวี ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ ซึ่งมีวิธีป้องกันเสียงดังรบกวน คือ

การกรองเสียง/ป้องกันเสียงจากภายนอก

  • การปลูกต้นไม้เป็นแนวเพื่อกรองเสียงรบกวนเข้ามาในบ้านได้ระดับหนึ่ง
  • ปิดรูหรือช่องที่ผนัง หลังคา และประตูหน้าต่างเพื่อกั้นเสียง
  • เลือกเปิดหน้าต่างในทิศที่ไม่มีเสียงดังรบกวน

การป้องกันเสียงจากภายในบ้าน

  • เสียงดังผ่านอากาศ ให้ปิดรู อุดช่องต่างๆ ที่ทำให้เสียงลอดเข้ามาได้ เช่น ช่องว่างใต้ประตู
  • เสียงดังผ่านผนัง พื้น เสียงแบบนี้เป็นเสียงที่ผ่านมาทางโครงสร้าง ทางที่ดีที่สุดคือ แยกห้องที่คาดว่าจะมีเสียงดังให้อยู่ห่างห้องอื่นๆ และจัดกลุ่มห้องที่ไม่ต้องการเสียงไปอยู่ด้วยกัน เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน และลดเสียงจากการกระแทกต่างๆ เพื่อไม่ให้เสียงเดินทางผ่านพื้น ผนัง เช่น การปูพรมทางเดิน

8.ทำปลั๊กไฟใกล้ที่นอน ทำลายสมอง

การวางตำแหน่งติดตั้งปลั๊กไฟ มีผลต่อสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Field: EMF) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีงานวิจัยระดับสากลพบว่า คลื่นดังกล่าวมีผลต่อสุขภาพและการทำงานของสมอง

สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Field: EMF) สามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ

  • เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ สนามแม่เหล็กโลก คลื่นรังสีจากแสงอาทิตย์ คลื่นฟ้าผ่า คลื่นรังสีแกมมา
  • เกิดขึ้นจากการสร้างของมนุษย์ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่จงใจสร้างให้เกิดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ และสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเองจากการใช้งานอุปกรณ์

จึงมีการกำหนดระยะการติดตั้งปลั๊กไฟตามระยะที่คลื่นมีอิทธิพลต่อสมอง โดยติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่อไปนี้ให้ห่างจากจุดที่เราต้องการพักผ่อนหรือหัวนอนไม่น้อยกว่าระยะที่กำหนด ดังนี้

  • 0.15 ม. – Media Players, จอคอมพิวเตอร์, ตู้เย็น
  • 0.30 ม. – พัดลม เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ เครื่องชงกาแฟ เครื่องอบผ้า เครื่องเป่าผม
  • 0.60 ม. – โทรทัศน์ ไฟส่องสว่าง เตาไฟฟ้า Hood เครื่องซักผ้า เตาอบ เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องปั่นอาหาร เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า
  • 1.20 ม. – โทรศัพท์ไร้สาย โทรศัพท์มือถือ แทปแล็ต Wi-Fi Router เตาไมโครเวฟ เครื่องล้างจาน

9.ปิดบ้านมืด เพิ่มอาการซึมเศร้า

การปิดบ้านมืดไม่ให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาบ้างนั้น เกิดผลเสียมากมาย อาจจะทำให้รู้สึกซึมลง ไม่กระปรี้กระเปร่า คิดอะไรไม่ออก นอนหลับกลางคืนไม่ดี เนื่องจากแสงธรรมชาติที่มีช่วงคลื่นแสงสีฟ้า (Blue light) เมื่อมีสัดส่วนที่เหมาะสมจะสามารถบำบัดโรคซึมเศร้าหรืออารมณ์ผันแปรตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder (SAD)

Ancoli-Israel S, 2003 พบว่า แสงธรรมชาติในตอนเช้าช่วยชะลออาการกระวนกระวายในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) สอดคล้องกับงานวิจัยของ Mishima K,1994 พบว่า แสงในช่วงเช้าสามารถบำบัดอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (Dementia) ในผู้สูงอายุ (Anne-Marie Gagné, 2011) การที่เราได้สัมผัสแสงธรรมชาติ นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการทำงาน รวมทั้งมีผลดีต่อการผ่อนคลายความเครียดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายสามารถนอนหลับตอนกลางคืนได้ดีขึ้นอีกด้วย

จากงานวิจัยยังพบว่า หากระหว่างวันไม่ได้รับแสงธรรมชาติ หรือแสง daylight (ประมาณ 5000-6500 K) จะส่งผลให้วัฏจักรนาฬิกาชีวภาพช้าลง 1.1 ชั่วโมงในทุกๆ 24 ชั่วโมง อันเนื่องมาจากการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินผิดเวลา ทำให้นอนหลับยากขึ้น นอกจากนี้ “แสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์” จะไปยับยั้ง หรือชะลอการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินด้วย

10.หันบ้านผิดทิศ ร้อนทั้งปีทั้งชาติ

คนเราจะรู้สึกสบาย หรือที่เรียกว่า “สภาวะน่าสบาย” เมื่ออุณหภูมิอากาศอยู่ที่ 22-27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 20-75%RH ซึ่งสภาพอากาศบ้านเราไม่อยู่ในช่วงดังกล่าว ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวอยู่ตลอด การออกแบบบ้านให้ถูกทิศเพื่อหลบแดด รับลมจะช่วยให้บ้านเย็นสบายขึ้นได้

ลมประจำ….พัดมาทางทิศไหน

ความจริงแล้วลมจะมาจากทุกทิศทาง แต่จะมีทิศทางที่ลมพัดประจำอยู่ 2 ช่วงของปี คือ

  • ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน ลมประจำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้
  • ช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม ลมประจำอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือ

และขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศที่บ้านเราไปตั้งอยู่ด้วย เช่น ติดภูเขา แม่น้ำ หรืออาคารสูง ซึ่งจะทำให้ทิศทางของลมเปลี่ยนไปตามการกระทบและไหลของลม

แสงแดดมาพร้อมความร้อน…จากทางทิศไหน

การขึ้น-ลงของดวงอาทิตย์มีผลต่อความร้อนโดยตรง แต่ละวันแสงแดดตอนเช้าเริ่มจากทางทิศตะวันออก อ้อมเอียงไปทางทิศใต้ (หรือเหนือ) และเอียงต่ำทางทิศตะวันตกในตอนเย็น

  • แดดอ้อมไปทางทิศเหนือ ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม (4 เดือน)
  • แดดอ้อมไปทางทิศใต้ ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน และเดือนกันยายน – ธันวาคม (8 เดือน)

การเอียงทำมุมกับอาคารนี้เองที่มีผลต่อการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน หากเราเข้าใจจะสามารถหันทิศทางอาคารในทิศที่โดนแดดน้อยได้ หรือการบังแดดในทิศที่ได้รับอิทธิพลจากแสงแดดโดยตรง

การวางอาคารให้ห้องที่ใช้ประจำหันไปทางทิศเหนือและมีพื้นที่ต่อเนื่องไปทางทิศใต้เนื่องจากทิศเหนือเป็นทิศที่มีแสงสว่างตามธรรมชาติโดยไม่มีแสงแดดเข้ามาตลอดทั้งวัน ทำให้เวลากลางวันมีแสงสว่างโดยไม่ต้องเปิดไฟ และการเปิดรับแสงธรรมชาติ สามารถลดแนวโน้มภาวะเครียด/ซึมเศร้าให้คนในบ้านได้อีกด้วย นอกจากนั้นพื้นที่ควรเชื่อมต่อไปทางทิศใต้เพื่อให้ได้รับลมประจำจากทั้ง 2 ทิศทาง (ช่วงฤดูหนาวมีลมประจำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  ช่วงฤดูร้อนมีลมประจำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้)


เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)

เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, https://unsplash.com/


ปรับบ้านรับวัยเกษียณ

เสียงไล่งู ภูมิปัญญาไทยแบบดั้งเดิม

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag